พ.ร.ก.ต่างด้าวดันต้นทุนส่วยพุ่ง 100% เอสเอ็มอีชํ้า!

21 ก.ค. 2560 | 23:26 น.
คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้เวลากระทรวงแรงงาน ไปดำเนินแก้ไขการปรับปรุงพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พศ. 2560 ภายใน 120 วัน (นับจากคำสั่งคสช.เมื่อ 4 กรกฎาคม 2560 ) ก่อนเสนอให้ครม. โดยเฉพาะบทลงโทษใน 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 101, 102, 119 และ 122 ที่เลื่อนบังคับใช้ไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2561

การกำหนดความผิดและโทษรุนแรง โดยปรับนายจ้างที่รับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานผิดประเภท สูงถึง 4-8 แสนบาท สร้างความกังวลว่าท้ายสุดไม่เพียงเพิ่มภาระต้นทุนให้กับกิจการขนาดเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มเอส เอ็มอีที่ไม่สามารถนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย ยังเป็นการบีบให้ต้องเลือกช่องทางจ่ายส่วยเพิ่ม

**ผลกระทบพ.ร.ก.ต่างด้าว
นายอดิศร เกิดผล ผู้แทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติมานานกว่า 20 ปี ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลกระทบว่าข้อดีของพ.ร.ก.ฉบับนี้ คือ 1.วางโครงสร้างเชิงบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติชัดเจนขึ้น มีการตั้งกรรมการระดับชาติที่ดูเรื่องของยุทธศาสตร์และนโยบาย เทียบกับฉบับก่อน (พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559) จะดูแลเรื่องนายจ้างเพียงอย่างเดียว 2. การบริหารจัดการเป็นการดูในองค์รวม โดยได้นำเรื่องการจ้างงานและการนำเข้าแรงงานมารวมกัน ขณะที่กฎหมายเดิมพูดแค่การจ้างในประเทศ ไม่ได้พูดเรื่องการนำเข้า

3.ให้ความสำคัญเรื่องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติชัดเจนขึ้น เช่น การห้ามให้นายจ้างยึดเอกสาร ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยถูกโจมตีในประชาคมโลกมาตลอดว่า ประเทศไทยเปิดให้มีการยึดเอกสารจนนำไปสู่เรื่องของกระบวนการค้ามนุษย์และหาประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวได้ รวมถึงการที่กฎหมายใหม่พูด ถึง “กองทุนบริหารจัดการคนต่างด้าว” ที่มีหน้าที่คุ้มครองกรณีการส่งแรงงานกลับประเทศในกรณีที่ไม่มีนายจ้างส่งกลับ หรือหากแรงงานต่างชาติถูกละเมิดสิทธิ์ เข้าไม่ถึงการคุ้มครองก็สามารถใช้เงินกองทุนนี้มาสนับสนุนได้ และสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่ดูแลจัดการแรงงานข้ามชาติ สามารถมาใช้กองทุนนี้เพื่อติดตามหรือคุ้มครองแรงงานต่างชาติ ต่างจากเดิมที่กองทุนตั้งเพื่อส่งแรงงานต่างชาติกลับบ้านเท่านั้น

[caption id="attachment_181314" align="aligncenter" width="420"] พ.ร.ก.ต่างด้าวดันต้นทุนส่วยพุ่ง100% เอสเอ็มอีชํ้า! พ.ร.ก.ต่างด้าวดันต้นทุนส่วยพุ่ง100% เอสเอ็มอีชํ้า![/caption]

**โทษปรับแรงสร้างปัญหา?
แต่ที่เป็นปัญหามากๆ คือบทลงโทษนายจ้างที่มีโทษปรับสูงถึง 4-8 แสนบาท กรณีจ้างต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ ทำงานผิดประเภท (ตามมาตรา 102 และมาตรา 122) ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ทำผิด โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 101)

อีกเรื่องที่ผมไม่เห็นด้วย คือการให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จัดโซนนิ่งพื้นที่ให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่ (มาตรา 15) เป็นการใช้อำนาจ แต่ไม่มีบทลงโทษ (อ่านต่อในล้อมกรอบ)

“ที่เรากังวลใจ คือการกำหนดโทษที่ปรับแรง จะทำให้เกิดปัญหาไหม และกฎหมายประเภทนี้ โทษปรับควรต้องรุนแรงไหม หรือทำไมโทษของนายจ้างและลูกจ้างถึงไม่เท่ากัน คือกฎหมายที่ออกมา เหมือนต้องการให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ เรื่องการบริหารจัดการทั้งหมด”

MP25-3279-1 นายอดิศร กล่าวต่อว่า แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยปัจจุบันจะเป็นกลุ่มระดับล่าง และด้วยโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังเป็นสังคมสูงวัย ความจำเป็นต้องพึ่งแรงงานก็มีจำนวนสูงขึ้นโดยปริยาย ดังนั้นการที่รัฐมีเป้าหมายในระยะยาว แรงงานที่นำเข้าต้องถูกกฎหมายตามข้อตกลงเอ็มโอยู ตนมองว่าอาจสำเร็จแต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะดูตามความจริงกิจการที่จะนำเข้าแรงงานได้ถูกกฎหมาย ก็คือรายใหญ่ ซึ่งมีประสิทธิภาพ ความพร้อมด้านทุน สามารถจ้างแรงงานได้มาก

**ส่วยจ่ายเพิ่มเท่าตัว
แต่บริษัทขนาดเล็กพบว่ายากที่กิจการจะนำเข้าแรงงานได้ถูกกฎหมาย โดยที่ค่าใช้จ่ายไม่แพง จึงกลายเป็นช่องทางบีบให้กิจการขนาดเล็กมีแค่ 2 ทางเลือก คือปิดกิจการไปเลย หรือดิ้นรนด้วยวิธีการอื่น ส่วนใหญ่เลือกถอยมาใช้ระบบที่มีอยู่คือจ่ายส่วย จึงมีปัญหาเรื่องสติกเกอร์โดเรมอนเต็มไปหมด

เอ็นจีโอรายนี้แจงต่อ การจ่ายส่วยเริ่มตั้งแต่ประเทศต้นทาง ระหว่างทาง หรือเลือกจ่ายทั้งขบวนจนถึงขั้นได้งานทำซึ่งไม่มีหลักฐานชี้ชัด ขึ้นกับพื้นที่และ การดีลแต่ช่วงที่พีคสุดๆ การนำเข้าแรงงานเฉพาะขาเข้าต่อรายอยู่ที่ 1-1.2 หมื่นบาท หรือกรณีที่จ่ายครบทั้งขบวนจะอยู่ที่ 2.5- 3 หมื่นบาทต่อราย ซึ่งหลังๆ พบว่าขึ้นกับออพชันที่เลือกว่าจะโดยสารมารถยนต์ หรือรถตู้ โดยช่วงไหนที่นโยบายเข้มงวด นายจ้างต้องการแรงงานมาก ส่วยก็จะแพงตาม แต่บางช่วงตัดราคากันเองก็มี เช่นการนำเข้าแรงงานจากแม่สอด จังหวัดตาก มาสมุทรสาคร ส่วยระหว่างทางจะอยู่ที่ 5,000 บาท บางรายจ่าย 4,000 บาท นอกจากนี้ยังมีส่วยรายเดือน/ส่วยสติกเกอร์ ขึ้นกับพื้นที่ อย่างชายแดนจะมีบัตรผู้ใหญ่บ้าน จ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ 500 บาท ส่วนส่วยรายเดือนในเมืองอยู่ที่ 1,000 บาทขึ้นไป

ทั้งนี้มีผู้ประเมินว่าโทษปรับพ.ร.ก.ต่างด้าวที่แรง ถ้าเป็นภาวะที่มีความต้องการจ้างงานสูง จะทำให้ส่วยเพิ่มขึ้นเท่าตัว เช่นจากเดิมที่จ่าย 2.5 หมื่นบาทต่อราย จะเพิ่มเป็น 5 หมื่นบาท และยังต้องเสียเป็นรายเดือนอีก

“มีผู้ทำวิจัยพบว่า ต้นทุนที่ต้องจ่ายตามกฎหมายจะมีประมาณ 40% และอีก 60% เป็นต้นทุนที่ทำให้ระบบเร็วขึ้นหรือเป็นนํ้ามันหล่อลื่น แต่ข้อดีของกฎหมายที่ออกมาปี 2559 ที่มาใช้กับพ.ร.ก.ปี 2560 คือระบุชัดว่าค่าใช้จ่ายอันไหนที่นายจ้างเป็นคนจ่าย และค่าใช้จ่ายไหนแรงงานเป็นคนจ่าย”

MP25-3279-2 **จับตา120วันปรับแก้
นายอดิศร กล่าวในตอนท้ายว่ามีเวลา 120 วันที่กระทรวงแรงงานจะไปแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ แต่คำถามคือกระทรวงแรงงานจะเปิดกว้างแค่ไหนและใครคือคนที่จะไปนั่งแก้ไขกฎหมายฉบับนี้และเมื่อครบ 120 วันคงมีคำถามตามมาว่า ควรเป็นพ.ร.ก.ที่มีความจำเป็นฉุกเฉินขนาดนั้นเลยหรือ ซึ่งตนประเมินว่า รัฐอาจแก้แค่ 2-3 มาตราคือให้กลับไปใช้บทลงโทษเดิมคือ 1 แสนบาทถึง 6 แสนบาท และคงมาตรา 101

สอดคล้องกับ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่าการกำหนดโทษแรงจะทำให้ส่วยยิ่งแพง ตัวอย่างกฎหมายเดิม นายจ้างที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวจะมีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และหากจ้างแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานมีโทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท-1 แสนบาท แต่พ.ร.ก.ฉบับนี้กำหนดค่าปรับ 4-8 แสนบาทต่อต่างด้าว 1 คน ส่วยที่ตนได้ยินมาว่า จากที่เรียกเก็บ 1.5 หมื่นบาทต่อคน ตอนนี้ขยับเป็น 7 หมื่นบาท

MP25-3279-3 ***ถึงเวลาจัดโซนนิ่งแรงงานข้ามชาติ
ใน 120 วัน (นับจาก 4 ก.ค.860 หลังจากคสช. ประกาศใช้ม.44) คงต้องจับตาว่ากระทรวงแรงงานจะแก้ พ.ร.ก.ต่างด้าวฉบับนี้อย่างไร สำหรับผมอยากให้แก้มาตรา 15 เรื่องการจัดโซนนิ่งคนต่างด้าว เพราะประเทศไทยจะไปกำหนดพื้นที่อย่างนั้นไม่ได้ วัฒนธรรมเราใกล้เคียงกับกลุ่มนี้มาก มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด บางคนก็แต่งงานมีครอบครัว อย่างที่สมุทรสาครเห็นชัด มีช่วงหนึ่งวัดร้างเลย เพราะคนมาทำงานที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อคนมอญไปอยู่ก็พัฒนาจนวัดเจริญ อย่างประเทศสิงคโปร์ที่จัดโซนนิ่ง เพราะแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นแขก เอเชียใต้ มีวัฒนธรรมต่างกัน กระนั้นก็ดีที่สิงคโปร์ก็ยังมีปัญหา เพราะคนท้องถิ่นมักมองแรงงานต่างด้าวเป็นกลุ่มน่ากลัว มีปัญหา มีข่าวเผารถเมล์

ที่ผมห่วงคือ พ.ร.ก.ต่างด้าว ในมาตรา 15(ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของครม.มีอำนาจประกาศกำหนดเขตที่พักอาศัย (โซนนิ่ง) เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและความปลอดภัยสาธารณะ) ผมมองว่าไม่ควรไปกำหนดในกฎหมายเพราะเท่ากับไปจำกัดสิทธิอิสรภาพของแรงงานเหล่านี้ ความคิดเห็นของ Human Right ก็ท้วงติงเรื่องนี้อยู่

พ.ร.ก.ต่างด้าวปี 2560 เป้าหมายเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นนวัตกรรม เทคโนโลยี แต่ขณะนี้ “ไทยแลนด์ 4.0”เราเพิ่งแค่เริ่ม ก็จะลดการพึ่งแรงงานต่างด้าวแล้วหรือ ?

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560