ก.ล.ต.เพิกถอนพนง.แบงก์ยูโอบี 10 ปี ฮุบเงินลูกค้ากองทุน

07 ก.ค. 2560 | 10:47 น.
ก.ล.ต.สั่งเพิกถอนผู้นำแนะการลงทุนด้านหลักทรัพย์แบงก์ยูโอบี 10 ปี นำเงินลูกค้าซื้อกองทุนไปจ่ายค่าเบี้ยประกันลูกค้ารายอื่นและใช้ส่วนตัว

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนให้ความเห็นชอบผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ นางสาวพจมานย์ สุพรหม สังกัดธนาคาร ยูโอบี จำกัด (มหาชน) เป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต กระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของลูกค้า และสร้างหลักฐานเท็จ

ก.ล.ต.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้าธนาคารยูโอบีหลายราย และรายงานการตรวจสอบของธนาคารยูโอบีจึงตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นางสาวพจมานย์นำเงินค่าซื้อกองทุนของลูกค้าสองราย ไปจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนลูกค้ารายอื่นและนำไปใช้จ่ายส่วนตัว จนเมื่อทราบว่าลูกค้ารายหนึ่งได้ไปร้องเรียนกับธนาคาร จึงได้นำเงินไปคืน ต่อมายังพบว่านางสาวพจมานย์หลอกลวงลูกค้าที่ต้องการซื้อกองทุนอีกรายหนึ่ง โดยนำเงินสดที่ลูกค้าถอนออกมาไปเข้าบัญชีลูกค้ารายอื่น และได้ทำสำเนาใบคำสั่งซื้อกองทุนซึ่งมิได้มีการบันทึกรายการจริงมอบให้แก่ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสำคัญผิดว่าได้ทำรายการเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตามการกระทำของนางสาวพจมานย์เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยกระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของผู้ลงทุน และจัดทำเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อลวงให้ลูกค้าเข้าใจว่ามีการซื้อกองทุนตามความประสงค์แล้ว เป็นความผิดตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต. จึงมีคำสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ของนางสาวพจมานย์ เป็นเวลา 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ทั้งนี้ ธนาคารยูโอบีได้เลิกจ้างและดำเนินคดีกับนางสาวพจมานย์ รวมทั้งชดใช้เงินคืนให้ลูกค้า และได้เร่งปรับปรุงแก้ไขระบบงานที่บกพร่อง พร้อมทั้งกำหนดวิธีปฏิบัติให้มีความรัดกุมขึ้นแล้ว

ก.ล.ต. ขอแจ้งเตือนผู้ลงทุนว่า เพื่อป้องกันการทุจริตในการซื้อกองทุน ผู้ลงทุนไม่ควรชำระค่าซื้อด้วยเงินสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากซื้อในจำนวนที่สูง ควรใช้วิธีการถอนและโอนเงินจากบัญชีเงินฝากเข้าบัญชีธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และเมื่อชำระค่าซื้อแล้ว ผู้ลงทุนควรตรวจสอบหลักฐานที่ได้รับมา เช่น สำเนาใบคำสั่งซื้อที่ต้องพิมพ์จากระบบงานกองทุน หรือได้รับการยืนยันรายการผ่าน SMS หรือ email ของธนาคารหรือ บลจ. นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ลงทุนมีสมุดบัญชีกองทุน ควรนำเล่มไปปรับปรุงรายการในวันทำการถัดไปทุกครั้งด้วย