นำเข้า LPG ครึ่งปีหลังทะลัก ‘มิตซูบิชิ’ขอเอี่ยวแข่งตลาดภายในประเทศ

20 ก.ค. 2560 | 06:15 น.
เปิดแผนนำเข้าแอลพีจีครึ่งปีหลัง ปตท.เน้นนำเข้าเพื่อส่งออกตลาดเออีซี ยํ้าชัดกำลังการผลิตจากโรงกลั่นฯ-โรงแยกก๊าซเพียงพอไม่จำเป็นต้องนำเข้าเพื่อขายในประเทศ สยามแก๊สรุกหนัก นำเข้าขายในประเทศ 4.4หมื่นตันต่อเดือนป้อนลูกค้า

กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.)เผยสถานการณ์ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) พบว่าภายหลังกระทรวงพลังงานประกาศเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจี และจะเต็มรูปแบบทั้งระบบตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม2560 ส่งผลให้มีผู้ค้าแอลพีจีมาตรา 7 นำเข้าแอลพีจีเพิ่มขึ้นทำให้การแข่งขันในประเทศรุนแรง รวมทั้งจะมีผู้ค้ารายใหม่นำเข้าแอลพีจี จากปัจจุบันมี 3ราย ได้แก่บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน), บริษัท สยามแก๊สแอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด(มหาชน) และบริษัท ยูนิคแก๊สแอนด์ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด(มหาชน)

[caption id="attachment_181129" align="aligncenter" width="503"] นำเข้าLPGครึ่งปีหลังทะลัก ‘มิตซูบิชิ’ขอเอี่ยวแข่งตลาดภายในประเทศ นำเข้าLPGครึ่งปีหลังทะลัก ‘มิตซูบิชิ’ขอเอี่ยวแข่งตลาดภายในประเทศ[/caption]

โดยพบว่า ปตท. ยื่นแผนนำเข้าแอลพีจีในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 (กรกฎาคม-ธันวาคม) เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 6.6 หมื่นตัน แบ่งเป็นการนำเข้าเพื่อใช้ในประเทศ 7 พันตัน และเพื่อส่งออก 5.9 หมื่นตัน เว้นเดือนสิงหาคม-กันยายนไม่มีการนำเข้า และจะนำเข้าในเดือนตุลาคม 1.1 หมื่นตัน เพื่อส่งออกทั้งหมด,เดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเดือนละ 2.2 หมื่นตัน เพื่อส่งออกทั้งหมด

ขณะที่สยามแก๊ส มีแผนนำเข้าแอลพีจีตั้งแต่เดือน กรกฎาคม-ธันวาคม เดือนละ 4.4หมื่นตัน เพื่อจำหน่ายในประเทศทั้งหมด ส่วนยูนิคมีแผนนำเข้าแอลพีจี 3.5 พันตันต่อเดือนไปจนถึงเดือนธันวาคม 2560 เพื่อส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ ธพ.อยู่ ระหว่างรอทางบริษัท มิตซูบิชิ(ประเทศไทย) จำกัด ยื่นแผนนำเข้าแอลพีจีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

[caption id="attachment_179524" align="aligncenter" width="503"] วิฑูรย์ ธพ. วิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.)[/caption]

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าผลของการเปิดเสรีก๊าซทั้งระบบจะทำให้การจัดหาแอลพีจีมีมากขึ้น จากปัจจุบันมาจากการผลิตโรงแยกก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย2.8-3.3 แสนตันต่อเดือน โดยในเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่2.81 แสนตัน, เดือนสิงหาคมอยู่ที่ 3.37 แสนตัน, เดือนกันยายนอยู่ที่ 2.84 แสนตัน, เดือนตุลาคมอยู่ที่ 3.3 แสนตัน, เดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 3.27 แสนตัน และเดือนธันวาคม อยู่ที่ 3.37 แสนตันขณะที่แอลพีจีจากโรงกลั่นนํ้ามัน เฉลี่ยอยู่ที่ 1.7-1.8แสนตันต่อเดือน โดยเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ 1.77 แสนตัน, เดือนสิงหาคมอยู่ที่ 1.80แสนตัน, เดือนกันยายนอยู่ที่1.80 แสนตัน, เดือนตุลาคม อยู่ที่ 1.82 แสนตัน, เดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 1.79 แสนตัน และเดือนธันวาคม อยู่ที่ 1.85 แสนตัน โดยปัจจุบันประเทศไทยยังต้องนำเข้าแอลพีจี ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 2-4หมื่นตันต่อเดือน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจนํ้ามัน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การนำเข้าแอลพีจีของ ปตท. ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะนำเข้าเพื่อส่งออกเกือบทั้งหมด เนื่องจากปริมาณการผลิตแอลพีจีในประเทศจากทั้งโรงกลั่นนํ้ามันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพียงพอต่อความต้องการใช้ของปตท. รวมทั้งยังมีเหลือเพื่อขายส่งให้กับผู้ค้าแอลพีจีรายอื่นด้วย

“เดิมสยามแก๊สรับซื้อแอลพีจีจาก ปตท. แต่เมื่อรัฐเปิดให้นำเข้าผู้ค้ารายอื่นก็สามารถนำเข้าได้เอง ขณะที่กำลังการผลิตแอลพีจีในประเทศเกือบ100% ขายในประเทศ ขาดเพียงเล็กน้อยซึ่งต้องนำเข้า ดังนั้นในส่วนของ ปตท.จึงมีแอลพีจีที่ขายในแบรนด์ ปตท. เพียงพอเพื่อป้อนลูกค้า ส่วนตลาดต่างประเทศก็จะนำเข้ามาเพื่อส่งออกไปยังตลาดอาเซียนมากขึ้น”นายอรรถพล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560