'เศรษฐกิจ' ติดหล่ม!  20 ปี ลดค่าเงิน ไม่พ้นกับดักหนี้

02 ก.ค. 2560 | 04:57 น.
ผลข้างเคียงจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ภายหลังการลดค่าเงินบาทมา 20 ปี จนฐานะการเงิน การคลัง ดีขึ้น แต่กลับทำให้เศรษฐกิจไทยกลับเดินไปสู่กับดักแห่งการเป็นหนี้ของรายย่อย และการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างช้าๆ

วันที่ 2 ก.ค. 2540 ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่คนไทยทุกคน ต่างพานพบกับความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จากที่กำหนดอัตราตายตัวไว้ที่ 25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ  อันเป็นผลพวงจากวิกฤติค่าเงิน วิกฤติสถาบันการเงิน วิกฤติการคลัง และวิกฤติฟองสบู่

'เศรษฐกิจ' ติดหล่ม!  20 ปี ลดค่าเงิน ไม่พ้นกับดักหนี้




ผลกระทบที่ตามมาจากการลอยตัวค่าเงินบาท ได้สร้างรอยแผลบาดลึกในภาคเศรษฐกิจ  ภาคธุรกิจ ประชาชน ตลอดจนผู้บริหารรัฐบาลอย่างหนักหน่วง

มหาเศรษฐี นักธุรกิจ เจ้าของกิจการบริษัท นายธนาคาร ต่างจนลงในพริบตา จากหนี้สินต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วไปยืนที่ระดับ 40-50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หลายคนต้องปิดกิจการ ถูกยึดทรัพย์สินทั้งที่ดินและบ้าน

'เศรษฐกิจ' ติดหล่ม!  20 ปี ลดค่าเงิน ไม่พ้นกับดักหนี้



ประชาชนที่เป็นลูกจ้างถูกลอยแพจำนวนมาก จากการปิดกิจการ หลายคนต้องหันไปขับแท็กซี่ หลายคนต้องหวนกลับไปทำไร่ ไถนา

แม้แต่รัฐบาลไทยก็ตกอยู่ในสภาวะของการล้มละลาย ต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) 17,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกเจ้าหนี้บีบคอให้ต้องขายทรัพย์สิน แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตัดงบประมาณรายจ่ายจนกระดิกกระเดี้ยไม่ได้

20 ปีผ่านไป นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ได้ตั้งวงเสวนาระดมความคิดเห็นเพื่อถอดบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้ง

ที่น่าประหลาดใจคือ ผู้รู้ต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ผู้ประกอบการไทย หน่วยงานสำคัญด้านเศรษฐกิจ ได้ปรับโครงสร้างการทำงาน ปรับโครงสร้างหนี้กันขนานใหญ่ มีการสร้างกลไก กติกาทางด้านการเงิน การคลัง การควบคุมการปล่อยกู้ การจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เครดิตบูโรแห่งชาติ ฯลฯ  จนเข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้ง จนได้รับการเชิดชูจากธนาคารโลกว่า ฐานะทางการคลังและระบบสถาบันการเงินของไทยเข้มแข็งที่สุดในโลก

'เศรษฐกิจ' ติดหล่ม!  20 ปี ลดค่าเงิน ไม่พ้นกับดักหนี้

แต่ผลข้างเคียงจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ กลับทำให้เกิดปัญหาอีกด้าน ปัญหาหนี้สินที่เคยจำกัดวงอยู่กับเจ้าของบริษัท เจ้าของกิจการ กลับคืบคลานมาถึงตัวบุคคลรายย่อย และครัวเรือน ที่นับวันจะรุนแรงขึ้น จากการกู้หนี้ยืมสินที่ง่ายขึ้น

พิษสงจากการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่สะท้อนถึงความมั่งคั่งของคนในชาติกลับถดถอยลงเรื่อยๆท่ามกลางความเข้มแข็งทางการคลัง จากที่เคยเติบโตในระดับ 8-9% กลับเติบโตได้แค่ 0.8-3%

เศรษฐกิจไทยที่เคยขยายตัวรวดเร็ว ราคาสินทรัพย์ที่เคยปรับตัวร้อนแรงในอดีตกลับเดินเข้าสู่ภาวะการชะลอตัวอย่างยาวนาน และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ
ชะงักงัน

จนหลายคนต่างยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในภาวะ Slow walk ที่ทุกคนแนะนำว่า รัฐบาลควรเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปภาษี การปฏิรูปกฎระเบียบแบบบูรณาการ เพื่อดึงดูดการลงทุนให้ขยายตัว...เพื่อให้เศรษฐกิจพร้อมที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง