ศก.‘จีน-ฮ่องกง’ฟักเชื้อ ดัชนีชี้ระยะ 3 ปีอันตรายวิกฤติการเงิน

25 ก.ค. 2560 | 07:51 น.
รายงานของบริษัทโนมูระชี้ว่า ฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่มีความเสี่ยงจะเกิดวิกฤติการเงินมากที่สุดภายในระยะ 3 ปีข้างหน้า ข้อสรุปดังกล่าวมาจากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจกว่า 40 ดัชนีจากทั้งหมด 60 ดัชนี ซึ่งรวมถึงปัญหาหนี้ภาคเอกชนที่ทะยานสูงขึ้นมากและราคาอสังหาริมทรัพย์

“ดัชนีเหล่านี้ส่งสัญญาณเตือนว่า วิกฤติอาจเกิดขึ้นภายใน 12 ไตรมาสข้างหน้า” รายงานของวาณิชธนกิจโนมูระ ระบุว่า กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติการเงินมากกว่าประเทศที่อุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว และเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น ก็เป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงมากที่สุด นำโดยฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากมีดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจจำนวนมากที่กำลังส่งสัญญาณเตือนเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ สัดส่วนหนี้สินภาคเอกชนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนที่มีประสิทธิภาพ ราคาอสังหา ริมทรัพย์ และราคาหลักทรัพย์ เป็นต้น ดัชนีชี้วัดเหล่านี้เป็นดัชนีที่เชื่อถือได้และเคยส่งสัญญาณเตือนวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นจริงในอดีตมาแล้ว 50 ครั้งใน 30 ประเทศจากการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา

ที่ผ่านมา วิกฤติการเงินของเอเชียที่เกิดขึ้นในปี 2540 เคยส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงตกอยู่ในภาวะซึมเซาเป็นเวลาถึง 6 ปีและราคาอสังหา ริมทรัพย์ก็หายไปมากกว่า 30% แต่มาในระยะหลังๆนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกงเข้าสู่ภาวะคึกคักอีกครั้ง ราคากลับทะยานสูงขึ้นจนติดอันดับตลาดที่อยู่อาศัยราคาแพงที่สุดในโลก การกู้เพื่อซื้อบ้านขยับสูงขึ้นด้วยแม้ว่าราคาที่ดินจะสูงขึ้นมากก็ตาม อพาร์ตเมนต์สร้างใหม่มีคนรอเข้าคิวจองทั้งจากฮ่องกงเองและผู้ซื้อจากจีนแผ่นดินใหญ่ “การศึกษาบทเรียนจากอดีตพบว่า วิกฤติการเงินมักเกิดขึ้นเมื่อตลาดอสังหาฯบูมควบคู่ไปกับตัวเลขหนี้ที่พุ่งสูงขึ้น เช่นที่เคยเกิดมาแล้วในปี 2539 และสภาวะดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นกับหลายประเทศในเอเชีย ณ เวลานี้”

MP20-3281-2 ปัจจุบัน หนี้สินภาคเอกชนของจีนแผ่นดินใหญ่มีมูลค่าเท่ากับ 211% ของจีดีพี (ข้อมูล ณ ปี 2559) เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 90% ในปี 2539 นักวิเคราะห์ระบุว่า ยิ่งราคาอสังหาริมทรัพย์ขยับสูงขึ้น ผู้คนก็มีแนวโน้มการกู้ยืมเพิ่มขึ้นด้วย หนี้สินภาคครัวเรือนของจีนเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี ขยับสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่า เป็น 40.7% ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี ถึงแม้ว่าประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงกว่าจีน แต่รายได้ครัวเรือนของจีนโดยเฉลี่ยนั้น ตํ่ากว่าในประ เทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วมาก

ขณะเดียวกัน หนี้ภาครัฐหรือหนี้สาธารณะของจีนนั้นได้พุ่งขึ้นจาก 157% ของจีดีพีในปี 2551 เป็น 260% ในปี 2559 และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และนั่นก็มีส่วนให้มูดี้ส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลจีนลงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบๆ 30 ปีเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“จีนเป็นผู้ทำให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤติการเงินในปี 2540 ด้วยการนำทุนสำรองเงินตราต่างประเทศออกมาสกัดการตกตํ่าของค่าเงินหยวน อย่างไรก็ตาม ในสภาวะปัจจุบัน จีนอาจกลายเป็นตัวแปรที่ทำให้เศรษฐกิจเอเชียขาดสเถียรภาพได้ จากการที่เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียพึ่งพาเศรษฐกิจของจีนมากจน เกินไป” รายงานของโนมูระระบุ และฝากคำเตือนว่า หลากดัชนีที่กล่าวมาข้างต้นกำลังส่งสัญญาณเตือนถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจจีนและนั่นจึงเป็นสัญญาณเตือนภัยที่มีไปถึงบรรดาประเทศที่ผูกติดเศรษฐกิจตัวเองกับเศรษฐกิจจีนด้วย นักวิเคราะห์ยังคงรอดูว่า จีนจะแก้ปัญหาอย่างไร จะยอมเจ็บตัวในระยะสั้นเพื่อผลดีในระยะยาวหรือไม่ เช่นด้วยการปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น การตัดสินใจปิดรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทำกำไร รวมทั้งการเข้าสู่กระบวน การลดภาระหนี้ ทั้งหมดนี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องคาดเดา แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ ยิ่งจีนยื้อการแก้ไขปัญหา ความเสี่ยงรวมทั้งผลกระทบก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,281 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560