ปักกิ่ง"นครแห่งอนาคต" Fb เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas

03 ก.ค. 2560 | 08:16 น.
ปักกิ่ง"นครแห่งอนาคต"
Fb เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas

ภาพเอนก-1

ผม"ไป"ปักกิ่งครั้งแรก นานมาแล้ว เมื่ออยู่ชั้นมัธยมต้นราวปี 2510 ไปด้วยการอ่านนะครับ อ่านหนังสืออย่างดูดด่ำ "ปักกิ่งนครแห่งความหลัง" ของ สด กูรมะโรหิต ยังจำภาพสดใสของหนุ่มสาวชาวไทย-รัสเซียขาว ที่มาพบกัน รักกัน แต่ไม่นานความเศร้าก็มาเยือน จำต้องพรากจากกัน ความรักซึ้งความโศกล้ำนี้เกิดขึ้นในนครหลวงที่เก่าแก่ ซึ่งแม้จะดูสง่างามในบางพื้นที่ แต่ก็คร่ำคร่า ทรุดโทรม และล้าหลัง เป็นส่วนใหญ่ ปักกิ่งมีแต่อดีต หาอนาคตไม่ได้ รอคอยวันพินาศ หรือ วันที่จะถูกต่างชาติเข้ายึดครอง นั่นคือสภาพของจีนหลังจากรัสเซียตกเป็นคอมมิวนิสต์ สด กูรมะโรหิต บรรยายถึง "หิมะ" ที่ขาวโพลนอยู่ทั่วหลังคาของวัด วัง และ กลบสีดำหรือเทาของกำแพงเมืองจนไม่เหลือ วังเวง ครับ นั่นคือปักกิ่งก่อนที่ญี่ปุ่นจะบุกยึด

กว่าผมจะได้ไปปักกิ่งจริงๆ ก็ตกเข้าไปถึงปี 2535-2536 แล้ว และ จากนั้นมาจนถึงขณะนี้ ปี 2560 ในรอบ 24-25 ปีมานี้ ผมไปเยือน ไปเที่ยว ไปดูนครนี้มาไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง ไปแต่ละครั้งมันใหญ่ขึ้น ทันโลกขึ้น เขียวสดชื่นขึ้น และอย่างรวดเร็วมากด้วย ปักกิ่งมหานครทุกวันนี้ ตรงข้ามกับที่ สด กูรมะโรหิต เคยให้ภาพไว้ มันไม่ใช่ " นครแห่งความหลัง" อีกแล้ว หากเป็นเมืองหลวงของจีนที่เป็นมหาอำนาจเบอร์สองของโลก แต่ใหญ่กว่า ทันสมัยกว่านิวยอร์คและวอชิงตันของสหรัฐ ที่จริงใหญ่กว่าทุกเมืองหลวงอื่นใดในโลก มีถนนใหญ่โต มีพื้นที่สีเขียวมากมาย มีตึกระฟ้ามหึมาสง่างาม มีพิพิธภัณฑ์ โรงละคอน หอดนตรี และสนามกีฬามากมาย อยู่เคียงคู่กับจตุรัส"เทียนอันเหมิน" คู่กับวัดวังและกำแพงเมืองโบราณ ทั่วทุกบริเวณในปักกิ่งแลล้วนสดใสใหม่เจริญรุ่งเรือง แทบทุกที่ดูสะอาด โอ่โถง สะดวก ปลอดภัยมากประชาชนสามารถเคลื่อนที่ไปทั่วนครได้อย่างง่ายดาย ปักกิ่งมหานครวันนี้มีประชากรราว 30 ล้าน มากกว่าโตเกียวเสียอีก ที่ชอบใจอีกอย่าง ที่ใดที่เป็นสาธารณสถาน ที่นั่นมี"ไวไฟ" ให้ใช้ฟรีครับ ปักกิ่งใช่เพียงแต่จะ"ทันโลก" หาก จริงๆ "ล้ำโลก" และกลายเป็น "นครแห่งอนาคต"ไปแล้ว

ภาพเอนก-2

ผมไปปักกิ่งเที่ยวนี้ ได้คุยกับผู้คนผู้นำหลายวงการ ตระหนักถึงความรวดเร็วและความสามารถของจีนที่เข็นเอาดันเอา จน One Belt One Road ของเขากลายเป็นที่สนใจของโลกได้ ในขณะเดียวกันที่เมืองไทยเราก็มีกระแสติติงวิจารณ์รัฐบาลที่ยอมใช้ "ม 44 " เพื่อ "อ่อนข้อ" ให้บริษัทจีนได้สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯ-โคราช ที่รัฐบาลจีน "กดดัน" มา เกิดเป็นความคิดว่าจีนไม่ใช่เป็นแค่"เพื่อนบ้าน"หรือ "ญาติ" หากเป็น "มหาอำนาจ" ที่จะครอบงำ เอาประโยชน์จากไทยมากเกินไป หรือจะเอาแต่"ฝ่ายเดียว"
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนอธิบายให้คณะเราฟังว่า ก่อนอื่นทางการจีนไม่ได้"กดดัน" ไทยด้วยการไม่เชิญนายกรัฐมนตรีไทยไปงานซัมมิทผู้นำในกลุ่มประเทศ One Belt One Road ที่เพิ่งผ่านไปไม่กี่อาทิตย์มานี้ อันที่จริงแล้วจีนวางแผนประชุมและได้เริ่มเชิญผู้นำต่างประเทศมาซัมมิทนี้ตั้งหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีปัญหาใดๆ กันในเรื่องรถไฟ แต่ในช่วงนั้น ก็บังเอิญเป็นช่วงที่ในหลวง ร 9 สวรรคตพอดี จีนจึงไม่รบกวน นายกฯประยุทธ์ ตระหนักว่าผู้นำไทยคงติดภาระงานพระบรมศพ แต่จีนก็ได้เรียนเชิญท่านเข้าร่วมประชุม BRICS ซึ่งจะเริ่มล่ากว่า หลังจากนี้ไปอีกสักพักหนึ่ง

เจ้าหน้าที่ชั้นสูง ชั้นกลาง ของจีนที่เราคุยด้วยค่อนข้างจะตกใจในความคิดความอ่านของสาธารณชนไทย ความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้น จีนถือว่าดีเลิศมาตลอด จึงกังวลใจไม่น้อยที่เกิดกระแสไม่พอใจจีนในเรื่องรถไฟตามแผนการ One Belt One Road ผู้ใหญ่บางท่านถึงกับสื่อว่าถ้าไทยไม่ต้องการรถไฟ จีนก็ไม่มีปัญหา และยืนยันว่า One Belt One Road นั้น เป็นเรื่องของทุกชาติสมาชิก ไม่ใช่ของจีน จะสร้างจะทำอะไร ย่อมต้องให้เกิดประโยชน์และเหมาะสมกับทั้งสองฝ่าย หรือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และจะเร็ว จะช้า แค่ไหนก็ตกลงกันได้ จีนนั้น"ไม่ใช่ยักษ์ไม่ใช่มาร" แน่ ขออย่าห่วงเลย และย้ำว่าไทยอยากชวนจีนทำอะไร หรือให้จีนช่วยอะไร อย่างไร ก็เจรจากันได้เสมอ ที่จับได้จากการสนทนา: จีนรับฟังเสียงบ่นเสียงวิจารณ์ ทั้งเป็นห่วงรัฐบาลไทยที่ถูกคนไทยจ้องจับตาอยู่ และที่สำคัญที่สุด ปริวิตกในอารมณ์ความรู้สึกทางลบของคนไทย

พวกเราพยายามชี้ว่าขอให้จีนเข้าใจคนไทยด้วย จีนนั้นใหญ่โต เข้มแข็ง และร่ำรวยแล้ว จะขยับเขยื้อนอะไรชาติเล็กกว่าก็ย่อมเกรงและวิตก เรื่องรถไฟสำหรับจีนนั้นย่อมเป็นเรื่องเล็กๆ เพราะจีนทำเรื่องใหญ่มาจนเป็นปกตินิสัย ในอดีตก็เคยทำกำแพงยาวถึงหกพันกิโลเมตร เคยขุดคลองเชื่อมเหนือใต้ยาวกว่าสองพันกิโลเมตร ปัจจุบันทำเขื่อนสามผาที่ใหญ่ที่สุดในโลกกั้นแม่น้ำแยงซีก็ทำได้ ทำรถไฟความเร็วสูงและรถไฟใต้ดิน นับด้วยความยาวรางรถไฟก็ยาวมาก ยาวกว่าของญี่ปุ่นและสหรัฐ ยาวกว่าของยุโรปทั้งทวีปรวมกันด้วยซ้ำ ส่วนไทยนั้น เราคุ้นกับการคิดแค่พอตัว ทำแค่พอตัว เห็นอะไรใหญ่ๆ ก็ไม่ผลีผลามทำ คิดแล้วคิดอีก และในไทยนั้น บางครั้งทำอะไรก็ไม่ง่าย เพราะแทบทุกเสียง ทุกความเห็น ล้วนมีความหมาย
ท่านครับ ไทยคบกับจีนตั้งแต่เราเป็นประเทศเล็กที่พอมีพอกิน ส่วนจีนนั้นใหญ่แต่ยากจน สี่สิบปีผ่านไป แน่นอนเราขยับขึ้น กลายเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ส่วนจีนนั้น ไม่ต้องพูดถึง พุ่งพรวดทะยานลิ่วขึ้นเป็นมหาอำนาจหมายเลขสองของโลกไปแล้ว จะรักจะชัง จะร่วมมือ หรือไม่ อย่างไร เขาคือมหาอำนาจที่อยู่ใกล้กับเรามากๆครับ อเมริกามหามิตรนั้นจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ห่างเราครึ่งโลก เป็นประเทศหนึ่งในโลกที่อยู่ไกลเรามากที่สุด จีนยกย่องเรามาตลอด ทั้งถวายความเคารพนับถือแด่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ของเราเป็นอย่างสูง และไม่ควรลืมว่าในงานพระบรมศพ ร 9 คืนแรกๆ นั้น เอกอัครราชทูตจีนยืนเคียงข้างคนไทยในยามวิปโยคโศกเศร้า แจกอาหารและเครื่องดื่มให้คนไทยที่ไปกราบพระบรมศพ

ภาพเอนก-3

ทุกข์ยากคราใดจีนยืนอยู่กับเราตลอด ตั้งแต่คราววิกฤต "ต้มยำกุ้ง" จนถึง ภัยพิบัติ "สึนามิ" อย่าลืมนักท่องเที่ยวชาวจีนหลายล้านคนต่อปีที่ยืนหยัดอยู่กับเรา ไหลเข้ามาหนุนในยามที่เศรษฐกิจเรามืดมนโตแค่ 0.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี บัดนี้พวกเขายังมากันเพิ่มขึ้นอีกเป็นสิบล้านคนต่อปี จะหนุนช่วยให้เราโตจนเกินสามเปอร์เซนต์ต่อปีได้

ยิ่งกว่านั้น หลายปีมาแล้ว เมื่อครั้งผมไปเยือนกองทัพจีนร่วมกับผู้ใหญ่ของไทย ซึ่งรู้เห็นอะไรมาตั้งแต่จีนจะทำสงคราม"สั่งสอน"เวียดนาม ท่านเล่าอะไรบางอย่างให้คนไทยและจีนในงานต้อนรับได้ฟังอย่างจับใจ ความตอนหนึ่ง "ความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้นในช่วงแรกนั้น เหมือนปลูกต้นไม้ที่รดน้ำครั้งแรกด้วยเลือดเนื้อชึวิตของทหารจีนนับหมื่นที่ทำสงครามกดดันเวียดนามทางตอนเหนือ เพื่อลดแรงกดดันชาตินั้นต่อไทยเราทางชายแดนที่ติดเขมร" ท่านผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย ครับ และทุกวันนี้เวียดนามและเขมรก็กลับมาเป็นมิตรดีกับไทยแล้ว แต่ลองพินิจดูสักนิด ครับ โดยเฉพาะท่านที่อายุน้อยกว่าห้าสิบปี จะพิจารณาแต่ปัจจุบันโดยไม่รู้อดีตเลย ย่อมจะไม่พอเพียงครับ

สิ่งใดที่ไทยควรจะรีบทำ: อย่าทำแต่เพียงรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีนเท่านั้น หากต้องคิดหาโครงการดีๆ สักอย่างที่"เข้าที" ที่สุด อันจะทำให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางของสุวรรณภูมิ จากมุมมองของไทยเอง นะครับ เช่น ทำถนนหลวงและเส้นทางรถไฟความเร็วปานกลางเชื่อมทะวายของพม่าผ่านไทยเข้าพนมเปญต่อไป จนไปสุดที่โฮจิมินห์ กลายเป็นเส้นทางบกใหญ่เชื่อมร้อยสี่ประเทศ พร้อมกับที่เป็นแลนด์บริดจ์ขนาดยาวเหยียดเชื่อมสองมหาสมุทร รับรองว่าจะย่นเวลาการขนส่งข้ามสองมหาสมุทรสำคัญของโลกได้มากกว่าการขุดคลองกระเสียอีก จะเป็นโครงการมหึมาขนาดไหน ก็ยังได้ จะเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้วยก็ได้ เพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจ 4.0 ก็ได้ หรือจะไปสู่ "หลั่นล้าอีโคโนมี"ด้วย ก็ได้ สุดแท้แต่จะคิด แต่จะต้องคิดจากความใฝ่ฝัน และจากความตั้งใจของเราเอง แล้วเสนอให้จีนมาช่วยเรา มาประสาน เชื่อมโยงเข้ากับ One Belt One Road ของจีน แต่มันจะเป็น"ของเรา" ครับ ไม่ใช่"ของจีน" แต่ก็เชื่อว่าจีนพร้อมจะหนุนช่วย จะร่วมมือ และ จะสนับสนุน
ผมกลับจากปักกิ่ง ตระหนักว่าอนาคตของโลกนั้นจะขึ้นกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ เราต้องเร่งเรียนรู้จีน อย่าคิดว่าเข้าใจเขาแล้ว จีนทุกวันนี้นำโลกมากขึ้นทุกที ไม่เหมือนกับเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว หรือกระทั่ง เมื่อ 5-10 ปีที่แล้ว ยิ่งคนจีนวัยหนุ่มสาว อายุ 30-40 ยิ่งต้องรีบรู้จักเขา เพราะอีก 10-20 ปี ข้างหน้า พวกเขาคือผู้นำจีน ซึ่ง ถึงตอนนั้นแล้ว จีนอาจเป็นหมายเลขหนึ่ง หรือ จีนกับอเมริกาจะสูสีกันมากในเรื่องดุลย์อำนาจระดับโลก จะเป็นทางเศรษฐกิจ หรือ การเมือง หรือ การทหาร ก็ตาม

ภาพเอนก-4

ปักกิ่ง ศูนย์กลางแห่งอำนาจรัฐของจีน ย่อมจะเป็น "นครแห่งอนาคต" ที่เราคนไทย นักธุรกิจไทย นายทหารไทย ผู้นำขั้นสูงของไทย ควรไปเยือน ไปเข้าใจ ไปให้สม่ำเสมอ