ทางออกนอกตำรา : ตุลาการภิวัฒน์ แผ้วถางทางตัน

22 ก.ค. 2560 | 08:51 น.
2546879

ทางออกนอกตำรา
โดย : บากบั่น บุญเลิศ

ตุลาการภิวัฒน์ แผ้วถางทางตัน

ทางตันทางการเมืองที่กดดันประเทศไทยจนเป๋ไปเป๋มา ยักตื้นติดกึกยักลึกติดกัก เดินไปไหนไม่ได้ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจกำลังจะมีทางออก

เป็นทางออกที่กำลังผ่าทางตันโดยกระบวนการทางศาลยุติธรรม ที่เป็นตาชั่งให้กับสังคมไทย
คดีสำคัญที่ตอกหมุดขึงพืดประเทศอยู่มายาวนานถึงตอนนี้ นับถอยหลังรอวันพิพากษามีอยู่ 3 คดี

20170630102854

1.คดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร 7 ตุลาคม 2551 ที่มี “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นจำเลย ที่มีคนบาดเจ็บล้มตายจากการใช้กำลังตำรวจสลายการชุมนุม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดวันฟังคำพิพากษา ในวันที่ 2 ส.ค.2560 นี้

mob

2.คดีระบายข้าวจีทูจีเก๊จนเสียหายร่วม 3.5 หมื่นล้านบาท ที่มี “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีต รมว.พาณิชย์ “ภูมิ สาระผล” อดีต รมช.พาณิชย์ ข้าราชการระดับสูงอีก 4 คน และบริษัทเอกชนทั้งไทย-จีน เจ้าของโรงสีที่พัวพันกับกลุ่มสยามอินดิก้าอีก 21-22 ราย เป็นจำเลยสำคัญ ศาลฯ นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค.2560

795043-01

3.คดีปล่อยปละละเลย ไม่ระงับยับยั้ง ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ เป็นจำเลย โดยมีการเรียกค่าเสียหายให้รับผิดชอบเฉพาะตัวแต่เพียงผู้เดียวในสัดส่วน 20% ของมูลค่าความเสียหาย 178,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น 35,717 ล้านบาท  มีการไต่สวนวันสุดท้าย 21 ก.ค.นี้ เส้นตายนัดฟังคำพิพากษาอีกไม่น่าจะเกิน 30 วัน

355276

ไม่ว่า ศาลฎีกาฯ จะมีคำตัดสินออกมาอย่างไร ทางตันของประเทศจะมีทางออก ถ้าหากมีคำพิพากษาออกมา “เป็นลบ”

จำเลยทั้ง 3 คดี มีสิทธิที่จะขอ “อุทธรณ์” ภายใน 1 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษา แต่อย่างน้อย

หมุดทางการเมืองที่ตอกลึกฝังรากไม่ให้ประเทศเดินไปทางไหนได้ สลัดหลุดออกมาให้เดินหน้าได้คล่องขึ้น

บรรดาผู้ที่จะดึงหมุดที่ตอกลึกมายาวนานออกมาไม่ใช่ฝ่ายการเมือง แต่เป็นองค์คณะผู้พิพากษาของศาลสถิตยุติธรรม ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แก้ปมทางการเมือง โดยอาศัยพยานหลักฐาน และกระบวนการยุติธรรม

องค์คณะผู้พิพากษาในศาลฎีกา 9 คน ที่พิจารณาพิพากษาคดี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ละเลยเพิกเฉยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ที่จะพิจารณาคดีสำคัญของประเทศประกอบด้วย

1.นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา ว่าที่ประธานศาลฎีกา ซึ่งสมัยเป็นอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาที่ทำบันทึกแย้งคำพิพากษาขององค์คณะศาลอาญาที่สั่งยกฟ้อง นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กับพวกรวม 5 คน ในคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีไม่ยอมเก็บภาษี คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่โอนหุ้น บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่า 738 ล้านบาท ให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม เมื่อปี 2540

การทำบันทึกความเห็นแย้งของอธิบดีศาลต่อองค์คณะผู้พิพากษาครั้งนั้น ถูกบันทึกไว้ในประวัติของศาล

2.นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ปัจจุบันเป็นรองประธานศาลฎีกา และเพิ่งได้รับการแต่งตั้งจาก กต.ให้เป็น ประธานศาลอุทธรณ์ คนล่าสุด แทนที่นายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ที่เพิ่งประกาศลาออกหลังไม่ได้เลือกเป็นประธานศาลฎีกา

นายธนกฤกษ์เคยเป็นองค์คณะผู้พิพากษาที่วินิจฉัยกรณี นายปุระพัฒน์ วิเศษจินดาวัฒนา ผู้สมัคร ส.ส.เขต 8 จ.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย จงใจปกปิดการยื่นเอกสารแสดงเงินกู้ 3.5 ล้านบาท เมื่อครั้งเป็น ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน เมื่อปี 2551 โดยมีคำวินิจฉัย ห้าม นายปุระพัฒน์ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาทซึ่งโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้1ปี

3.นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดี

ผู้บริโภคในศาลฎีกา ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ

ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 หลังจากมีการรัฐประหาร

ระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ตุลาการรัฐธรรมนูญ นายธานิศได้ร่วมพิจารณาพิพากษาคดียุบพรรคไทยรักไทยด้วย คดีนี้แม้ตุลาการรัฐธรรมนูญจะมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรคไทยรักไทย แต่นายธานิศเป็น 1 ใน 3 ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย ที่ไม่เห็นด้วยให้นำประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 มาย้อนหลัง

4.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา ว่าที่รองประธานศาลฎีกา

5.นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ว่าที่รองประธานศาลฎีกา เคยพิพากษาให้ยึดทรัพย์ของนางสาวนฤมลหรือนายณัฐกมล หรือ อินทร์ริตา นนทะโชติ อดีตข้าราชการการเมืองตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 68.1 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.57

โดย นางสาวนฤมล เป็นบุตรสาวของ พล.อ.สัมฤทธิ์ นนทะโชติ อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24 จ.อุดรธานี เป็นคนสนิทของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ

6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา

7.นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา ว่าที่รองประธานศาลฎีกา

8.นายโสภณ โรจน์อนนท์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ว่าที่รองประธานศาลฎีกา

9.นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนฯ ว่าที่ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ

นี่คือ 9 คนที่จะเปลี่ยนหมุดประเทศไทย 3 ใน 9 เป็นผู้พิพากษาที่เคยตัดสินคดีทักษิณ ชินวัตรมาแล้ว และ 5 ใน 9 คน เป็นผู้ตัดสินในคดีจีทูจีเก๊ของบุญทรง และ 4 ใน 9 คือผู้ตัดสินคดีนายกฯ สมชาย

ทางออกประเทศอยู่ในคำพิพากษาแน่นอน..

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา/ หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ /  ฉบับ 3281 ระหว่างวันที่ 23-26 ก.ค.2560

E-BOOK แดง