IMF เตือนส่งออกปรับตัว รับมือเศรษฐกิจสหรัฐโตลดลง

29 ก.ค. 2560 | 03:30 น.
รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับกลางปี 2560 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่ยังคงความคาดหมายเกี่ยวกับประเทศอื่นๆ ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะญี่ปุ่น ยูโรโซน และจีน ที่ถูกปรับตัวเลขสูงขึ้น

“World Economic Outlook” รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม ยังคงตัวเลขคาดการณ์เกี่ยวกับจีดีพีโลกในปีนี้ (2560) ว่าจะอยู่ที่อัตรา 3.5% และปี 2561 ที่ 3.6% เช่นเดียวกับที่เคยพยากรณ์ไว้ในรายงานฉบับเดือนเมษายน แต่ที่น่าจับตาคือการปรับลดความคาดหมายการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เดิมคาดไว้ว่าจะขยายตัวในอัตรา 2.3% กลับหลุดตํ่าลงมาอยู่ที่ 2.1% สำหรับปีนี้และปีหน้า เป็นผลจากการขยายตัวที่แผ่วเกินคาดในไตรมาสแรกของปีนี้ ประกอบกับสมมติฐานที่ว่านโยบายการคลังของสหรัฐฯจะมีการอัดฉีดเพิ่มเติมมากไปกว่าที่คาดหมายกันไว้

จีดีพีที่ตํ่ากว่าคาดในไตรมาสแรกเป็นเหตุผลเดียวกันที่ไอเอ็มเอฟปรับลดตัวเลขคาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจของอังกฤษ จากเดิมที่คาดว่าจะโต 2.0% ในปี 2560 ก็ถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.7% ขณะที่คงความคาดหมายเกี่ยวกับการขยายตัวในปีหน้า (2561) ไว้ที่อัตรา 1.5%

มัวริส อ็อบส์เฟลด์ ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของไอเอ็มเอฟ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งตํ่ากว่าเป้าหมาย 3% ของรัฐบาลสหรัฐฯเองอยู่มาก ว่ายังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าโครงการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯระบุไว้นั้นจะเริ่มขึ้นอย่างจริงจังตามที่พูดไว้เมื่อไหร่ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง มีความคาดหวังกันมาก ว่าโครงการปฏิรูปด้านต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความคาดหวังที่ว่านี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง เป็นเหตุผลให้คณะวิจัยต้องปรับลดความคาดหวังเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯลงมา

“มีความเป็นไปได้ว่า จะมีการเติบโตจากมาตรการต่างๆที่รัฐบาลสหรัฐฯวางแผนไว้ เช่น การปฏิรูปโครงสร้างภาษี ถ้าเราได้เห็นการปฏิรูปที่ว่านี้เป็นรูปธรรม จึงจะสามารถคาดการณ์ได้ดีขึ้นว่า ผลของมาตรการเหล่านี้ควรจะออกมาเป็นอย่างไร” และด้วยเหตุนี้ เขาจึงเห็นว่า เป้าหมายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ต้องการจะเห็นเศรษฐกิจเติบ?โตที่อัตรา 3% จึงเป็นเรื่องที่ “ท้าทาย” ความสามารถของรัฐบาลเป็นอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์ในยุโรป ที่แนวโน้มความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุนมีเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงทางการเมืองมีไม่มากนัก จึงเป็นปัจจัยเสริมให้เชื่อว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนจะขยายตัวมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

[caption id="attachment_184643" align="aligncenter" width="356"] IMFเตือนส่งออกปรับตัว รับมือเศรษฐกิจสหรัฐโตลดลง IMFเตือนส่งออกปรับตัว รับมือเศรษฐกิจสหรัฐโตลดลง[/caption]

“แม้ว่าพลวัตการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากฝั่งสหรัฐฯและอังกฤษจะแผ่วลง แต่สถานการณ์ดังกล่าวจะถูกชดเชยด้วยการเติบโตของจีดีพีในประเทศแถบยูโรโซน (ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร) ที่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวมากกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิม” รายงานของไอเอ็มเอฟระบุว่า ประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้นนี้ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ซึ่งล้วนมีเศรษฐกิจไตรมาสแรกโตเกินคาดจากผลพวงของอุปสงค์ภายในประเทศที่กระเตื้องขึ้น ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์เศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนในปี 2560 จะขยายตัวที่อัตรา 1.9% มากกว่าเดิมที่คาดไว้เพียง 1.7% ส่วนปีหน้า (2561) คาดว่า จีดีพีของกลุ่มยูโรโซนจะขยายตัวที่อัตรา 1.7% (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม 1.6%)

ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่ได้รับการปรับยกระดับตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยไอเอ็มเอฟปรับคาดการณ์จีดีพีของญี่ปุ่นในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 1.2% เป็น 1.3% แต่สำหรับปีหน้า ความคาดหมายไม่ดีนักและคงไว้ที่ 0.6% เช่นเดียวกับรายงานฉบับเดือนเมษายน ขณะที่จีน แนวโน้มพลวัตทางเศรษฐกิจยังมาแรง ?ไอเอ็มเอฟเชื่อว่า โมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่โตกว่าคาดหมายในไตรมาสแรกจะยังคงความแรงจึงปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์จีดีพีจีนในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 6.6% เป็น 6.7% ส่วนปีหน้าที่เดิมเคยคาดว่าจะโตในอัตรา 6.2% ถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.4% จากสัญญาณที่ว่ารัฐบาลจีนจะยังคงอัดฉีดเพิ่มการลงทุนของภาครัฐในโครงการต่างๆ เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน (จีดีพี) เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2562 (เทียบจากฐานของปี 2553)

รายงานของไอเอ็มเอฟเตือนว่า ปัจจัยต่างๆที่เป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นนั้นในภาพกว้างยังอยู่ในภาวะที่สมดุล แต่ในระยะกลางจะเข้าสู่ทิศทางลบมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและจะมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงในที่สุด โดยเฉพาะในประเทศที่มีความเปราะบางสูงในภาคการเงิน

ส่วนประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ไอเอ็มเอฟเตือนว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตํ่าลงจะส่งผลกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงแนะ?นำว่า นอกจากการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่รายได้รัฐจะลดลงแล้ว ควรเร่งกระจายแหล่งรายได้หรือหารายได้จากแหล่งใหม่ๆเข้ามาเสริมการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ พร้อมยกตัวอย่างประเทศจีน ที่สามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี รายงานของไอเอ็มเอฟยังเรียกร้องให้นานาประเทศเพิ่มความร่วมมือทางการค้า และขอให้ยืนหยัดกับหลักการของการค้าเสรีที่เปิดกว้างและเป็นธรรม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,282 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560