‘เพซ’เสี่ยง SCB เฝ้าระวัง อัดเพิ่ม 3 พันล.

10 ก.ค. 2560 | 09:20 น.
เพซ ดีเวลลอปเมนท์เขย่าขวัญระบบธนาคาร เจ้าหนี้รุมจับตาชำระหนี้ ไทยพาณิชย์หนาวสุดแบกหลายพันล้าน ประชุมเครียดขึ้นบัญชีต้องเฝ้าระวังแล้ว ล่าสุดปล่อย 3,000 ล้าน คืนหนี้บี/อีกว่า 2 พันล้านและหุ้นกู้ 300 ล้าน

แหล่งข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารเจ้าหนี้ของ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE จับตาและควบคุมหนี้อย่างใกล้ชิดเพราะไม่แน่ใจว่าบริษัทจะมีความสามารถในการชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน(บี/อี)และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเร็วๆนี้ได้หรือไม่เกรงว่าจะซํ้ารอยบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่เบี้ยวหนี้

สำหรับเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ฯ คือ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ มูลหนี้หลายพันล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการธนาคารเห็นว่าหนี้เริ่มมีความเสี่ยงจึงให้จัดชั้นอยู่ในกลุ่มที่เฝ้าระวัง (watch risk) หรือต้องควบคุมอย่างใกล้ชิดเนื่อง จากบริษัทมีหนี้ค่อนข้างสูง โครงการลงทุนใหญ่มีความเสี่ยงมากขึ้นในภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ดี
“ระดับบนได้เรียกเคสเพซไปดูแล้ว และให้เฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษ” แหล่งข่าวกล่าว

ที่ผ่านมาเพซได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ในสมัยที่ นายอาทิตย์ นันทวิทยา เป็นรองผู้จัดการใหญ่และเป็นผู้ลงนามในสัญญาเงินกู้วงเงิน 5,400 ล้านบาท สนับสนุนการก่อสร้างโครงการมหานคร มูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาทให้แล้วเสร็จ และเมื่อปี 2558 ได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเซ็นสัญญาปล่อยกู้อีก 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท สำหรับการซื้อกิจการ “ดีน แอนด์ เดลูก้า” แบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มกูร์เมต์ชั้นนำของโลก

ด้านนายณัฐพล ลัคนลาวัณย์ รองผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบัญชีและการเงิน บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมความพร้อมด้านแหล่งเงินทุน หลังจากมีกระแสธุรกิจผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี โดยขอให้ธนาคารไทยพาณิชย์สนับสนุน และได้วงเงินกู้มาอีกจำนวน 3,000 ล้านบาท สามารถรองรับแผนการดำเนินงานได้ 18 เดือน โดยเตรียมไว้ชำระหนี้ที่ครบกำหนดภายใน 1-2 เดือนนี้ แบ่งเป็นบี/อี กว่า 2,000 ล้านบาท และหุ้นกู้ 300 ล้านบาท

ในส่วนหนี้โดยรวม ที่ผ่านมามีการทยอยชำระหนี้ไปมากแล้ว หนี้ในส่วนของโครงการมหานครทั้งหมด 6,000 ล้านบาท ปัจจุบันลดลงเหลือไม่ถึง 2,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ซื้อกิจการ “ดีน แอนด์ เดลูก้า” ก็มีการเพิ่มทุนมาชำระหนี้ลงมาเหลือ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท และมีการต่ออายุออกไปอีก 1-2 ปี

“ปัญหาของเพซไม่ได้เกิดจากธุรกิจ แต่เมื่อมีข่าวหนี้บี/อีก็มีผลต่อบริษัท เราเป็นพันธมิตรที่ดีกับธนาคารไทยพาณิชย์ มีการพูดคุยกันมาโดยตลอด มีการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยให้วงเงินกู้มาเพิ่ม เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้า” นายณัฐพลกล่าว
ส่วนการเป็นพันธมิตรกับบริษัท ซิติคคอนสตรัคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)ฯ ในกลุ่มซิติค คอนสตรัคชั่น กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จากประเทศจีนนั้นนายณัฐพลกล่าวว่า เป็นเพียงการเซ็นเอ็มโอยูเบื้องต้น ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาแต่อย่างใด แต่คาดว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นการลงทุนในแต่ละโครงการมากกว่า

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า เพซ ดีเวลลอปเมนท์ มีตั๋วเงินระยะสั้น ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2560 มียอดยกมาจำนวน 4,467 ล้านบาท มีการเสนอขาย 540 ล้านบาท และไถ่ถอนจำนวน 920 ล้านบาท คงเหลือยอดคงค้าง 4,087 ล้านบาท ความเคลื่อนไหวก่อนหน้านั้น ในเดือนเมษายนมีการเสนอขาย 1,405 ล้านบาท และมีการไถ่ถอนในจำนวนเท่ากัน และในเดือนมีนาคม เสนอขาย 1,715ล้านบาท มีการไถ่ถอน 1,105 ล้านบาท

ส่วนหุ้นกู้ของเพซที่จะครบกำหนดเร็วๆนี้ คือ วันที่ 24 กรกฎาคม 2560มีมูลค่า 300 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5.8% และหุ้นกู้อีก 1,100 ล้านบาทจะครบกำหนดวันที่ 3 ตุลาคม ดอกเบี้ยคงที่ 5.5% ต่อปีในปี 2561 จะถึงกำหนด 5 ชุด อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 5% บางรุ่นถึง 6% โดยมีธนาคารทหารไทยเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ทั้งหมด

ด้านภาระหนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 มีหนี้สินหมุนเวียนสูงถึง 20,934 ล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียนมีทั้งสิ้น 7,190 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1/2560 มียอดขาดทุนสะสม 5,801 ล้านบาท หลังจากไตรมาส 1 ขาดทุนสุทธิ 575 ล้านบาท ปี 2559 ขาดทุน 2,326 ล้านบาท และ 1,785 ล้านบาท ในปี 2558

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560