รู้จักสนามทดสอบ ฮอนด้า มูลค่า 1.7 พันล้าน

29 ก.ค. 2560 | 04:36 น.
บริษัท ฮอนด้าอาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (HRAP) ที่มีศูนย์บัญชาการในประเทศไทย เพิ่มศักยภาพงานค้นคว้าวิจัยและพัฒนา ด้วยการเปิดสนามทดสอบยานยนต์ ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ ด้วยเงินลงทุน 1.7 พันล้านบาท

โดยสนามทดสอบแห่งนี้จะเพิ่มบทบาทให้ HRAP จากเดิมแค่วางแผนผลิตภัณฑ์และการควบคุมคุณภาพ แต่จากนี้ไปจะรับผิดชอบงานด้านการวิจัยและพัฒนารถยนต์แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายแต่จำกัดโปรดักต์ในระดับ “รีจินัล โมเดล” (Regional Model) ยังไม่ได้ถึงขั้นโกลบัลโมเดล (Global Model)

“สนามทดสอบเพิ่งจะเปิดตัวและได้รับใบอนุญาต เราจะเริ่มทดสอบโมเดลในเดือนตุลาคมนี้ โดยหลักๆจะทำการทดสอบโมเดลที่ผลิตป้อนตลาดในภูมิภาคเอเชีย โอเชียเนีย และในอนาคตถึงจะขยายไปสู่โกลบัล โมเดล ซึ่งไทยเป็นประเทศที่3 ที่มีสนามทดสอบของฮอนด้า ต่อจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา” นายฮิเดโอะ โคมูระประธานบริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด กล่าว

MP36-3282-1 สำหรับสนามทดสอบจะประกอบด้วย 8 สถานี มีความยาวรวมประมาณ 8 กม.รองรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ คือ

1. สนามรูปวงรี(Oval Course) : ความยาว 2.18 กม.ใช้ทดสอบสมรรถนะของรถยนต์ในขณะขับด้วยความ เร็วสูง รวมถึงการทดสอบ อื่นๆ เช่น ระดับเสียงของลมที่เข้ามาในห้องผู้โดยสาร และการควบคุมพวงมาลัย

2. สนามทางโค้ง (Winding Course) :ความยาว 1.38 กม.ใช้ทดสอบสมรรถนะโดยทั่วไป รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพของระบบเบรก และการควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง สนามทดสอบทางโค้งนี้มีการจำลองถนนที่มีการขึ้น-ลง และถนนที่มีมุมอับสายตา รวมมีทางโค้งทั้งหมด 17 โค้ง

3. สนามทดสอบไดนามิกส์ (Vehicle Dynamics Area): เป็นสนามทดสอบที่เชื่อมต่อกับสนามทดสอบรูปวงรีใช้ทดสอบการควบ?คุมการทรงตัวของรถขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง และทดสอบประสิทธิภาพของการเบรก ขณะเข้าทางโค้งแบบหักศอก

4. สนามที่มีนํ้าท่วมขัง (Wet Course) : จำลองสภาพถนนที่เปียกและลื่น ใช้ทดสอบผลกระทบของนํ้าท่วมขังที่มีต่อสมรรถนะ?ของรถยนต์ ประกอบด้วยPool Road, Splash Road, Wet Brake Road โดยสนามนี้สามารถปรับระดับความลึกของนํ้าได้ตั้งแต่ 0-1,000 มม.เพื่อจำลองสถานการณ์นํ้าท่วม ที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยในทวีปเอเชีย โดยเป็นการทดสอบการกันนํ้าและผลกระทบต่อห้องเครื่องยนต์

5. สนามทดสอบสภาพพื้นผิวถนนในรูปแบบต่างๆ (Ride Road Course): จำลองสภาพพื้นผิวถนนของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียใช้ทดสอบสมรรถนะทั่วไปบนพื้นผิวถนนที่แตกต่างกัน โดยมีถนนลักษณะต่างๆ ถึง 8 รูปแบบ อาทิ ถนนคอนกรีต (Concrete Highway) ถนนยางมะตอยที่มีพื้นผิวชำรุด (Noise Road) และถนนลาดเอียง (Camber Road)

6. สนามที่มีพื้นผิวพิเศษ (Special Surface Courses) : ถูกสร้าง?ด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ เพื่อจำลองพื้นผิวถนนที่ขรุขระ ใช้ทดสอบความทนทานของช่วงล่างรถยนต์ โดยมีพื้นผิวถนนลักษณะต่างๆ ถึง 8 รูปแบบ อาทิถนนที่จำลองลูกระนาด (Speed Breaker) และถนนคอนกรีตที่มีพื้นผิวขรุขระ (Concrete Rough Road)

MP36-3282-2 7. สนามทางลาดชัน (Slope Course): ใช้ทดสอบความแข็งแกร่งของเครื่องยนต์ และประสิทธิภาพของระบบเบรก

8. สนามทางตรง (Straight Course): ความยาว 1.2 กม. ใช้ทดสอบอัตราการประหยัดนํ้ามัน และอัตราการเร่งความเร็วหลังจากออกตัว

ทั้งนี้ บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด เริ่มจากงานวิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์ก่อนในปี 2531 ส่วนรถยนต์เริ่มเมื่อปี 2537 ผลงานที่ผ่านมาคือ บริโอ้, บริโอ้ อเมซ, โมบิลิโอ และบีอาร์-วี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,282 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560