5G ดันจีดีพีเอเชียปี 63 โต 5.4%

16 ก.ค. 2560 | 10:00 น.
สมาคมจีเอสเอ็มเผยว่าเทคโนโลยีมือถือ 5 จี กำลังเติบโตในภูมิภาคเอเชีย ชี้มูลค่าการสื่อสารเคลื่อนที่สูงถึง 44.11 ล้านบาทคิดเป็น 5.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งภูมิภาค ขณะที่รัฐบาลไทยผลักดันแผนพัฒนาสังคมดิจิตอลแห่งชาติเต็มรูปแบบ

นายแมตส์ แกรนรีด ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมจีเอสเอ็ม เปิดเผยถึงงานวิจัยของ สมาคมจีเอสเอ็ม หรือ GSMA ได้เผยรายงานล่าสุด “The Mobile Economy: Asia Pacific 2017” ว่า ตลาดในเอเชียกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีมือถือ 5 จี เพื่อหวังนำมาใช้ในเขตชุมชนเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เนื่องด้วยกลุ่มผู้ให้บริการมือถือทั้งหลายต่างมองหาหนทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ และเสริมการทำงานของสัญญาณเคลื่อนที่บนแถบความถี่กว้าง หรือบรอดแบนด์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้น โดยประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนกลยุทธ์เพื่อปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นสังคมดิจิตอล ผ่านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการวางแผน ส่งเสริม พัฒนา และลงมือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล

“อุตสาหกรรมมือถือในภูมิภาคเอเชียจะเป็นกลไกสำคัญในการขยายจำนวนผู้ใช้บริการทั่วโลกตลอดช่วงปีที่เหลือของทศวรรษนี้ โดยมีอินเดียและจีนเป็นหัวเรือใหญ่ และจะสามารถสร้างการสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อลูกค้ารายใหม่ๆ จำนวนกว่า 500 ล้านรายทั่วภูมิภาคได้ภายในปี 2563”

นายแมตส์ กล่าวต่ออีกว่า สมาคมยังพบด้วยว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดไปสู่การใช้เครือข่ายสัญญาณเคลื่อนที่บรอดแบนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบ 4 จี ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รองรับนวัตกรรมใหม่ๆ ได้หลากหลาย ทั้งในกลุ่มตลาดพัฒนาแล้ว และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคนี้ ในขณะเดียวกันผู้ให้บริการชั้นนำในเอเชียจะกลายเป็นกลุ่มแรกๆ ของโลกที่จะเปิดให้ใช้เครือข่าย 5 จี ในเชิงพาณิชย์ได้ก่อนสิ้นสุดทศวรรษนี้

นอกจากนี้จำนวนของผู้ใช้บริการมือถือที่เพิ่มสูงขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก สามารถเจาะตลาดในภูมิภาคได้กว้างขึ้น (หากคิดเป็นสัดส่วนของจำนวนประชากร) โดยเติบโตจาก 66% ในปี 2559 มาเป็น 75% ในปี 2563 แต่ด้วยลักษณะของภูมิภาคที่มีความหลากหลายสูง จึงทำให้การรุกคืบของตลาดมือถือในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้เมื่อดูจาก 5 อันดับต้นของประเทศที่มีสัดส่วนผู้ใช้มือถือสูงที่สุดในโลก จะเห็นได้ว่าเป็นประเทศในเอเชียมีอยู่ถึง 4 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไต้หวัน แต่ในขณะเดียวกัน เอเชียก็มีประเทศที่มีการเข้าถึงของมือถือตํ่าสุดด้วยเช่นกัน อาทิ เกาหลีเหนือ

MP22-3279-a ปัจจุบัน สัญญาณเคลื่อนที่บรอดแบนด์ (3 จี ขึ้นไป) กำลังเป็นเทคโนโลยีที่ครองตลาดในภูมิภาค และสามารถไต่ระดับจนเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ได้รับความนิยมเกินครึ่งหนึ่งของตลาดไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ตลาดในเอเชีย อาทิ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีส่วนขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีสัญญาณเคลื่อนที่แบบ 5 จี โดยคาดว่าการเชื่อมต่อบนระบบ 5 จี (ไม่นับรวมการใช้งาน Internet of Things - IoT) จะมีมากถึง 670 ล้านรายในเอเชีย-แปซิฟิกภายในปี 2568 คิดเป็นสัดส่วนเกือบถึง 60% ของการเชื่อมต่อบนระบบ 5 จี ของทั่วโลกในเวลานั้น

นอกจากนี้ตลาดเทคโนโลยีและบริการการสื่อสารเคลื่อนที่ก่อให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 44.1 ล้านล้านบาท) ในเอเชีย-แปซิฟิกเมื่อปีที่ผ่านมา เทียบเท่า 5.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของภูมิภาค และเป็นที่คาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 54.3 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็น 5.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ในปี 2563 และประเทศต่างๆ จะได้รับประโยชน์จากประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการใช้บริการผ่านระบบสัญญาณเคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมไปกับการนำเทคโนโลยีเคลื่อนที่ใหม่ ๆ มาใช้ อาทิ การสื่อสารตรงระหว่างอุปกรณ์ หรือ machine-to-machine (M2M)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560