จากธุรกิจแบตเตอรี่ สู่‘สตรอม’ มอ’ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์ไทย

14 ก.ค. 2560 | 10:21 น.
แบตเตอรี่เป็นหัวใจของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี (Electric Vehicle: EV) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก กล่าวกันว่า ราคาของแบตเตอรี่นั้นเป็นต้นทุนหลักของการผลิตรถอีวีคันหนึ่งๆ เลยก็ว่าได้ “บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด” เป็นหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่แบรนด์ไทยที่ครํ่าหวอดในวงการมายาวนานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะแบตเตอรี่ลิเธียมที่ใช้กับยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นในปี 2560 นี้ บริษัทจึงถือเป็นช่วงจังหวะสำคัญที่จะก้าวไปสู่อีกขั้นของพัฒนา การทางธุรกิจนั่นคือ การแตกไลน์สู่การออกแบบและผลิตจักรยาน ยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ที่ถือว่าเป็นแบรนด์ไทย 100%

“สมบูรณ์ อ่อนน้อม” ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเทคนิค บริษัท ออสก้า โฮลดิ้งฯ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นอกจากธุรกิจหลักเกี่ยวกับแบตเตอรี่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆแล้ว บริษัทยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า 2 ส่วนด้วยกัน นั่นคือ การออกแบบและผลิตยานยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลขนาดเล็ก ซึ่งเริ่มขึ้นราว 5 ปีที่แล้ว ภายใต้แบรนด์ “อีซี่ ทรานสพอร์เตอร์” ( EZZY Transporter) เป็นยานยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลขนาดเล็กที่สุด ลักษณะเหมือนเซ็กเวย์ ที่เป็นยานขับเคลื่อน 2 ล้อด้วยไฟฟ้า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นก่อนจะเข้าสู่ธุรกิจไลน์ที่ 2 นั่นคือ จักร ยานยนต์ไฟฟ้าในวันนี้

++สู่สนามมอเตอร์ไซค์อีวี
“สำหรับ EZZY Transporter ลูกค้าเป็นกลุ่มผู้ใช้งานทั้งในภาครัฐและเอกชน เช่นในท่าอากาศยาน คลังสินค้า ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ นั่นเป็นจุดเริ่มแรกของการพัฒนาแบตเตอรี่ไปใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าที่บริษัทออกแบบและผลิตเอง เราเริ่มจากยานยนต์ขนาดเล็กที่สุดก่อน ผลิตขายไปด้วยและเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนาแบตเตอรี่ไปด้วย จนสุดท้ายก็มั่นใจที่จะพัฒนาขึ้นไปอีกก้าว นั่นคือ การออกแบบและผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้าของเราเองภายใต้ชื่อ สตรอม (Strom) ซึ่งในภาษาเยอรมัน แปลว่า ไฟฟ้า”

หลังจากวิจัยและพัฒนามาเป็นเวลากว่า 2 ปี จักรยานยนต์ไฟฟ้า “สตรอม” สัญชาติไทย ก็เปิดตัวเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการในงานมอเตอร์โชว์เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยบริษัทเปิดตัวพร้อมกันถึง 6 รุ่น เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีรสนิยมและไลฟ์สไตล์แตกต่างกันออกไป แต่ที่เน้นเป็นพิเศษคือ 3 รุ่นดาวรุ่ง ได้แก่ ชีตาห์ (Cheetah) เป็นรถบิ๊กสกูตเตอร์ ทำความเร็วได้ถึง 115 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งได้ระยะทาง 175 กิโลเมตรเมื่อชาร์จไฟเต็ม อีกรุ่นคือ ดรากอนฟลาย (Dragonfly) เป็นมอเตอร์ไซค์ใช้งานอเนกประสงค์ จุดเด่นคือเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าคันแรกของไทยที่สามารถวิ่งได้ระยะทางถึง 245 กิโลเมตรเมื่อชาร์จไฟเต็ม วิ่งได้ที่ความเร็ว 70-75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถัดมาคือ เซลฟิช (Sailfish) เป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทรงคลาสสิก สำหรับคนที่ไม่ได้ต้องการขับไกลหรือขับเร็ว สามารถขับขี่ได้ง่ายๆ รูปลักษณ์เก๋ๆคลาสสิก สมรรถนะ คือ สามารถทำความเร็วที่ 50-55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ชาร์จ 1 ครั้งวิ่งได้ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร

[caption id="attachment_177904" align="aligncenter" width="377"] สมบูรณ์ อ่อนน้อม สมบูรณ์ อ่อนน้อม[/caption]

“จักรยานยนต์เป็นรูปแบบของยานยนต์ไฟฟ้าที่คนไทยใช้มากที่สุด จุดเด่นของมันคือการประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการเติมนํ้ามันเชื้อเพลิง เพราะมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสามารถเสียบปลั๊กไฟบ้านได้ตามปกติ ชาร์จไฟ 6-10 ชั่วโมงก็เต็มแล้ว วิ่งได้เป็นร้อยกิโลเมตร นอกจากนี้ยังไม่สร้างมลพิษ เสียงก็เงียบ ทำให้เรามีสมาธิในการขับขี่มากขึ้นด้วย”

สำหรับราคาเริ่มต้นของจักรยานยนต์ไฟฟ้าสตรอมนั้น เริ่มต้นที่คันละ 49,900 บาท (รุ่นเซลฟิช) ขณะที่รุ่นแพงสุด (ชีตาห์) ราคาอยู่ที่ 189,000 บาท สิ้นปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 300 คัน คาดว่าโปร ดักต์แชมเปี้ยนจะเป็นรุ่นเซลฟิช

++ชูงาน “บริการ”
การผลิตจะเป็นแบบ made by order โดย 40% คือโครงและบอดี้รถจะนำเข้าจากต่างประเทศ แต่หัวใจ (แบตเตอรี่) และสมองกล (ชุดควบคุม) ของรถเป็นของบริษัทผลิตเอง โดยใช้โรงงานส่วนขยายของโรงงานแบตเตอรี่ที่ถนนอ่อนนุชเป็นศูนย์ประกอบรถจักรยานยนต์สตรอม

เท่าที่ผ่านมา ตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามีรถที่นำเข้าจากประเทศจีนมายึดหัวหาดอยู่พอสมควรแล้ว ในแง่ของการแข่งขัน สตรอมจึงมองว่า “บริการ” จะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่นำมาใช้ช่วงชิงมาร์เก็ตแชร์ และเนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์ด้านแบตเตอรี่เป็นข้อได้เปรียบอยู่แล้ว ดังนั้นศูนย์ของสตรอมจะเป็นจุดที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามั่นใจได้ว่า สามารถหาแบตเตอรี่ที่สดใหม่ได้เสมอไม่ใช่แบตเตอรี่ที่นำมาสต๊อกค้างไว้นานๆที่ร้าน (เหมือนแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ทั่วไป) นอกจากนี้ ทางศูนย์ยังมีบริการเกี่ยวกับชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าทั้งคันของรถ) ที่บริษัทออกแบบและพัฒนาขึ้นมาเองเพื่อให้สามารถขับขี่รถได้นุ่มนวลขึ้น ประหยัดพลังงานจากแบตเตอรี่มากขึ้นและถนอมการใช้แบตเตอรี่ได้ยาวนานขึ้น ทั้งยังให้อัตราเร่งที่ดี “ที่สำคัญคือ เรากำหนดเกณฑ์ให้ลูกค้านำรถกลับมาเช็กระยะ ตามระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อฟื้นฟูสภาพแบตเตอรี่ เช่น ในช่วงปีแรกอาจต้องมาเช็ก 3-4 ครั้ง เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์บริการของสตรอมจะเป็นร้านค้าของตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ทั้งรายหลักที่เป็นดีลเลอร์ตามหัวเมืองใหญ่และรายย่อย ซึ่งจะมีชุดเครื่องมือทดสอบแบตเตอรี่ประจำสาขา และการฝึกอบรมควบคู่กันไปภายในสิ้นปีนี้จะมีดีลเลอร์ประมาณ 6 ราย เน้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560