ทางออกนอกตำรา : เร่งสร้าง...หอชมเมืองกรุงเทพฯ

30 มิ.ย. 2560 | 14:42 น.
1498833453490

ทางออกนอกตำรา 
โดย : บากบั่น บุญเลิศ 

เร่งสร้าง...หอชมเมืองกรุงเทพฯ  

มติครม.รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เห็นชอบให้เอกชนดำเนินการก่อสร้าง “หอชมเมือง” บนที่ดินราชพัสดุ โดยให้เอกชนในนามมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เช่าที่ดินแปลงหมายเลข กท.3257 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 4.2 ไร่เศษ แปลงที่ติดแม่นํ้าเจ้าพระยา เช่าระยะยาว 30 ปี คิดค่าเช่า 198 ล้านบาท หรือตกปีละ 6.6 ล้านบาท โดยไม่ต้องประมูลการเช่า

os7m4vijdBzAS8jrwwR-o
สร้างความคึกคักในทางการเมือง และความเห็นในโลกโซเชียลมีเดียกันอย่างหนักหน่วง ในลักษณะของการตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลนายกฯลุงตู่จึงใจดี เปิดทางให้กลุ่มเอกชนเช่าที่ดินราชพัสดุ ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  โดยไม่ใช้วิธีการประมูลเหมือนโครงการอื่นๆ

นอกจากนี้ การออกมติดังกล่าวเท่ากับเป็นการขัดกับหลักการของกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์ เกี่ยวกับที่ดินราชพัสดุ พ.ศ.2545 ข้อ 26 ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า “การเช่าที่ราชพัสดุจะต้องใช้วิธีการประมูล”

แต่ ครม.นายกฯลุงตู่ กลับยกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษ โดยอ้างว่า มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ดำเนินการเช่าที่ราชพัสดุในครั้งนี้โดยไม่ต้องประมูล เพราะการเช่าที่ราชพัสดุในพื้นที่แปลงดังกล่าวก็เพื่อใช้ในกิจการอันเป็นสาธารณกุศลที่ไม่ได้มุ่งหาผลกำไร เลยยกเว้นว่าไม่ต้องประมูล ตามข้อ 26 (6)  การเปิดทางให้เช่าที่ราชพัสดุของมูลนิธิหอชมเมืองฯ ในราคาที่ถูกแสนจะถูกในทำเลทองริมแม่นํ้าเจ้าพระยา โดยไม่มีคู่แข่งขันราคาค่าเช่าใดๆ จึงถูกกระพือพัดออกไปในวงกว้าง

1rmGeUQTGxi4

หลายคนลากไปถึงกลุ่มแมกโนเลีย กลุ่มซีพี กลุ่มไอคอนสยาม กลุ่มสยามพิวรรธน์ ที่เข้ามาเป็นกรรมการมูลนิธิ

เรื่องนี้คนที่ดูแลโครงการตั้งแต่ต้นคือ กรุงเทพมหานคร น่าจะให้คำตอบดีว่าทำไม...เพราะสภากทม.นี่แหละคือต้นตอของความคิดนี้ที่จะสร้างสัญลักษณ์ของเมืองไทย จึงมีการจุดพลุกันมาตั้งแต่ปี 2557 ก่อนจะสรุปว่า ให้เอกชนทำ และเอกชนก็ควรดำเนินการในรูปของมูลนิธิ เพราะกทม.ไม่มีงบพอที่จะนำมาก่อสร้าง อีกทั้งการลงทุนก้อนโตเพื่อส้างสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวและแลนด์มาร์กของประเทศนั้น จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจริงในระยะที่ยาวมาก

นั่นจึงนำมาซึ่งการเจรจาหาเอกชนมาร่วมลงขันกันตั้งเป็นมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพฯ

ว่ากันว่า มีการเจรจากันร่วม 10 ครั้งกับบรรดาเจ้าสัวของเมืองไทย เพื่อหาเงินมาลงขันทำกันให้เป็นรูปเป็นร่าง

เรื่องทั้งหมดมาลงเอยกันตรงที่มาเจราจากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และรัฐบาลลุงตู่ที่กำลังผลักดันศาสตร์พระราชาของไทยออกไปให้ขจรขจายไปทั่วโลก การคิกออฟโครงการจึงเดินหน้ามาตั้งแต่ปี 2559 ก่อนมีการเปลี่ยนตัว ประธานมูลนิธิ มาเป็น พนัส สิมะเสถียร

ว่ากันว่าโครงการนี้มีเอกชน บรรดาเจ้าสัวชื่อดังของประเทศไทยร่วมกันลงขันกันแล้ว 2,300 ล้านบาท เหลืออีก 2,300-2,500 ล้านบาทที่เจรจากับธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อขอกู้เงิน

ล่าสุดเมื่อ วันที่ 8 มิถุนายน 2560 ธนาคารไทยพาณิชย์ ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะนายทะเบียนการขอจัดตั้งมูลนิธิ เพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริงว่าการที่ “มูลนิธิกู้ยืมเงิน 2,500 ล้านบาท ได้หรือไม่ การทำนิติกรรมกู้ยืมเงิน ตลอดจนการจำนองและการก่อหลักประกันมีผลผูกพันกับมูลนิธิตามกฎหมายหรือไม่ ขัดวัตถุประสงค์หรือไม่"

ข้อมูลของผมระบุว่า คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 พิจารณาแล้ว ไฟเขียวไม่ขัด และกู้ได้ เพราะมีการแก้ไขวัตถุ ประสงค์ของมูลนิธิในบางข้อให้สามารถกู้เงินได้ ใครจะว่าอย่างไรผมไม่รู้ แต่ขอบอกว่า โครงการในลักษณะนี้หากปล่อยให้มีการประมูลไป...รับประกันเกิดยาก

โครงการลงทุนก้อนโตแบบนี้มันทำกำไรในระยะสั้นยากมาก แม้ค่าเช่าที่จ่ายให้กรมธนารักษ์แค่ปีละ 198 ล้านบาท แต่การใช้เงินกว่า 4,600 ล้านบาท ที่มาจากทั้งการกู้เงินและเงินบริจาคของเอกชนนั้นมีดอกเบี้ย คิดแค่ปีละ 7%

นั่นหมายถึงว่า เสียดอกเบี้ยปีละ 175 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ใครหน้าไหนจะมาลงทุน

ผมเชื่อของผมว่า เงินที่มูลนิธินำมาลงทุน 4,600 ล้านบาท คงไม่มีใครบ้าไปแลกกับข้อครหาว่าไปส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ไอคอนสยามแน่นอน

ผมเชื่อของผมว่า หอชมเมืองกรุงเทพฯนี่แหละจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย ที่สามารถดึงนักลงทุนให้เข้ามาประเทศไทย นอกจากวัดพระแก้ว วัดโพธิ์ ถนนข้าวสาร

เพราะถ้าเทียบกับหอชมเมืองทั่วโลกของไทยก็ไม่เบา ความสูงติดอันดับ 6 จาก 10อันดับของโลก  Tokyo Skytree จุดสูงสุด 634 เมตร จุดชมวิวสูงสุด 450 เมตร, Canton Tower (Guangzhou) จุดสูงสุด 595.70 เมตร จุดชมวิวสูงสุด 449 เมตร ,CN Tower โตรอนโต แคนาดา จุดสูงสุด 553.33 เมตร,Ostankino Tower กรุงมอสโก รัสเซีย จุดสูงสุด 540 เมตร, Oriental Pearl Tower เซี่ยงไฮ้ จุดสูงสุด 468 เมตร

Bangkok Observation Tower หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จุดสูงสุด 459 เมตร มีจุดชมวิวสูงสุด 357.50 เมตร   Kuala Lumpur Tower กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย จุดสูงสุด 421 เมตร จุดชมวิวสูงสุด 276 เมตร,Tianjin Radio and Television Tower เมืองเทียนจิน ประเทศจีน จุดชมวิวสูงสุด 415 เมตร Central Radio & TV Tower กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน จุดชมวิวสูงสุด 410 เมตร, Zhongyuan Tower เมืองเจิ้งโจว ประเทศจีน จุดชมวิวสูงสุด 388 เมตร

คุณล่ะคิดอย่างไร...?

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา/หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3275 ระหว่างวันที่ 2-5 ก.ค.2560 

E-BOOK แดง