ข้าพระบาท ทาสประชาชน : "คิงเพาเวอร์" กับ "ศาลอาญาคดีทุจริตฯ"​

12 ก.ค. 2560 | 08:03 น.
269549

ข้าพระบาท ทาสประชาชน
โดย : ประพันธุ์ คุณมี

"คิงเพาเวอร์" กับ "ศาลอาญาคดีทุจริตฯ"

ข่าวจากสื่อทุกสำนัก เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมาธิการ ด้านกลไกในการปราบปรามการทุจริต คณะกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ได้เดินทางไปที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องและหมายเรียกจำเลย ในกรณีที่เจ้าหน้าที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) และพวก รวม 18 คน ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายและข้อสัญญาที่ก่อหรือเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ได้รับผลประโยชน์เกินกว่าที่สัญญาระบุไว้ และในความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ,เป็นกรรมการหรือผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย และเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท กระทำการหรือไม่กระทำการ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้

maxresdefault (1)

โดยจำเลยในคดีเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 14 คน เอกชนกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ 3 บริษัท และกรรมการผู้มีอำนาจอีก รวม 18 คน รวมถึงแม่ทัพอากาศท่านปัจจุบันก็โดนหางเลขไปด้วย ซึ่งผู้ฟ้องอ้างว่าทำให้รัฐเสียหายมีมูลค่าถึง 14,290,660,119 บาทเพื่อขอให้ศาลพิจารณาลงโทษตามกฎหมายและสั่งให้ริบเงินจำนวนดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดิน รายละเอียดของคำฟ้อง ข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุแห่งคดีคงปรากฎอยู่ในคำฟ้อง

แต่ที่สำคัญและน่าสนใจยิ่งคือ เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ฟ้องได้รวบรวมมาจากรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว อันเป็นข้อเท็จจริงและหลักฐานจากทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพยานบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ฟ้องในคดีทั้งสิ้น

Vichai+Srivaddhanaprabha+Leicester+City+v+3SMx_Nb71Zvl

นี่จึงเป็นคดีแรกที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดคดีหนึ่งนับแต่ศาลนี้ได้ตั้งขึ้น คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐที่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และบริษัทเอกชนด้วย กรณีจึงเป็นประเด็นข่าวใหญ่ที่น่าสนใจ และจะเป็นอุทาหรณ์อย่างดี แก่บริษัทเอกชนทั้งหลาย หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐให้พึงสังวร ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีความเป็นมาอย่างไร มีอำนาจพิจารณาคดีอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่รัฐ และภาคธุรกิจเอกชนทั้งหลายควรศึกษาทำความเข้าใจ ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอต่อผู้อ่านเพื่อพิจารณา โดยถือเอากรณีศึกษาจากบริษัทคิงเพาเวอร์ เป็นอุทาหรณ์

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นศาลยุติธรรมชั้นต้นของไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 เปิดทำการเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 โดยมีนายอำนาจ พวงชมภู เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลคนแรก ซึ่งศาลอาญานี้ได้พัฒนามาจากแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลฎีกาที่เปิดทำการเมื่อปี 2558

pe

ซึ่งผู้เขียนจำได้ว่า บุคคลสำคัญยิ่งของบ้านเมืองคือฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษได้เคยพูดและให้สัมภาษณ์ไว้ในวาระโอกาสต่างๆ ถึงความคิดและความดำริของท่านที่อยากเห็นประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งศาลเช่นนี้ขึ้น เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งหลายที่นับวันทวีความรุนแรงขึ้น หลังการควบคุมอำนาจโดย คสช. ประเทศไทยจึงมีการจัดตั้งศาลนี้ขึ้น ซึ่งถือเป็นผลงานสำคัญเรื่องหนึ่งที่ควรแก่การยกย่อง ทำศาลอาญาคดีทุจริตนับวันแต่จะมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อสังคมไทย

ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 ได้บัญญัติให้มีอำนาจในการพิจารณาคดีดังนี้

(1) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หรืความผิดอื่นอันเนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ

(2) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่เกี่ยวเนื่องก้บความผิดตาม (1) หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือกฎหมายอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

slide_kingpower-1

(3) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษบุคคลในความผิดเกี่ยวกับการเรียก รับ ยอมจะรับ หรือให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจ หรือข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำการใด ตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น

(4) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลตามกฎหมายที่กำหนดให้เป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

(5) คดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลตาม (1) ถึง(4) ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้ใช้ ผู้สน้บสนุน หรือผู้สมคบ

(6) คดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีและเอกสารดังกล่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

(7) คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขี้นผิดปกติ

(8) กรณีที่มีการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องขอตาม(1)ถึง(7)

และคดีตามที่บัญญัติไว้ทั้งหมดดังกล่าว จะไม่รวมถึงคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว

kpipk_pics_021

ซึ่งเมื่อพิจารณาลักษณะคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวแล้ว คงมีข้อยกเว้นเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคดีที่อยู่ในอำนาจศาลครอบคร้วและเยาวชนเท่านั้น นอกจากนี้หากเป็นการทุจริตและประพฤติมิชอบ ของเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนที่บัญญัติไว้ตาม(1)ถึง(8) ล้วนอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลคดีทุจริตทั้งสิ้น จากเดิมที่คดีทำนองนี้ ต้องใช้กระบวนการของ ป.ป.ช.หรือหน่วยงานอิสระอื่นๆตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งล่าช้าและไม่เพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาการทุจริตที่หนักหน่วงรุนแรงอย่างยิ่งในสังคมไทย ศาลคดีทุจริตจึงเป็นทางเลือกใหม่อีกกลไกหนึ่ง ที่จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหามะเร็งร้ายในบ้านเมืองของเรา

คดีที่นายชาญชัย กับพวก ได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ต่อศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นับได้ว่าเป็นคดีตัวอย่างที่สำคัญอย่างยิ่ง พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ และการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชนดังกล่าว เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยถึงความถูกต้องสุจริตหรือไม่มาโดยตลอด

14303708931430370928l

แม้กรณีนี้จะเคยถูกบอกเลิกสัญญา และมีเหตุฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลมาแล้วครั้งหนึ่ง สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ก็มีการเจรจาถอนฟ้องกันไปในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คดีจึงไม่มีคำพิพากษา เมื่อมีคดีฟ้องร้องอีกครั้งต่อศาลคดีทุจริต โดยผู้ถือหุ้นและประชาชนเป็นโจทก์ จึงหวังว่าคดีคงมีการพิจารณาดำเนินคดีไปจนถึงที่สุด โดยกระบวนการพิจารณาของศาล อันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนผู้รักความยุติธรรม

คดีดังกล่าว นอกจากจะเป็นบทพิสูจน์สำคัญถึงการทำดีย่อมได้ดี คนทำผิดสมควรได้รับการลงโทษตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ประกอบการธุรกิจทั้งหลายว่า การทุจริตคดโกงหรือการค้าขายที่ไม่สุจริตนั้น อาจทำให้ท่านร่ำรวยมีทรัพย์สินเงินทอง ลอยหน้าลอยตาในส้งคมได้ชั่วขณะ แต่ไม่อาจทำให้ท่านร่ำรวยเสวยสุขได้ตลอดกาล วันหนึ่งเมื่อกฎหมายและกฎแห่งกรรมตามมาทัน ความพินาศล่มสลายหมดสิ้นทุกสิ่งอย่างจะมาเยือนท่านอย่างแน่นอน


คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน / หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ /ฉบับ 3278 ระหว่างวันที่ 13-15 ก.ค.2560 

E-BOOK แดง