รถมือ 2 คึกสภาพดีราคาโดน ชูแบรนด์แข็ง แคมเปญสู้-ไฟแนนซ์เอื้อ เต็นท์ฟื้น

15 ก.ค. 2560 | 11:00 น.
นายกสมาคมผู้ประกอบการรถใช้แล้วประ เมินตลาดมือ 2 คึกคัก คาดสิ้นปีเติบโต 7-8% ชี้รถเก๋ง-ปิกอัพ 4 ประตู เลขไมล์น้อย-ประกันยังเหลือได้รับความนิยมสูง-พร้อมระบุเต็นท์ทั่วไป-ค่ายรถแห่เปิดสาขาหวังรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น

ตลาดรถมือ 2 ตั้งแต่ปลายปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง เฉลี่ย 10-15% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อรถใหม่ หันมาเลือกซื้อรถมือ 2 แทน ขณะที่สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถใหม่ สวนทางกับสินเชื่อรถมือ 2 ที่มีหลายสถาบันที่ให้การสนับสนุน และผ่อนปรนเงื่อนไขในการเป็นเจ้าของรถง่ายกว่า

แนวโน้มรถมือ 2 ที่เติบโตทำให้ตลาดนี้กลับมามีความน่าสนใจมากขึ้น หลังจากอดีตที่ผ่านมาเต็นท์รถหลายรายต้องล้มหายตายจากเพราะประสบภาวะสต๊อกบวม-แบกรับภาระดอกเบี้ย อันเป็นผลมาจากนโยบายรถคันแรกที่ลูกค้าหันไปเลือกซื้อรถใหม่ แต่ปัจจุบันพบว่ามีผู้เล่นหลายรายเริ่มกระโดดเข้ามาร่วมวง ซึ่งจากการสำรวจของสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วพบว่า มีจำนวนเต็นท์รถทั้งรายใหญ่ รายย่อยกว่า 4,000 รายทั่วประเทศ ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสมาคมนั้นมีจำนวน 250 ราย

ขณะที่รถยนต์ที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าคือ รถยนต์นั่งที่ยังมีประกัน-สภาพป้ายแดง ซึ่งรถกลุ่มนี้จะมีราคาห่างจากรถใหม่ประมาณ 1-1.5 แสนบาท หรือประมาณ 10-15 % แล้วแต่สภาพ นอกจากนั้นแล้วรถปิกอัพ 4 ประตูจะขายดีกว่า 2 ประตู เพราะลูกค้ามีความกังวลใจเกี่ยวกับนโยบายรัฐเรื่องข้อจำกัดในการใช้รถปิกอัพ

“เศรษฐกิจไม่ดี รถมือ 2 ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับลูกค้า ที่จำเป็นต้องใช้รถ หรือต้องการความคุ้มค่าแต่เมื่อไรก็ตามที่เศรษฐกิจดี ลูกค้าก็จะหันไปซื้อรถใหม่แทน อย่างไรก็ดีประเมินว่าสถานการณ์ต่างๆในตลาดมือ 2 จะดีขึ้นในช่วงปลายปี เพราะตลาดรถใหม่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งหมายถึงรถใช้แล้วบางส่วนก็จะหมุนเวียนเข้ามาในตลาดรถมือ 2โดยเราคาดว่าตลาดในปีนี้จะเติบโตประมาณ 7-8 %” นายวิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะนายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”

ขณะที่ผู้ประกอบการที่บริหารงานผ่านบริษัทแม่ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ก็เพิ่มจำนวนสาขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งค่ายที่มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการมากสุดก็เป็นพี่ใหญ่อย่างโตโยต้า ที่ใช้ชื่อว่า โตโยต้า ชัวร์ มีจำนวนกว่า 122 แห่ง โดยเงื่อนไขในการเลือกซื้อรถจากที่นี้ จะมีรับประกัน 1 ปีหรือ 2 หมื่นกิโลเมตร, บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง, บริการเช็กระยะฟรี 2 ครั้ง ที่ศูนย์โตโยต้า ชัวร์ หรือศูนย์โตโยต้าทั่วประเทศ และให้บริการสินเชื่อจากโตโยต้าลีสซิ่ง

MP36-3278-1 จุดแข็งของโตโยต้าชัวร์ นอกเหนือจากแบรนด์ที่เข้มแข็ง-การสื่อสารการตลาดที่เข้มข้นแล้ว การมีจำนวนสาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และข้อเสนอทางการเงินที่ไม่แตกต่างจากรถใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยยกตัวอย่าง ดาวน์ 0% , ผ่อนนาน 72 -84 เดือน,ฟรีประกันภัยชั้น 1,ยืดระยะเวลารับประกันแบตเตอรี่สำหรับรถไฮบริด ทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้โตโยต้า ชัวร์มีภาษีเหนือแบรนด์อื่นๆ

ขณะที่ค่ายฮอนด้า เดิมในอดีตมี ฮอนด้า ออโต เทอร์เรซ แต่ปัจจุบันใช้ชื่อว่า ฮอนด้าเซอร์ติฟายยูสคาร์ (Honda Certified Used Car) มีสาขาให้บริการประมาณ 29 แห่ง และภายในสิ้นปีนี้จะขยายเพิ่มอีก 10 แห่ง โดยเงื่อนไขของฮอนด้า มีตั้งแต่ตรวจเช็กมาตรฐาน 200 รายการ, รับประกัน 1 ปี หรือ 2 หมื่นกิโลเมตร เป็นรถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 6 ปี หรือ 1.2 แสนกิโลเมตร, ไม่มีประวัติอุบัติเหตุชนหนัก,ไม่มีการดัดแปลงสภาพรถยนต์

ค่ายนิสสัน ก็เปิดตัว นิสสัน ยู คาร์ส เซอร์ทิฟาย แผนกรถใช้แล้วที่มีจำนวน 17 สาขา ส่วนเงื่อนไขการตรวจสอบก็ไม่แตกต่างจากค่ายอื่นๆ อาทิ ต้องเป็นรถที่ไม่มีประวัติอุบัติเหตุรุนแรง ไม่เคยซ่อมหนัก รถจดทะเบียนไม่เกิน 5 ปีหรือระยะทางใช้งานต้องไม่เกิน 1.5 แสนกิโลเมตร โดยบริษัทจะตรวจสอบและปรับสภาพเพื่อให้ได้รถที่ดีรวม 165 รายการตามมาตรฐานนิสสัน ยูคาร์ส ประเทศญี่ปุ่น,รับประกันคุณภาพ 170 จุด รับประกันคุณภาพ 1 ปี หรือ 2.5 หมื่นกิโลเมตร ,บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชม. 1 ปี ไม่จำกัดระยะทาง, ฟรีค่าแรงเช็คระยะ 2 ครั้ง ,บริการสินเชื่อจากนิสสัน ลิสซิ่ง

ส่วนน้องใหม่อย่างเอ็มจีก็ไม่ตกขบวน โดยปีที่ผ่านมาได้เปิดตัว “แอพพรูฟ เซอร์ติฟายด์ ยูส คาร์ บาย เอ็มจี” ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการ 3 สาขา ได้แก่ เลียบทางด่วนประดิษฐ์มนูธรรม, ราชพฤกษ์ และนนทบุรี ซึ่งตามแผนงานที่วางไว้จะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง แบ่งเป็นเขตกรุงเทพฯ 1 แห่ง และ ต่างจังหวัด 1 แห่ง

“การตั้งแผนกรถใช้แล้วเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าเอ็มจี โดยราคาขายต่อไม่ถูกกดให้ตํ่า ปัจจุบันราคาของเรากับท็อป แบรนด์ ต่างกันไม่มากเท่าไร เฉลี่ยแล้วอยู่ระดับกลางๆ ส่วนจำนวนรถมือ2 ที่เข้ามาในตอนนี้ถือว่าไม่มาก โดยรถที่เริ่มเข้ามาคือ เอ็มจี 3 ซึ่งเราตั้งเป้าหมายการขายรถใช้แล้ว 2-3% จากยอดขายรถใหม่” นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวและว่า

สำหรับแอพพรูฟ เซอร์ติฟายด์ ยูส คาร์ บาย เอ็มจี มีการการันตีว่าเป็นรถที่ไม่เคยประสบอุบัติเหตุหนัก ไม่ผ่านการดัดแปลง มีการรับประกันเพิ่มเติม 1 ปีหรือ 3 หมื่นกิโลเมตร ,รับประกันชิ้นส่วนสำคัญ 144 รายการ และยังได้รับบริการ แพสชั่น เซอร์วิส ที่ประกอบไปด้วย รถบริการตรวจเช็กเคลื่อนที่, บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง 4 ปี, บริการให้คำปรึกษาผ่านคอลล์เซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง และบริการรถสำรองใช้ระหว่างรอซ่อม

ถือเป็นตลาดที่เนื้อหอมไม่แพ้รถใหม่ ซึ่งนอกจากจะดึงดูดผู้ประกอบการรายย่อยหรือเต็นท์รถทั่วไปแล้ว ในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ก็ยังมีอีกหลายค่ายที่ให้ความสนใจที่เปิดแผนกดังกล่าว เพราะนอกจากจะช่วยรักษาระดับราคาขายต่อของรถแบรนด์ตนเองแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นการกระตุ้นการขายรถใหม่ไปในตัว เพราะลูกค้าที่นำรถเข้ามาเทิร์นที่โชว์รูมจะได้ราคาหรือข้อเสนอพิเศษเพื่อให้เป็นเจ้าของรถใหม่ได้ง่าย เรียกว่าวิน-วิน กันทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560