เปิดแผนพัฒนาที่ราชพัสดุธนารักษ์จัดทัพขับอีอีซี-ศก.พิเศษ

09 ก.ค. 2560 | 00:37 น.
“ผมเข้ามาตอนปลายของปีงบ ประมาณ 2560 ช่วงที่เหลือจึงเป็นการเดินตามนโยบายซึ่งกระบวนทำงานเดินหน้ามาแล้ว 70-80% ขณะที่นั่งรองปลัดกระทรวงการคลังก็ได้เห็นการทำงานของแต่ละกรมกองและเป็นกรรมการหลายหน่วยงานจึงได้เริ่มสานงานทันที ขณะที่นโยบายของรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายใน โดยเน้นเรื่องเขตเศรษฐกิจ และผลักดันการลงทุนโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)”

“พชร อนันตศิลป์” อธิบดีกรมธนารักษ์ เกริ่นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ช่วงต้นของการสัมภาษณ์ถึงแนวทางการทำงานของกรมธนารักษ์ยุคผลัดใบกลางฤดูโยกย้าย

พชร กล่าวว่า กรมธนารักษ์รับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 จังหวัด ตอนนี้ได้เข้าไปติดตามดูความคืบหน้าแต่ละจังหวัดมีความคืบหน้าอย่างไร เพื่อกรมธนารักษ์จะได้ช่วยในการผลักดันให้เร็วขึ้น

[caption id="attachment_174691" align="aligncenter" width="335"] “พชร อนันตศิลป์” อธิบดีกรมธนารักษ์ “พชร อนันตศิลป์” อธิบดีกรมธนารักษ์[/caption]

กรณี “ท่าเรือคลองใหญ่” จังหวัดตราด หลังจากใช้เงินงบประมาณ 1,200 ล้านบาทก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ตอนนี้ยังอยู่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า ซึ่งกำลังพิจารณาว่าอาจจะไม่รอให้กรมเจ้าท่าส่งมอบกรมธนารักษ์แต่จะส่งคืนให้กรมเจ้าท่าดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือนำเข้าพระราช บัญญัติ (พ.ร.บ.)ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) เพราะท่าเรือคลองใหญ่ตั้งอยู่ชายแดนจังหวัดตราด มีขนาดพื้นที่กว้างขวางเหมาะใช้ทั้งเรื่องความมั่นคง เชิงพาณิชย์ ท่องเที่ยวอยู่ในท่าเรือเดียวกันภายในพื้นที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้า 3 ท่าและพร้อมรองรับเรือระวางขนาดกลาง เรือตรวจการณ์ และมีด่านอากรครบ

นอกจากนี้ยังมีท่าเรืออีก 34 แห่งตามแม่นํ้าเจ้าพระยา ซึ่งติดมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นท่าเรือสาธารณะตามกรมเจ้าท่าเสนอ แต่ข้อเท็จจริงปัจจุบันมีการคมนาคมขนส่งขนส่งซึ่งมีความต้องการให้เปิดใช้จากภาคเอกชน จึงทำหนังสือถึงกรมเจ้าท่าประมาณ 3 สัปดาห์เพื่อขอให้ปลดล็อกมติครม.ทั้งหมด และยังมีท่าเรือตามอ่าวไทยหรือท่าเรือนํ้าลึกที่สร้างเสร็จแล้วไม่มีผู้เช่า

“ตอนนี้เฉพาะ 34 ท่าเรือเก็บค่าบำรุงรักษาเท่านั้น ซึ่งกรมเจ้าท่าสร้างเสร็จแล้วยกให้กรมธนารักษ์แต่ปัจจุบันติดมติครม.จึงต้องให้กรมเจ้าท่าปลดล็อกท่าเรือสาธารณะ โดยส่วนตัวมองกรมธนารักษ์เป็นแลนด์ลอร์ดไม่ควรดำเนินการเองเพราะที่ผ่านมาทำเองก็ขาดทุน ส่วนจะรองบประมาณค่อนข้างช้า ซึ่งควรจะทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อใช้ประโยชน์ทรัพยากรให้เต็มประสิทธิภาพ”

++เร่งเคลื่อนอีอีซี-เขตศก.
อย่างไรก็ตามที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น คืบหน้าค่อนข้างมากรวมถึงการพิจารณาอัตราค่าเช่าที่ดินรายปีของแต่ละพื้นที่ ซึ่งกรมธนารักษ์กำหนดแปลงที่ดินสำหรับให้เอกชนและหน่วยงานรัฐพัฒนาใช้ประโยชน์ ภายใต้หลักเกณฑ์และขั้นตอน โดยที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ผ่านมายกเว้นค่าเช่าที่ราชพัสดุสำหรับผู้ได้รับเลือกและลงทุนก่อสร้างภายในปี 2560 จะให้ส่วนลดอัตรา 10% ของมูลค่าโครงการเป็นเวลา 2 ปี ส่วนการลงทุนที่จะเกิดในปี 2561 จะได้รับส่วนลด 1 ปี

ส่วนภาคใต้คงเหลือจังหวัดสงขลา ประมาณ 1,000 ไร่ ส่วนหนึ่งให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) 870 ไร่ ที่เหลือ 150 ไร่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) สงขลา สำหรับจุดขนส่งสินค้าหน้าด่านสะเดา ซึ่งกรรมการจังหวัดเจรจากับผู้เช่าเดิมคาดว่าจะจบภายในเดือนกรกฎาคมนี้

สำหรับที่ราชพัสดุในอีอีซีนั้น พื้นที่ประมาณกว่า 7,000 ไร่ ขณะนี้กำลังเตรียมจัดสรรที่ดินเพิ่มเติมอีกประมาณ 2,000-3,000 ไร่ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างนครนายกกับปราจีนบุรี โดยเรื่องจัดสรรพื้นที่อีอีซีน่าจะหมดแล้ว คงเหลือการพัฒนาหน้างานจริง ซึ่งเมื่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.ที่เสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาก็กลับไปดำเนินการตามกฎหมายใหม่ได้เลย

++เดินหน้าเคลียร์รายใหญ่
ส่วนความคืบหน้าเจรจาผู้เช่ารายใหญ่ในที่ราชพัสดุ บริษัทท่าอากาศยานไทยฯ (ทอท.) คาดว่าจะสรุปภายในเดือนกรกฎาคมนี้ อยู่ระหว่างรอเคาะอัตราและขนาดพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่นเดียวกับโรงกลั่นของบริษัทไทยออยล์ฯ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ว่าจ้างมหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษาอิสระคำนวณอัตราเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐและไทยออยล์ ซึ่งเป็นพันธมิตรมากว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งข้อตกลงในชั้นกรรมการร่วมทุนปี 2535 แนวทางคำนวณจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1. คิดอัตราค่าผู้เช่าใหม่กับผู้เช่าเก่า และ 2. อัตราผู้เช่าเก่า ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ขัดแย้งกัน

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวถึงแผนพัฒนาที่ราชพัสดุ 3 โครงการใหญ่ว่า ที่ราชพัสดุบริเวณศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์กับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนอัยการตรวจสอบร่างสัญญาซึ่งเป็นการต่อสัญญาเดิม จึงต้องตรวจสอบเพื่อให้พัฒนาบนฐานเดิม จะไม่มีการก่อสร้างใหม่ แค่ปรับปรุงเท่านั้น

++100ชัก3-หมอชิต ยึดสัญญาเดิม
สำหรับที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต และที่ราชพัสดุบริเวณตรอกโรงภาษีร้อยชักสามทั้ง 2 โครงการดำเนินการมาเนิ่นนานหลายยุค คือ “คุยกันมาร่วม 20 ปี จะให้ผมดูเดือนเดียวจบก็อัศจรรย์เกินไป” จึงขอเวลาดูรายละเอียดและอาจลงพื้นที่ดูหน้างานเพื่อดูความชัดเจนก่อน และในหลักการนั้นต้องเดินตามสัญญาเดิม

“หน้าที่ของที่ราชพัสดุต้องทำควบคู่ทั้งมิติรายใหญ่และมิติรายย่อย เพราะส่วนหนึ่งเป็นเป้าหมายในการสร้างรายได้ของ กรมโดยปีนี้ยืนยันน่าจะมีรายได้ตามเป้า 7,200 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2561 คาดว่าจะเป็นไปตามกำหนดให้เพิ่มรายได้เป็น 8,000 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560