ทางออกนอกตำรา : ดีเดย์รีดภาษีออนไลน์

12 ก.ค. 2560 | 13:33 น.
1485341780111

ทางออกนอกตำรา
โดย : บากบั่น บุญเลิศ

ดีเดย์รีดภาษีออนไลน์

ถ้าไม่มีอะไรพลิกล็อก เดือนกรกฎาคมนี้ ร่างกฎหมายเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) ที่กรมสรรพากรกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อจัดเก็บภาษีกับธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและการโอนเงินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

app32689182_s-696x380

กฎหมายนี้จะเก็บภาษีกับผู้ที่ดำเนินธุรกิจ บนนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ แม้ผู้ประกอบการจะไม่จัดตั้งอยู่ในประเทศไทย ก็ให้ถือว่ามีสถานประกอบการในประเทศไทย เข้าข่ายต้องชำระภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ต่างๆ

ผมไปตรวจสอบข้อมูลพบว่า อัตราการจัดเก็บภาษีมีการปรับปรุงเพดานการจัดเก็บสูงสุด 15% ของเงินได้ที่จ่าย จากเดิมที่เคยมีแนวคิดจะจัดเก็บที่อัตรา 5% ของเงินได้ที่จ่าย โดยอัตราที่จะจัดเก็บใหม่นี้ จะอิงตามมาตรา 70 ของประมวลรัษฎากร

เก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ

อย่างไรก็ดี อัตราการจัดเก็บภาษีนี้ จะมีหลายอัตราขึ้นอยู่กับประเภทธุรกรรม ซึ่งในร่างกฎหมายจะมีการแยกประเภทของธุรกรรมที่จะมีการจัดเก็บไว้อย่างชัดเจน และจะมีข้อยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้ เช่น กรณีที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศของผู้ทำธุรกรรม

สำหรับมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ระบุว่า สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่มีแหล่งเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เป็นเงินได้ที่พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทยไม่ว่าบุคคลใดๆ ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามแหล่งเงินได้ (Source Rule) และเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นไปด้วยดี จึงกำหนดให้ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยผู้มีเงินได้ไม่ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติภาษีอื่นใดอีก

ecommerce-website-development

หลายคนถามว่า แล้วนอกจากกลุ่มเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบว์ แล้วยังมีผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รายอื่นที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี มีหรือไม่..

ผมไปสืบค้นข้อมูลแล้วพบว่า ผู้ที่ต้องเสียภาษีคือ 1.Catalog Website หมายถึง เว็บไซต์ที่ผู้ประกอบการจัดทำขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นห้องแสดงสินค้า รายการราคาสินค้า ประชาสัมพันธ์รายการสินค้าโปรโมชั่น ณ ช่วงเวลานั้น ทั้งนี้อาจเน้นไปทางโฆษณาสินค้าตัวใหม่ๆ แต่ไม่ได้มีการซื้อขายสินค้าออนไลน์แต่อย่างใด หากผู้ซื้อสินค้าสนใจจะซื้อสินค้าจะต้องโทรศัพท์เพื่อสั่งสินค้า ส่วนการชำระราคาค่าสินค้า จะเกิดขึ้นทันทีที่รับมอบสินค้าจากพนักงานส่งสินค้า

2.e-Shopping   ซึ่งคือเว็บไซต์ที่ผู้ประกอบการสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกิจการ ส่วนใหญ่จะใช้ชื่อกิจการเป็นชื่อเว็บไซต์โดยไม่มีคำอื่นต่อท้าย โดยจะมีกิจกรรมต่างๆ มีการเคลื่อนไหวปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเว็บไซต์ให้ทันสมัยตลอดเวลา มีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก ในส่วนของการขายสินค้า จะมีระบบการรับชำระ ค่าสินค้า มีตะกร้าให้เลือกสินค้า มีระบบการตรวจสอบการส่งของ มีระบบต่างๆ อีกมากมาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า

aHR0cDovL3BlMi5pc2Fub29rLmNvbS9ucy8wL3VkLzQzNS8yMTc5NDU5L3VudGl0bGVkLTEuanBn

3.Community Web คือชุมชนเว็บบอร์ดซึ่งเป็นที่รวมตัวของคนที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน โดยทางเว็บไซต์ ได้จัดทำเว็บบอร์ดแล้วอนุญาตให้ สมาชิกนำสินค้าต่างๆมาโพสต์ขายได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันจะมีเว็บไซต์แบบนี้อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เว็บสำหรับคนชอบมือถือ กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

4.e-Auction หรือที่เรียกว่า online auction, e-bidding, online bidding หรือการประมูลออนไลน์ คือการประมูลสินค้าและบริการผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายเห็นความเคลื่อนไหวของราคาขณะประมูลในแบบเรียลไทม์ (real time) โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องของเวลา และสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

5.e-Market Place หรือ Shopping Mall หมายถึง ห้างสรรพสินค้าออนไลน์ ทำหน้าที่เหมือนห้างสรรพสินค้าปกติโดยทั่วไป มีการแบ่งเนื้อที่ในเว็บไซต์ออกเป็นขนาดเล็กๆ อาจจะจัดเป็นหมวดหมู่ โซนต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจมาเช่าหน้าร้านเพื่อประกอบธุรกิจ โดย e-Market Place จะมีระบบจัดการเว็บไซต์ร้านค้าไว้บริการผู้ประกอบการ เช่น ตะกร้าสั่งซื้อสินค้า ระบบรับชำระเงิน ระบบการตรวจเช็กสต็อก ระบบช่วยร้านค้าประชาสัมพันธ์สินค้า ระบบเว็บบอร์ด

6.Stock Photo ที่เก็บรวบรวมภาพถ่ายไว้ด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายภาพถ่ายนั้น การขายภาพถ่าย เป็นเพียงการยินยอม หรืออนุญาตให้ผู้ซื้อใช้ภาพถ่ายเท่านั้น ไม่ได้ขายขาดสิทธิ์ในภาพถ่ายดังกล่าว ดังนั้น ภาพถ่ายยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของเจ้าของอย่างสมบูรณ์เช่นเดิม จะไปขายซ้ำแล้วซ้ำอีกจะกี่เว็บไซต์ก็ได้ ส่วนภาพถ่ายที่ซื้อมานั้น ผู้ซื้อสามารถนำไปใช้ในการพิมพ์หนังสือ การพิมพ์เอกสารในโอกาสพิเศษ นิตยสาร บริษัทโฆษณา การสร้างภาพยนตร์ นักออกแบบเว็บไซต์ ศิลปินด้านภาพ บริษัทรับตกแต่งภายใน และด้านอื่นๆ 

Image (1)

7.Google AdSense หมายถึง โปรแกรมการโฆษณาสินค้าที่ทาง Google เปิดโอกาสให้กับผู้ที่มีเว็บไซต์สามารถ สร้างรายได้ด้วยการนำโฆษณาของ Google มาใส่ไว้ที่เว็บไซต์ โดยรายได้ จะเกิดจากการมีผู้อื่นมาเยี่ยมชม และการคลิกโฆษณานั้น ซึ่งโฆษณาต่างๆ ของ Google จะเป็นโฆษณาที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับเนื้อหาของเว็บไซต์

8. Affiliate Marketing ที่เป็นธุรกิจที่ใช้ระบบการขาย และชำระเงินของผู้ขาย โดยผู้ประกอบการจะชักชวนให้ซื้อสินค้าด้วยการโฆษณาข้อมูลสินค้าผ่านเว็บไซต์ของตนเองแล้วผู้ซื้อทำการคลิกผ่าน Banner หรือ Link ID เพื่อเข้าไปซื้อสินค้า/บริการ จากเว็บไซต์นั้นๆ จึงจะได้รับผลตอบแทนค่าธรรมเนียมภายหลังการขายประสบผลสำเร็จ

ผู้ประกอบการในการทำ Affiliate Marketing ทั้งที่เป็นบริษัทหรือเว็บไซต์ที่ต้องการทำการโฆษณาสินค้า/บริการของตนเอง หรือ Affiliate Program Providers ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของบริษัทหรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่ต้องการทำการโฆษณาสินค้า/บริการของตนบนอินเทอร์เน็ต  จะต้องเสียภาษี

9.Game Online ที่มีการเล่นเกมผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์ โดยผู้เล่นเกมออนไลน์จะต้องติดตั้งโปรแกรม Client เพื่อเชื่อมโยงกับบริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ซึ่งทำหน้าที่เป็น Server ที่ผู้เล่นเกมออนไลน์ จะต้องเสียค่าบริการสำหรับการเล่นเกมออนไลน์ตามอัตราและเงื่อนไขที่บริษัทผู้ให้บริการกำหนดไว้ ทั้งที่เก็บค่าบริการในรูปแบบ Air time และ Item Selling

NjpUs24nCQKx5e1EZu02WupvPwqpOEbz6p1AAviagUE

ทำไมต้องทำ!!! ผลสำรวจ PwC’s Total Retail 2016 ซึ่งสำรวจนักช็อปออนไลน์ 23,000 ราย ใน 25 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีนักช็อปออนไลน์ซื้อสินค้าโดยตรงผ่านทางโซเชียลมีเดียมากที่สุดในโลกถึง 51% รองลงมาคือ อินเดีย 32% มาเลเซีย 31% และจีน 27% และพบว่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจาก 2.03 ล้านล้านบาท ในปี 2557 เป็น 2.52 ล้านล้านบาท ในปี 2559 แต่บรรดาผู้ประกอบการกลับไม่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด

นี่จึงเป็นที่มาที่กรมสรรพากรเตรียมจัดระเบียบเก็บภาษีผู้ค้าอี-คอมเมิร์ซทั้งหมด
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา / หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ /ฉบับ 3278 ระหว่างวันที่ 13-15 ก.ค.2560

E-BOOK แดง