จำปีรื้อสัญญาโรลส์-รอยซ์ จี้! ขอค่าชดเชย

16 ก.ค. 2560 | 06:35 น.
วันที่ 16 ก.ค. 60 -- หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3279 ระหว่างวันที่ 16-19 ก.ค. 2560 สื่อในเครือ “สปริง กรุ๊ป” รายงานว่า บิ๊กบินไทยลั่น! เตรียมรื้อสัญญาโททัลแคร์กับโรลส์-รอยซ์ หวั่นกระทบแผนซ่อมบำรุงรอบใหม่ ด้าน บอร์ดไล่จี้! เก็บตัวเลขความเสียหายให้เสร็จเดือน ก.ย. เรียกค่าชดเชย พร้อมเคาะแผนซื้อฝูงบินใหม่ 28 ลำ

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ การบินไทยกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการต่อรองกับทางผู้ผลิตเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ เพื่อแก้ไขสัญญาการซ่อมบำรุงตามโปรแกรมโททัล แคร์ ซึ่งเป็นการซื้อเครื่องยนต์พ่วงการซ่อมบำรุง เพื่อให้การบินไทยได้ประโยชน์สูงสุด หลังจากเกิดปัญหาเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ (RR) รุ่น Trent 1000 ที่ใช้กับเครื่องบิน โบอิ้ง 787-8 ดรีมไลเนอร์ ต้องจอดกราวด์ 3-4 ลำ เนื่องจากขาดแคลนอะไหล่เครื่องยนต์ ส่งผลกระทบกับแผนปฏิบัติการบินอย่างมาก

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่นอื่น ๆ ที่อยู่ในฝูงบินของการบินไทย ที่จะต้องซ่อมบำรุงในรอบต่อไป จึงต้องต่อรอง อาทิ หากการบินไทยยังจะใช้บริการตามโปรแกรมนี้ ควรต้องมีส่วนลด หรือ ถ้าดูแล้วไม่เป็นธรรมก็ต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งจะใช้วิธีไหน ต้องดูให้เหมาะสมกับการบินไทยให้มากที่สุด โดยจะให้ฝ่ายช่างเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งจะมีการเทียบกับสายการบินทั่วโลก ที่ใช้โปรแกรมนี้ว่า เขาทำอย่างไร

รักษาการ ดีดี ยังกล่าวอีกว่า “การแก้ปัญหาการขาดแคลนเครื่องยนต์อะไหล่โบอิ้ง 787-8 ดรีมไลเนอร์ นั้น ที่ผ่านมา ตนได้หารือโดยตรงกับทางประธานของบริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ ในการเร่งแก้ปัญหานี้ ซึ่งการบินไทยมีเครื่องบินรุ่นนี้ ที่ต้องนำเครื่องยนต์ Trent 1000 เข้าซ่อมบำรุง 6 ลำ ซึ่งถือว่า เราแก้ปัญหาได้เร็วกว่ากำหนด เพื่อให้สถานการณ์นี้คลี่คลายโดยเร็ว”

นางอุษณีย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโรลส์-รอยซ์ ส่งเครื่องยนต์มาเปลี่ยนแล้วจำนวน 2 เครื่องยนต์ เพื่อสลับหมุนเวียนให้เครื่องบิน บินได้ ทำให้มีเครื่องบินจอดกราวด์อยู่ 3 ลำ และตามแผนในวันที่ 14 ก.ค. นี้ จะมีการส่งมอบเครื่องยนต์อีก 1 ตัว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ใหม่ มูลค่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2 พันล้านบาท ดังนั้น เครื่องบินที่จอดกราวด์จะเหลือ 2 ลำ และเดือนหน้าจะมีเครื่องยนต์เข้ามาเพิ่มอีก ก็จะทำให้เครื่องบินจอดกราวด์ลดลง 1 ลำ และน่าจะกลับสู่ภาวะปกติในเดือน ก.ย. นี้

ด้านการประชุมคณะกรรมการบริหาร บมจ.การบินไทย (12 ก.ค. 60) ได้มีการรายงานเรื่องนี้ให้ที่ประชุมรับทราบ โดยฝ่ายบริหารยืนยันว่า จะแก้ไขปัญหาจบแน่ในเดือน ก.ย. นี้ และบอร์ดได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารไปรวบรวมความเสียหายทั้งหมดออกมาเป็นตัวเลข เพื่อรายงานบอร์ดในการประชุมครั้งหน้า เนื่องจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นค่อนข้างสูง ทั้งค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลผู้โดยสาร ความเสียโอกาสจากการยกเลิกเที่ยวบิน เป็นเรื่องที่ซีเรียส ซึ่งบอร์ดอยากรู้ว่า ความสูญเสียที่ชัดเจน เลยมอบหมายให้ไปคำนวณมา เพื่อนำไปต่อรองกับทางโรลส์-รอยซ์ ให้รับผิดชอบต่อไป

นอกจากนี้ บอร์ดยังเห็นชอบกับกระบวนการจัดหาฝูงบินใหม่ 28 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่ปลดระวาง โดยจะเป็นการจัดหาฝูงบินของการบินไทย 19 ลำ แบ่งเป็นขนาดลำตัวกว้าง 17 ลำ ลำตัวแคบ 2 ลำ ส่วนอีก 9 ลำ เป็นของสายการบินไทยสมายล์ ส่วนเรื่องวิธีการจะเช่าดำเนินการ หรือ เช่าซื้อ ต้องดูโมเดลทางการเงินเป็นหลัก ว่าอันไหนให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดต่อบริษัท และคาดว่า จะนำเข้าบอร์ดพิจารณาในการประชุมบอร์ดครั้งหน้า คาดว่า ภายใน 3 เดือน น่าจะนำเข้า ครม. และรับมอบเครื่องบินใหม่ภายใน 18 เดือน นับจากวันเซ็นสัญญา ขณะเดียวกัน บอร์ดยังอนุมัติเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-เวียนนา เดือน ต.ค. นี้ 4 เที่ยวต่อสัปดาห์ เพื่อให้ครอบคลุมเส้นทางบินในยุโรปทั้งหมด โดยเฉพาะยุโรปตะวันออก


Logo-Nokair


นกแอร์ไม่เคาะแผน PP

ทางด้านความคืบหน้าของแผนการเพิ่มทุนรอบใหม่ บริษัท นกแอร์ จำกัด (มหาชน) นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นกแอร์ เผยว่า การประชุมบอร์ด (13 ก.ค.) ได้มีการนำเสนอแผน Turnaround Plan (แผนพลิกฟื้นธุรกิจ) ที่ทำเสร็จแล้ว โดยเน้นเรื่องการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ เพื่อให้นักลงทุนมองออกว่า นกแอร์มีแผนในการแก้ปัญหาการขาดทุนได้ชัดเจนขึ้น และหลังจากปลายเดือน ส.ค. ไปแล้ว ก็จะเริ่มพิจารณาเรื่องการเข้าสู่กระบวนการเพิ่มทุนแบบ PP ร่วมกับพันธมิตร

ขณะที่ ร.อ.มนตรี จำเรียง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.การบินไทย และบอร์ดนกแอร์ เผยว่า นกแอร์อยู่ระหว่างการขอยื่นตั้งอนุญาโตตุลาการ ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งศาลรับเรื่องไว้แล้ว รอตั้งกรรมการกลาง เพื่อไกล่เกลี่ยยกเลิกสัญญาการซ่อมบำรุงที่ทำไว้ระหว่างนกแอร์กับ Lufthansa Technik AG จำนวน 4 สัญญา หลังพบว่า มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่แพงเกินกว่าราคาตลาด เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น เกิดความไม่เป็นธรรม ซึ่งหากตกลงกันได้ ก็ไม่จำเป็นต้องฟ้องร้อง สัญญาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุง เครื่องบิน เครื่องยนต์ ส่วนที่เหลืออีก 6 สัญญา ยังร่วมมือกันเหมือนเดิม