‘ตรัง’ขยายสนามบิน ผู้โดยสาร 3 ล้านคน/ปี-รับเที่ยวบินเหมาลำจากจีน

29 ก.ค. 2560 | 04:30 น.
ตรังเล็งขยายสนามบินใหม่ รองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคน/ปี ชี้ปลายปี บินเพิ่มเป็น 18 เที่ยว แถมบินข้ามภาคเชื่อมอุดรรองรับคน สปป.ลาว พร้อมรับเที่ยวบินเหมาลำจากเมืองใหญ่ของจีน

พ.จ.อ.เมืองชล วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ท่าอากาศยานตรัง ได้รับเงินงบประมาณแผ่นดินปี 2561 ในระยะแรก 116 ล้านบาท จากกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม เพื่อก่อสร้างขยายอาคารที่พักผู้โดยสารหลังเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่มีสภาพเก่า คับแคบแออัด มีพื้นที่ใช้สอย 3,000 ตารางเมตรเท่านั้น รองรับเครื่องบินได้ชั่วโมงละ 1 เที่ยวเท่านั้น หากเวลามาชนกันจะแออัดทันที ความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 7.5 แสนคน โดยในปี 2559 มีผู้โดยสารใช้ท่าอากาศยานตรังกว่า 6.5 แสนคน คาดว่าสิ้นปี 2560 จะมีผู้โดยสารใช้ท่าอากาศยานตรัง 8 แสนคน เนื่องด้วยสายการบินจะมีการเพิ่มเที่ยวบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในช่วงปลายปีนี้ ไทยแอร์เอเชียจะบินเพิ่มเป็น 8 เที่ยวบิน ไทยไลอ้อนแอร์ เพิ่มเป็น 6 เที่ยวบิน นกแอร์ บิน 4 เที่ยวบินเท่าเดิม

นายณัฐนนท์ โพธิเมธานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง เปิดเผยว่าสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง บริษัทประชารัฐสามัคคีจังหวัดตรัง ผู้ประกอบการเรือโดยสาร ผู้ประกอบการรีสอร์ต โรงแรม และสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ได้มาประชุมกันเมื่อเร็วๆ นี้ เรื่องที่จะนำนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเข้ามาเที่ยวจังหวัดตรัง แบบเช่าเหมาลำ เพราะไทยไลอ้อนแอร์มีเส้นทางการบินหลายเมืองในจีน การที่ทำเช่าเหมาลำนำนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวจังหวัดตรัง ที่มีความพร้อมในเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก รถ เรือโดยสาร ร้านขายของฝาก โดยจะเริ่มเที่ยวบินประมาณปลายปีนี้ อีกทั้งจะมีการเปิดเส้นทางบินข้ามภาค ตรัง-อุดรธานี เพื่อดึงนักท่องเที่ยว เพราะอุดรธานีสามารถเชื่อมโยงกับเวียงจันทน์ สปป. ลาว นอกจากนั้นผู้ที่ซื้อตั๋วเครื่องบินกับไทยไลอ้อนแอร์ สามารถเชื่อมโยงกับเกาะต่างๆ ของจังหวัดตรัง สตูล กระบี่ เพียงใบเดียว สามารถเดินทางไปเกาะลังกาวี มาเลเซีย เริ่มประมาณเดือนตุลาคม 2560 นี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกและความสะดวกสบายให้ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว

MP24-3282-4 แหล่งข่าวจากสายการบิน ไทยไลอ้อนแอร์ เปิดเผยว่า ทางสายการบินมีแผนทำการบินในช่วงหน้าหนาว เส้นทาง ดอนเมือง-ตรัง ตรัง-ดอนเมือง ไป-กลับ วันละ 6 เที่ยวบิน และมีแผนที่จะเปิดบินข้ามภาค ตรังไปภาคอีสานเช่นอุดรธานี มีกลุ่มลูกค้าจากประเทศลาวเพราะอยู่ใกล้เวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว และมีแผนให้เครื่องบินจอดค้างคืนที่ตรังเพื่อบินออกจากตรังเที่ยวบินเช้า เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัท นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะทำการบินแบบเช่าเหมาลำ เส้นทาง ตรัง-หัวเมืองของจีน เช่น กวางโจว หนานจิง หนานชาง ฉงชิ่ง เฉินตู ฉางซา ที่ไทยไลอ้อนแอร์มีสถานีการบินอยู่แล้ว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการนำนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาเที่ยวจังหวัดตรัง

“นอกจากนั้นเป็นความร่วมมือ ระหว่างผู้ประกอบรถและเรือโดยสาร คือผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วเครื่องบินกับสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ครั้งเดียว สามารถเดินทางจากดอนเมืองไปลงเกาะต่างๆ ของจังหวัดตรัง สตูล กระบี่ ได้โดยตรง เริ่มประมาณเดือนตุลาคม 2560 นี้”

จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ในปี 2561 นี้ ท่าอากาศยานตรังได้รับงบ 116 ล้านบาทก่อสร้างอาคารผู้โดยสารขาเข้าแห่งใหม่ ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 1.5 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ยังได้งบประมาณ 250 ล้านบาท ในการก่อสร้างติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย เช่นรั้วสนามบินและการติดตั้งกล้องซีซีทีวี ส่วนลานจอดรถปัจจุบันจอดได้ 200 คัน เริ่มจะแออัด ทางกรมกำลังศึกษาออกแบบลานจอดรถ หรืออาจจะสร้างอาคารจอดรถแห่งใหม่เพื่อความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้โดยสาร

MP24-3282-3 ส่วนการก่อสร้าง ระยะที่ 2 จะมีการก่อสร้างทางวิ่งหรือรันเวย์เครื่องบินไปทางทิศตะวันตก จากความยาว 2,100 เมตร ขยายออกไปอีก 400 เมตรรวมความยาว 2,500 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ รวมทั้งก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร ลานจอดรถ ซึ่งจะใช้งบ

ประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ระยะที่ 2 เมื่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่จะรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 3 ล้านคน จะเข้าแผนให้มีการแปรญัตติในปี 2562 เพื่อขอตั้งงบประมาณก่อสร้างขยายท่าอากาศยานตรัง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,282 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560