ที่นี่ไม่มีความลับ : เตือน “บิ๊กตู่” อย่ากลัวรัฐสภา

05 ก.ค. 2560 | 11:32 น.
1498625976411

ที่นี่ไม่มีความลับ 
โดย : เอราวัณ

เตือน “บิ๊กตู่” อย่ากลัวรัฐสภา 

Parliament หรือรัฐสภาที่มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลตามตัวว่า "ที่พูด" เพราะใช้เป็นที่ชุมนุมของผู้แทนประชาชนในการถกแถลงปัญหาและการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับคนในสังคมที่จำเป็นจะต้องมีการถกเถียงให้มากที่สุดเพื่อความรอบคอบ

20170228043822_l

ดังนั้นการเมืองในทุกระบบจำเป็นต้องมีรัฐสภาไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือลากตั้ง แม้กระทั่ง “ยุครัฐประหาร” อย่างปัจจุบันก็ยังมีสภานิติบัญญัติทำหน้าที่รัฐสภา

แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้จะถูกตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แต่ดูเหมือนว่าคสช.เองจะเลือกไม่ใช้บริการสักเท่าใด

กลับเลือกใช้อำนาจบริหารในอำนาจนิติบัญญัติเสียเอง นั่นคือการหลีกเลี่ยงการออกพระราชบัญญัติอยู่เนืองๆ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เลือกที่จะใช้มาตรา 44 หรืออก “พระราชกำหนด” โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบต่อรัฐสภา แม้จะเป็นสภาที่ตนตั้งขึ้น

20170221023720

แม้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน จะกำหนดวิธีการออกกฎหมายว่าต้องผ่านรัฐสภา แต่หลายครั้งหลายหนที่ท่านผู้นำเลือกที่จะไม่ใช้บริการนี้และหันมาใช้วิธีการที่ไม่ต้องผ่านรัฐสภา

จึงเกิดความไม่รอบคอบ นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์และชักเข้า-ชักออกในการประกาศใช้กฎหมายหลายครั้ง เช่น การใช้ ม. 44 ให้มีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพียง 2 สัปดาห์ก็มีการประกาศ ม.44 ยกเลิกการสรรหาศาลรัฐธรรมนูญ หรือการใช้ม.44 ในการแก้กฎหมายเพื่อการประมูลรถไฟความเร็วสูงที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า "เอื้อทุนจีน" มากไป

20170221023719

ล่าสุดการออก “พระราชกำหนด” เรื่องแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จนเกิดการอพยพแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ และนำมาสู่การจะผ่อนผันไม่บังคับใช้พระราชกำหนดนี้ออกไปอีก 180 วัน ปรากฎการณ์เหล่านี้บอกได้ชัดเจนว่าการให้อำนาจคนหรือคณะบุคคลเพียงหยิบมือมาใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติในเวลาเดียวกัน โดยไม่มีการคานอำนาจกันนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

การออกกฎหมายจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผ่าน “ที่พูด" หรือ parliament แม้ว่าเป็นสภา ที่คสช.ตั้งขึ้นก็ยังดีกว่าการที่คสช.ใช้อำนาจโดยลำพัง อย่างน้อยยังได้รับเสียงสะท้อนจาก 250 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ บ้างก็ยังดี

20170221023723

อดคิดไม่ได้ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ รอบ 2 อำนาจใจการใช้ ม.44 หมดลง การออกกฎหมายต้องผ่านรัฐสภาที่มีผู้แทนทั้งจากเลือกตั้งและลากตั้งผสมกัน ทั้งยังจะมีการตั้งกระทู้ และการอภิปรายการทำงานของรัฐบาล ผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จะทนแรงกดดันในรัฐสภาได้ไหวไหม

การเมืองไทยจะย้อนยุคไปช่วงรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์(พศ.2523-2531) ที่จะใช้การยุบสภา-ลาออก ตั้งรัฐบาลบ่อยหรือไม่?

20170221023724

เป็นคำถามที่นักวิเคราะห์การเมืองมองเป็นเหตุผลหลักว่าจะเป็นเหตุที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ไม่คิดเล่นการเมืองหรือเป็นนายกฯอีกรอบ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจจากรัฐบาลยึดอำนาจสู่รัฐบาลหลังเลือกตั้ง เพราะ "ท่านถนัดพูดคนเดียวมากกว่าฟังคนอื่น (ในสภา) พูด"

แน่นอนเพื่อนพ้องน้องพี่ผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งเสริม-ผลักดันเต็มกำลังให้ยังคงอำนาจต่อไป เพราะคนเหล่านั้นจะได้ประโยชน์แห่งการเกาะเกี่ยวอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าท่านชอบ parliament หรือที่ (คนอื่น) พูดหรือไม่

คอลัมน์ :  ที่นี่ไม่มีความลับ /หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3276 ระหว่างวันที่ 6-8 ก.ค.2560

E-BOOK แดง