ผู้ค้า‘แอลพีจี’เปิดศึกตัดราคาชิงส่วนแบ่ง

22 ก.ค. 2560 | 14:43 น.
สงครามแอลพีจีแข่งเดือด รายใหม่ดาหน้าชิงส่วนแบ่งตลาด หลังรัฐลอยตัวแอลพีจี 1 ส.ค.นี้ งัดกลยุทธ์ดัมพ์ราคาแข่ง ปตท.-สยามแก๊ส เจ้าตลาดไม่หวั่น มั่นใจรักษาฐานลูกค้าเดิมได้ กรมธุรกิจพลังงานเผย ผู้บริโภคได้ประโยชน์ใช้ก๊าซถูกลง

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 มีมติปล่อยลอยตัวก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ทั้งระบบตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป ส่งผลให้เกิดการนำเข้าส่งออกก๊าซแอลพีจีได้อย่างเสรี รวมถึงการกำหนดราคาขายปลีกได้เช่นเดียวกับธุรกิจนํ้ามัน จึงเป็นโอกาสทำให้มีผู้ค้าแอลพีจีหน้าใหม่ก้าวสู่ธุรกิจค้าแอลพีจีมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้ค้าในประเทศกว่า 20 ราย มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปี (รวมทั้งภาคขนส่ง ครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่รวมกลุ่มปิโตรเคมีซึ่งมีสัญญาซื้อขายระยะยาวอยู่)

ล่าสุดบริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจซื้อมาขายไป(เทรดดิ้ง) รายใหญ่ของโลกจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาขอจดทะเบียนเป็นผู้ค้าตามมาตรา 7 (ผู้ค้าที่จำหน่ายตั้งแต่ 5 หมื่นตันต่อปีขึ้นไป จะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เพื่อดำเนินการนำเข้าและจำหน่ายก๊าซแอลพีจีแบบค้าส่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังมีรายใหม่ๆ ทยอยเข้าหารือกับกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อขอเป็นผู้ค้าตามมาตรา 7 เพิ่มอีก

[caption id="attachment_181869" align="aligncenter" width="503"] ผู้ค้า‘แอลพีจี’เปิดศึกตัดราคาชิงส่วนแบ่ง ผู้ค้า‘แอลพีจี’เปิดศึกตัดราคาชิงส่วนแบ่ง[/caption]

ผลของการปล่อยลอยตัวดังกล่าว จะทำให้ธุรกิจแอลพีจีมีการแข่งขันกันมากขึ้น เนื่องจากผู้ค้าสามารถที่จะนำแอลพีจีเข้ามาได้ ไม่ต้องไปซื้อจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผูกขาดเพียงเจ้าเดียว แต่ด้วยปริมาณความต้องการใช้ในประเทศที่มีจำกัด เมื่อนำแอลพีจีเข้ามาแล้วจะทำให้มีแอลพีจีเหลือเกินความต้องการใช้ ดังนั้นหลังจากนี้ไปจะได้เห็นการแข่งขันที่ดุเดือด ที่ผู้ค้าแต่ละรายจะหันมาใช้กลยุทธ์ในการขายตัดราคากัน เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ไม่เว้นแม้แต่ปตท.ที่เป็นผู้ค้าค้ารายใหญ่มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 37-38%

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระทรวงพลังงานจะเสนอเรื่องการเปิดเสรีก๊าซทั้งระบบ ทั้งแอลพีจีและก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ โดยในส่วนของการเปิดเสรีแอลพีจีทั้งระบบที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 จะทำให้การแข่งขันนำเข้าแอลพีจีของทั้งรายเก่าและรายใหม่รุนแรงขึ้น สุดท้ายจะสะท้อนราคาขายปลีกภาคประชาชนตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมนี้ ตามราคาขึ้นลงของตลาดโลก โดยจะมีสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เป็นผู้คำนวณราคาอ้างอิงแอลพีจีทุกเดือน เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์นำไปบริหารจัดการให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมถึงกำหนดค่าการตลาดที่เหมาะสมด้วย

[caption id="attachment_179524" align="aligncenter" width="503"] วิฑูรย์ ธพ. วิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน[/caption]

ทั้งนี้การปล่อยลอยตัวดังกล่าว จะทำให้เกิดการแข่งขันของผู้ค้า โดยเฉพาะการนำกลยุทธ์ขายตัดราคามาสู้กัน และอาจทำให้ราคาถูกลงได้ 0.50-1 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันอยู่ที่ราคา 20.49 บาทต่อกิโลกรัมเช่น ถังก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัมต่อถัง ที่สยามแก๊สจำหน่ายอยู่ 273 บาทต่อถัง ก็จะปรับลดลงมาได้ 7.5-15บาทต่อถัง เป็นต้นดังนั้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ค้ารายใหญ่มีส่วนแบ่งตลาดนำ จะต้องลงมาสู้ศึกลดราคาให้กับลูกค้าด้วย เพราะไม่เช่นนั้นจะเสียส่วนแบ่งการตลาดไป

อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกนี้อาจจะยังไม่เห็นการตัดราคาที่รุนแรงมากนัก เนื่องจากยังมีการแจ้งยอดนำเข้าในระดับ 4.4 หมื่นตันต่อเดือนอยู่ แต่ภายหลังจากที่ บริษัท มิตซูบิชิ แจ้งนำเข้าแอลพีจีจะส่งผลต่อการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น หากผู้ค้าไม่ปรับตัวก็จะอยู่ในธุรกิจยากขึ้น

ทั้งนี้มิตซูบิชิ มีแผนในช่วงแรกที่จะค้าแอลพีจีในรูปค้าส่งก่อน ที่ระดับ 10 ล้านตันต่อปี โดยการเช่าคลังลอยนํ้า 4 หมื่นตัน ของบริษัท บิ๊กแก๊ส เทคโนโลยี จํากัด ที่อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากกรมเจ้าท่า และขนถ่ายแอลพีจีลงเรือขนาดเล็กมายังคลังบนบกขนาด 5 พันตัน ที่เช่าจากบริษัท เอสซี กรุ๊ปฯ ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ล่าสุดการขออนุญาตจอดเรือที่เป็นคลังลอยนํ้าของบิ๊กแก๊ส ยังมีปัญหา ทำให้ทางมิตซูบิชิฯ หันมาเจรจากับปตท.เพื่อขอใช้บริการเช่าคลังเขาบ่อยา เพื่อนำเรือเทียบท่าและเช่าคลังก๊าซปตท.แทน

นางจินตณา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การปล่อยลอยตัวราคาแอลพีจีให้มีการแข่ง ขันอย่างเสรี จะทำให้มีผู้ค้าแอลพีจีมาตรา 7 เพิ่มขึ้น และเกิดการแข่งขันด้านการตลาดมากขึ้นด้วย และจะสะท้อนมายังผู้บริโภคใช้แอลพีจีในราคาที่ถูกลง โดยสยามแก๊สจะไม่เน้นเรื่องราคา แต่จะเน้นบริการด้านโลจิสติกส์ เพราะมีความพร้อมทั้งคลังแอลพีจี ท่าเรือ กองเรือ และกองรถ พร้อมบริการลูกค้า ไม่ได้กังวลมากนัก เพราะเชื่อว่าการแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้ค้าแอลพีจีรายใหญ่ในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของปตท. สยามแก๊ส และเวิลด์แก๊ส คงไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีฐานลูกค้า มีสถานีบริการตั้งในพื้นที่ทำเลดี

ปัจจุบันบริษัทสยามแก๊สฯนำเข้าแอลพีจี 4.4 หมื่นตันต่อเดือน ใช้เรือเป็นคลังลอยนํ้า แบ่งเป็นขายในประเทศ 4.1 หมื่นตัน และส่งออก 3 พันตันต่อเดือน และหากเจรจากับปตท.ในการให้ใช้บริการท่าเรือและคลังก๊าซได้ข้อยุติก็จะหันไปใช้ท่าเรือที่เขาบ่อยา จังหวัดชลบุรีแทน

ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจนํ้ามันบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการเปิด เสรีแอลพีจีทั้งระบบ ปตท.พร้อมแข่งขันกับเอกชนรายอื่นโดยจะเน้นมาตรฐานความปลอดภัย คุณภาพถังแอลพีจี ปริมาณแอลพีจีเต็มทุกถัง มั่นใจว่าจะรักษาส่วนแบ่งตลาดที่ 38% เป็นอันดับ 1 ไว้ได้

อย่างไรก็ตาม การปล่อยลอยตัวแอลพีจี จะทำให้มีผู้ค้านำเข้าแอลพีจีหลายรายเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจแอลพีจี เนื่องจากเกิดการแข่งขัน ราคาสะท้อนต้นทุนตลาดโลก สุดท้ายจะส่งผลไปยังภาคประชาชน ซึ่ง ปตท.นำเข้าแอลพีจีเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ และพร้อมแข่งขันกับผู้ค้ารายอื่นทุกรูปแบบ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560