ลุ้นส่งออกดันแบงก์ฟื้น ไตรมาส 2 กำไรหด สวนทางหนี้เสียพุ่ง

25 ก.ค. 2560 | 00:03 น.
แบงก์กำไรไตรมาส 2 หด 9% แตะ 4.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่เอ็นพีแอลพุ่งสวนทาง 9.35% สะท้อนคุณภาพลูกหนี้แย่ แห่สำรอง เพิ่มประเมินแนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังฟื้น ตามสินเชื่อรายใหญ่ ที่เห็นสัญญาณขยายตัวแรงจากกลุ่มส่งออก

ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบรายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปี 2560 สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2560 พบว่า มีกำไรสุทธิ 45,706 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 50,330 ล้านบาท หรือ 9.2%

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กำไรขยายตัวสูงสุด 815% หรือจาก 39 ล้านบาท มาที่ 357 ล้านบาท ตามมาด้วยด้วยธนาคารทิสโก้ โชว์กำไรเพิ่มขึ้น 24.58% มาที่ 1,505 ล้านบาท ธนาคารธนชาต กำไรสุทธิ 1,675 ล้านบาท ขยายตัว 14.25% และธนาคารกรุงเทพ กำไรเพิ่มขึ้น 12% มาที่ 8,047 ล้านบาท

ด้านธนาคารกรุงไทยกำไรลดลงถึง 62% มาที่ 3,222 ล้านบาท เนื่องจากต้องสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 13,900 ล้านบาท เพราะลูกหนี้เหมืองแร่ และ โรงสี ผิดนัดชำระหนี้ แอลเอชแบงก์กำไรลดลง 23% ธนาคารไทยพาณิชย์ ลดลง 7% และธนาคารกสิกรไทยลดลง 4.6%

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังกันสำรองของธนาคารทั้งระบบในงวดไตรมาส 2 มียอดคงค้างรวม 185,750 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มียอดรวม 169,867 ล้านบาท หรือ 9.35% โดยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เพิ่มขึ้น 149% ธนาคารกสิกรไทย เพิ่มขึ้น 26% มาที่ 36,572 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ เพิ่มขึ้น 23% แอลเอชแบงก์เพิ่มขึ้น 22%

ธนาคารที่เอ็นพีแอลสุทธิ ลดลง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ลดลง 9.34% มาที่ 40,876 ล้านบาท ทิสโก้ ลดลง 26% มาที่ 3,520 ล้านบาท และธนาคารทหารไทยลดลง 5.6%

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อแบงก์ทั้งระบบในครึ่งปีหลังมีโอกาสฟื้นตัว 5% โดยเฉพาะถ้าภาคส่งออกเติบโตได้ 5-6% ก็จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยตลอดปี แต่ความต้องการสินเชื่อยังอยู่ในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ หรือการค้าระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยว

[caption id="attachment_183590" align="aligncenter" width="427"] ลุ้นส่งออกดันแบงก์ฟื้น ไตรมาส2กำไรหด สวนทางหนี้เสียพุ่ง ลุ้นส่งออกดันแบงก์ฟื้น ไตรมาส2กำไรหด สวนทางหนี้เสียพุ่ง[/caption]

ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวทุกจุด จึงยังมีปัจจัยที่จะกดดันผลประกอบการของธนาคารในช่วงที่เหลือ โดยอาจจะมีเหตุการณ์เกินคาดหมายจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะต่างจังหวัดดีมานด์ยังแผ่วหรือกลุ่มค้าปลีกที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นกลับมา

“กลุ่มรีเทลที่ยังไม่ฟื้น ถ้าถูกบีบเครดิตห้ามกู้เพิ่มอาจจะมีปัญหาเงินหมุนเวียนทั้งอสังหา ริมทรัพย์และบุคคลธรรมดา กำลังซื้อจะแผ่วลง ซึ่งแนวโน้มถ้าเป็นอย่างที่บอก แบงก์ที่ Conservative จะกันสำรองไว้ก่อนและมีโอกาสตั้งสำรองหนี้ฯในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รายเล็กหรือพวกซื้อมาขายไป”

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า ภาคเอกชนรายใหญ่ จะหันมาใช้สินเชื่อแทนระดมทุนผ่านหุ้นกู้ จึงมีโอกาสที่สินเชื่อทั้งระบบจะโตได้เกือบ 6% ซึ่งมาจากปัจจัยธุรกิจรายใหญ่ล้วนๆ ซึ่งลูกค้าเป้าหมายที่เป็นช่องทางแข่งขันของธนาคาร รวมทั้งธุรกิจไทยที่กู้เงินไปลงทุนต่างประเทศ

นอกจากสินเชื่อนำเข้า-ส่งออกที่จะกลับมาดีแล้ว ยังมีสินเชื่อประเภทระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการก่อสร้าง เทคโนโลยี และโทรคมนาคม หรือ แบงก์แอสชัวรันส์ มิวชวลฟันด์ และการขายหนังสือคํ้าประกัน (L/G) แต่ยังไม่เห็นความต้องการสินเชื่อในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตปรับปรุงการผลิตในตอนนี้

ส่วนผลกำไรของธนาคารปีนี้ยังถูกกดดัน ทั้งการแข่งขันในการทำธุรกิจที่สูงขึ้น เช่นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ท่ามกลางกำลังซื้อแผ่วลง แนวโน้มเอ็นพีแอลยังเพิ่มต่อเนื่อง คาดว่าจะถึงจุดตํ่าไตรมาส 3 ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มรีเทล โดยเฉพาะสินเชื่อรีเทลนั้นมีสัดส่วน 35% ของระบบ ขณะที่การแข่งขันระดมเงินฝาก จะเป็นปัจจัยกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM)ในช่วงที่เหลือ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,281 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560