รถไฟฟ้า 5 ส่วนต่อขยายรฟม.วัดใจครม.ปลายปีนี้

08 ก.ค. 2560 | 03:00 น.
ลงนามสัญญาก่อสร้างกันไปเรียบร้อยแล้วสำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ตะวันออก) สายสีชมพูและสายสีเหลืองโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคาดว่าจะมีการเปิดพื้นที่ก่อสร้างให้เห็นเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะถนนแจ้งวัฒนะ ลาดพร้าว พระราม 9 และรามคำแหง ที่จะส่งผลกระทบด้านการจราจร

ล่าสุดรฟม.และกองบังคับการตำรวจจราจร(บก.จร.) ได้เริ่มประชาสัมพันธ์เนิ่นๆ เพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือวิกฤติจราจรบนถนนพระราม9-รามคำแหงที่จะมีการปิดทางยกระดับในช่วงก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 นี้เป็นต้นไป

[caption id="attachment_174889" align="aligncenter" width="380"] รถไฟฟ้า5ส่วนต่อขยายรฟม.วัดใจครม.ปลายปีนี้ รถไฟฟ้า5ส่วนต่อขยายรฟม.วัดใจครม.ปลายปีนี้[/caption]

นอกจากรถไฟฟ้า 3 สายที่ผ่านการเซ็นสัญญาไปแล้วก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างในปลายปีนี้รฟม.ยังมีลุ้นเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อีก 5 สายในโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงปลายปีนี้ ได้แก่ สายสีนํ้าเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงินกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท สายสีเขียวเข้ม(บีทีเอส) ช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท, ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท สายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท และสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท

โดยสถานะปัจจุบันสายสีนํ้าเงินยังอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) พร้อมกับรายละเอียดเรื่องพ.ร.บ.ร่วมทุนฯพ.ศ.2556 สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู และช่วงคูคต-ลำลูกกา อยู่ระหว่างการหารือความชัดเจนกับกรุงเทพ มหานคร ที่จะก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถ เช่นเดียวกับสายสีส้มผลการพิจารณาผลกระทบประชาชนชาวชุมชนประชา สงเคราะห์-ห้วยขวางยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่รฟม.หวังว่าเมื่อเปิดให้บริการจะนำผู้โดยสารมาป้อนเติมเต็มให้กับช่วงเตาปูน-บางใหญ่เพิ่มขึ้นนั้นก็ยังต้องลุ้นการพิจารณาร่วมทุนฯปี 2556 อีกเช่นกัน

ดังนั้นปี 2560-2561 ก็คงยังต้องลุ้นผลกระทบด้านการจราจรของการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆโดยเฉพาะ 3 เส้นทางที่จะเริ่มก่อสร้างในปลายปีนี้ อีกทั้งปลายปี 2561 ยังมีก่อสร้างเพิ่มเข้ามาอีก 5 เส้นทางส่วนต่อขยายดังกล่าว โดยเฉพาะเส้นทางในโซนนอกเมืองและในเมืองบางส่วน ชาวกทม.คงต้องอดทนอีก 4-5 ปีสภาพการเดินทางของคนกทม.ก็จะดีขึ้นพร้อมกับการที่รัฐบาลเร่งปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนอื่นๆเพื่อป้อนให้กับรถไฟฟ้าในแต่ละเส้นทางให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560