บลจ.กสิกรไทย เปิดตัว K-FIXEDPLUS เพิ่มโอกาสลงทุนตราสารหนี้นอก

24 ก.ค. 2560 | 05:49 น.
บลจ. กสิกรไทย ส่งกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ พลัส (K-FIXEDPLUS) เพิ่มทางเลือกใหม่สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ ชูโอกาสรับผลตอบเพิ่มขึ้น จากการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ เปิดเสนอขายครั้งแรก 25-31 ก.ค.นี้ ลงทุนขั้นต่ำ 500 บาท

58888 นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 25–31 ก.ค. 2560 บลจ.กสิกรไทย จะเปิดเสนอขายกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ พลัส (K-FIXEDPLUS) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว ซึ่งมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้น รวมถึงเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ภายในประเทศเพียงอย่างเดียว

กองทุน K-FIXEDPLUS มีนโยบายลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยจะมีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศได้ตั้งแต่ 0%-100% ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ต่ำกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ โดยจุดเด่นกองทุนอยู่ที่การกระจายไปลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ในต่างประเทศได้ จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการคัดเลือกตราสารที่ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ รวมทั้งยังเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้น หรือมีอายุเฉลี่ยของตราสาร (Duration) อยู่ที่ประมาณ 1.5 -3.0 ปี

นอกจากนี้ยังมั่นใจได้ถึงคุณภาพในการบริหารงานของกองทุน เนื่องจากทีมผู้จัดการกองทุนเป็นทีมเดียวกันกับกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ (K-FIXED) ที่ได้รับรางวัลกองทุนตราสารหนี้ยอดเยี่ยม ประเภทกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน จาก Morningstar Thailand Fund Awards 2015-2017 รวมถึงบลจ.กสิกรไทย ยังได้รับรางวัลบริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยม ประเภทตราสารหนี้ภายในประเทศ จาก Morningstar Thailand Fund Awards 2017

"กองทุน K-FIXEDPLUS ลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว จึงอาจมีความผันผวนของราคา NAV มากกว่ากองทุนในกลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้น ผู้ลงทุนจึงควรลงทุนเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป” นายชัชชัยกล่าว

สำหรับมุมมองการลงทุนในตราสารหนี้ บลจ. กสิกรไทยมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ระดับ 1.50% ไปจนถึงกลางปี 2561 เนื่องจากยังเป็นระดับที่เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ยังอ่อนตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาตราสารหนี้ไทยให้ยังอยู่ในทิศทางที่ดี ส่วนปัจจัยต่างประเทศ แม้ยังมีความไม่แน่นอนของจังหวะในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ตลาดคาดว่าอาจมีโอกาสปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในช่วงปลายปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถ้า FED ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นจริงก็ไม่น่าส่งผลกระทบต่อกระแสเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนมากนัก เนื่องจากตลาดรับรู้การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้ สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงค่าเงินบาทที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพและเศรษฐกิจไทยยังมีสถานะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยที่กล่าวมาจึงทำให้ตลาดตราสารหนี้ยังมีความน่าสนใจเข้าลงทุน