อนุมัติลงทุน 8.8 แสนล. EECTrack พีพีพี 4 โครงสร้างพื้นฐาน

11 ก.ค. 2560 | 23:24 น.
มีความคืบหน้าเป็นลำดับสำหรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี นับจากเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติการดำเนินงานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา วงเงินลงทุน 3.1 แสนล้านบาท และประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ ดึงดูดให้นักลงทุนให้เข้ามาลงทุน เพื่อยกระดับให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก
รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกกับการเชื่อมโยง 3 สนามบิน มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 2.15 แสนล้านบาท

-อนุมัติโครงการลงทุน
ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนอีอีซีเพิ่มเติม ในการพัฒนาท่าเรือนํ้าลึก3แห่งได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ รวมเงินลงทุนประมาณ 1.68 แสนล้านบาท รวมถึงการสร้างรถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมโยง 3 ท่าเรือดังกล่าว โดยมีระบบบริหารขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ เงินลงทุนราว 1.8 แสนล้านบาท

โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายฯ ชี้ให้เห็นว่า การขับเคลื่อนอีอีซีสามารถผลักดันนโยบายการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานออกมาเรียบร้อยแล้ว ที่จะก่อให้เกิดการลงทุนให้เม็ดเงินราว 8.8 แสนล้านบาท ถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่ารัฐบาลเดินหน้าอย่างเต็มที่ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเป็นการดำเนินงานในส่วนของการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมทุนกับภาครัฐหรือพีพีพีใน 4 โครงการ(ไม่รวมรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ) โดยจะให้นํ้าหนักหรือสัดส่วนการลงทุนจะเป็นของภาคเอกชนมากกว่าภาครัฐ เนื่องจากรัฐบาลไม่ต้องการใช้งบประมาณแผ่นดินลงทุนที่มากเกินไป หรือไม่อยากก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ที่สำคัญเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

-ไฟเขียววิธีการทำพีพีพี
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯครั้งนี้ ก็ได้เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน หรือระเบียบ EEC Track ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยกร่างขึ้นมาแล้วเพื่อยกระดับกฎหมายร่วมทุนในพื้นที่อีอีซี ให้เป็นมาตรฐานสากลมีความโปร่งใส และรวดเร็วมากขึ้น

TP11-speed-train โดยผ่านหลักการ5Cs เช่น การสร้างความชัดเจนในการพัฒนาโครงการและมาตรการส่งเสริมให้เอกชนร่วมลงทุนในอีอีซี การบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความซํ้าซ้อนไม่จำเป็น การดำเนินงานคู่ขนาน พร้อมรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนและภาครัฐในทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชนที่แท้จริง การเปิดเผยข้อมูล โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยให้รายงานและเปิดเผยข้อมูลโครงการให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสาธารณะรวมทั้งให้นำแนวทางและวิธีการในการดำเนินการป้องกันการทุจริตหรือข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ด้วยและการกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นและรับผิดชอบในความสำเร็จของโครงการ

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว จะสามารถช่วยลดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการเหลือเพียง 8-10 เดือน จากกรณีปกติ 40 เดือน และกรณี Fast Track 20 เดือน หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ 4 โครงการที่ร่วมทุนกับภาคเอกชนดังกล่าว จะสามารถจัดหาผู้เข้าร่วมประมูลโครงการได้อย่างช้าสุดไม่เกินต้นปี 2561 ซึ่งจะส่งผลให้การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะแล้วเสร็จในปี 2568 ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 จะแล้วเสร็จในปี 2567เป็นต้น

[caption id="attachment_176844" align="aligncenter" width="503"] อนุมัติลงทุน8.8แสนล. EECTrackพีพีพี4โครงสร้างพื้นฐาน อนุมัติลงทุน8.8แสนล. EECTrackพีพีพี4โครงสร้างพื้นฐาน[/caption]

-ประกาศเขตส่งเสริม 3 พื้นที่
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายฯ กล่าวอีกว่าส่วนการเตรียมพื้นที่ให้กับนักลงทุน ในเบื้องต้นการประชุมครั้งนี้ ก็ได้ประกาศให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 1,466 ไร่ ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ที่มาบตาพุด เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(สกรศ.) ไปประสานงานกับนิคมต่างๆ ที่มีที่ดินเหลืออยู่ประมาณ 1.2 หมื่นไร่ เพื่อกำหนดให้เป็นเขตส่งเสริมในการประชุมครั้งต่อไป

พร้อมทั้ง ประกาศให้บริเวณวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง จำนวน 3 พันไร่ รวมถึงพื้นที่บริเวณอุทยานรังสรรค์นวัตกรรม ขนาด 120 ไร่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ในส่วนของ บริษัท กสทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 709 ไร่ เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอลหรืออีอีซีดีด้วย

-กำชับดูแลสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนอีอีซีนายกรัฐมนตรี ได้มีการกำชับจากการพัฒนาโครงการต่างๆ จะต้องมีแผนเตรียมการรองรับผลกระทบด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงให้การพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านการเกษตรด้วย

โดยให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี ให้มีการปรับการเกษตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาของอีอีซีและให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่อีอีซี ได้รับความมั่นใจเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้กระทรวงคมนาคม เร่งรัดดำเนินการโครงการรถไฟทางคู่เชื่อมโยงจากอีอีซีต่อไปยัง ทวาย-ย่างกุ้ง-ติลาวา เชื่อมโยงไปจนถึงอินเดีย ด้วย
ทั้งนี้ จากที่มีการดำเนินงานมา นายคณิศ มั่นใจว่า การลงทุนที่จะเกิดขึ้นจริงในช่วง 5 ปี(2560-2564) จะมีเม็ดเงินจริงลงทุนได้กว่า 5 แสนล้านบาท และหลังจากนี้ไปจะดำเนินการเร่งชักจูงนักลงทุนอย่างเต็มที่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560