ปักธงโรงไฟฟ้า-คาเฟ่อเมซอน ปตท.รุกฆาตแดนปลาดิบ

10 ก.ค. 2560 | 04:08 น.
กลุ่ม ปตท.นอกจากจะเป็นผู้นำธุรกิจนํ้ามันอันดับ 1 ของประเทศแล้ว ยังได้ขยายสู่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศอย่างขนานใหญ่ ในนามบริษัท โกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)หรือ GPSC นอกจากนี้ยังรุกเข้าสู่ธุรกิจที่ไม่ใช่นํ้ามัน(Non-Oil)ซึ่งถือเป็นการสร้างแบรนด์ของกลุ่มปตท.มีหลากหลายธุรกิจ

อย่างไรก็ดีเพื่อให้เห็นภาพความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ปตท.ในต่างประเทศมากขึ้น ระหว่างวันที่ 2-7 กรกฎาคมที่ผ่านมาบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)ได้นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานการรุกธุรกิจพลังงานไฟฟ้าทดแทน และชมศักยภาพการสร้างแบรนด์ของกลุ่ม ปตท. ณ ประเทศญี่ปุ่น

 

[caption id="attachment_176059" align="aligncenter" width="503"] เทวินทร์ วงศ์วานิช เทวินทร์ วงศ์วานิช[/caption]

-Q4จ่ายไฟเข้าระบบญี่ปุ่น
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของกลุ่ม ปตท.ในนาม GPSC ในญี่ปุ่น นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ ปตท.แจงว่า ตั้งอยู่ ณ เมืองอิชิโนเซกิ (ในนามบริษัท อิจิโนะโซกิ โซล่า พาวเวอร์ 1 จีเค หรือ ISP1) โดยได้เข้าไปลงทุนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มูลค่าการลงทุน1 หมื่นล้านเยน หรือกว่า 3,000 ล้านบาท ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในช่วงการติดตั้งแผงโซลาร์ ซึ่งแล้วเสร็จไปประมาณ 30% โรงงานจะมีกำลังการผลิต 20.8 เมกะวัตต์ คาดจะแล้วเสร็จและส่งไฟฟ้าเข้าระบบเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับบริษัท Tohoku Electric Power ซึ่งเป็นบริษัทสาธารณูปโภคญี่ปุ่นได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยได้รับอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ (FIT) 40 เยนต่อหน่วย(หลังหักภาษี)มีอายุสัญญา 20 ปี

สำหรับเหตุผลที่กลุ่ม ปตท.เข้าไปลงทุนโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น เนื่องจาก 1.กระแสของการผลิตพลังงานในโลกนี้ได้มุ่งไปสู่พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นก็ให้การสนับสนุน และ 2.ธุรกิจไฟฟ้าในญี่ปุ่นเป็นตลาดที่เปิดเสรี และค่าไฟฟ้าเป็นไปตามกลไกตลาด

TP8-3277-C -จ่อโครงการ2-พ่วงขายแบต
ดร.เติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ISP1 แล้ว บริษัทยังมีแผนลงทุนโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 (ISP2)ในพื้นที่ติดกัน ขนาดกำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุนใกล้เคียงกับโครงการแรกที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท
ล่าสุดอยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ผลสรุปน่าจะตัดสินใจได้ภายในปีนี้และใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปี นอกจากนี้ทางกลุ่ม ปตท.ยังได้เตรียมแผนต่อยอดโครงการในการรุกเข้าสู่ธุรกิจกักเก็บพลังงานไฟฟ้าสำรอง(เอนเนอร์ยีสตรอเรจ)ในญี่ปุ่นด้วย

-อาเบะช่วยโปรอเมซอน
ขณะที่ในการเยี่ยมชมร้านคาเฟ่อเมซอนแห่งแรกในญี่ปุ่น สาขาคาวากุจิ จังหวัดฟุกุชิม่า ได้เปิดตัวไปแล้วก่อนหน้านี้เมื่อประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2559โดย ปตท.ขายสิทธิ์แฟรนไชส์ให้กับบริษัท โคโดโม เอเนอร์จี จำกัด โดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. กล่าวถึงที่มาที่ไปว่า เดิมทีหมู่บ้านคาวากุจิแห่งนี้มีร้านกาแฟซึ่งเป็นร้านแห่งเดียวของที่นี่ แต่หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงและเกิดคลื่นยักษ์สินามิ มีอุบัติเหตุเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รั่วไหลตามมาเมื่อหลายปีก่อนทำให้ร้านกาแฟแห่งนี้ต้องปิดตัวไป ผู้คนอพยพออกไปอยู่ที่อื่น การเปิดร้านคาเฟ่อเมซอน ณ สถานที่นี้จึงเป็นหนึ่งในความหวังที่จะทำให้หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้กลับมาคึกคักและมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ทั้งนี้เป็นที่น่ายินดีว่านายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นได้นำคณะมาเยี่ยมชมและดื่มกาแฟที่ร้านแห่งนี้เมื่อวันที่ 1 กรกฎคมที่ผ่านมา โดยใช้เวลาร่วม 1 ชั่วโมง ถือเป็นเกียรติอย่างมากที่ร้านกาแฟแบรนด์ของไทยได้รับความสนใจ อีกทั้งร้านกาแฟแห่งนี้ยังใช้เมล็ดกาแฟจากโครงกรหลวงของไทยด้วย

[caption id="attachment_176057" align="aligncenter" width="377"] ยาซูโนริ อิวาโมโตะ ยาซูโนริ อิวาโมโตะ[/caption]

-เป้า3 ปีผุด100สาขา
ส่วนนายยาซูโนริ อิวาโมโตะ ประธานบริษัท โคโดโม เอนเนอร์จี จำกัด ผู้ผลิตแผ่นเซรามิกเรืองแสง กล่าวว่า เหตุที่ได้ตกลงทำสัญญาแฟรนไชส์เพื่อบริหารร้านคาเฟ่อเมซอนในญี่ปุ่นกับกลุ่ม ปตท.ในครั้งนี้จากมีความตั้งใจแน่วแน่ว่า อยากมีส่วนร่วมในการทำให้พื้นที่นี้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ และหวังจะมีคนแวะเวียนมาดื่มกาแฟและทานอาหารที่ร้านแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งร้านกาแฟในญี่ปุ่นมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน ที่เด่นดังเช่นStarbucks และ Tullys ที่มีอยู่เป็นพันสาขาในญี่ปุ่น รวมถึงแบรนด์ส่วนบุคคลก็มีจำนวนมาก ดังนั้นการเปิดสาขาคาเฟ่อเมซอนจึงจำเป็นต้องมีการนำเสนอ Story เพื่อไม่ให้แพ้เจ้าอื่น

อย่างไรก็ดีจากจุดเริ่มต้นสาขาแรกที่ไม่ได้หวังผลกำไรจะต่อยอดเชิงธุรกิจมากขึ้น โดยนายยาซูโนริเผยว่ามีแผนจะขยายสาขาร้านคาเฟ่อเมซอนเพิ่มเติมในญี่ปุ่นแน่นอน แต่ยอมรับก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เบื้องต้นสิ้นปีนี้คาดจะเปิดได้ทั้งหมด 4 สาขา(รวมสาขาคาวาอุจิ) ส่วนอีก 3 สาขาได้แก่ที่โชนัน ฟุกุโอกะ และโอซาก้า และในอีก 3 ปีนับจากนี้ตั้งเป้าจะขยายให้ได้มากกว่า 100 สาขาทั่วเกาะญี่ปุ่น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560