ขจัดไขมัน สร้างกล้ามเนื้อ

03 ก.ค. 2560 | 23:10 น.
TP13-3275-c หากเปรียบเทียบองค์กรธุรกิจเป็นร่างกายมนุษย์แล้ว สิ่งที่ทำให้ร่างกายไม่สมส่วน เทอะทะ และอุ้ยอ้าย ไม่กระฉับกระเฉง คือไขมัน นึกภาพคนที่มีไขมันมากเกินไปจนอ้วนนั้นจะเป็นคนไม่แข็งแรง เจ็บป่วยบ่อย ถ้าหากวิ่งแข่งกับคนอื่นก็ยากที่จะชนะ เปรียบเหมือนธุรกิจที่มีส่วนที่เกินความจำเป็นหรือไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้สร้างคุณค่า (Value) ดังนั้นการเปลี่ยนส่วนที่ไม่มีประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ เหมือนกับร่างกายที่เปลี่ยนไขมันเป็นกล้ามเนื้อแทน ก็จะทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตตามแนวคิดแบบการขจัดสิ่งไม่ดีออกไป เรียกว่า Leanproductionซึ่งเป็นกระบวนการลดของเสียที่มีอยู่ให้น้อยที่สุด ปกติมักจะพูดถึงการลดของเสียและลดวัสดุสิ้นเปลืองในกระบวนการผลิต ลดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์ หรือลดระยะเวลาในการผลิตหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กร ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

หลักการลดการสูญเสียจำง่ายๆ ด้วยคำว่า TIMWOODโดยแต่ละตัวมีความหมาย ดังนี้

T : Transportation : หลีกเลี่ยงการขนย้ายสินค้าโดยไม่จำเป็น เพราะมีผลต่อความเสี่ยงทั้งสินค้าเสียหาย สูญหายหรือล่าช้า ซึ่งมีผลต่อต้นทุนและไม่ได้เพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า

I : Inventory : พยายามหลีกเลี่ยงการเก็บสต๊อคสินค้า วัตถุดิบ เพราะมีผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้นจากการสูญหาย ล้าสมัย หรือเน่าเสีย แนวคิดของ Just-in-time จะช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ได้

M : Motion : หลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรหรือคนงานในกระบวนการผลิต เพราะจะสูญเสียเวลา ซึ่งการออกแบบกระบวนการผลิตที่ดีจะช่วยลดการสูญเสียเวลาด้านนี้ลง

W : Waiting : กระบวนการผลิตไม่ต่อเนื่อง หรือหยุดชะงัก เป็นช่วงๆ ก็จะมีเครื่องจักรบางเครื่องทำงานโดยเปล่าประโยชน์หรือคนงานบางคนอยู่เฉยๆ เสียเวลาไปเปล่าๆ

O : Over-processing : เครื่องจักร เครื่องมือที่ใช้ เหมาะสมพอควร ไม่ใช้เครื่องมือที่มากหรือแพงเกินความจำเป็น

O : Over-production : การผลิตสินค้ามากเกินความต้องการของลูกค้าเพื่อการป้องกันความเสี่ยงที่ของจะขาดในระยะสั้น ดังนั้นต้องประมาณการความต้องการของลูกค้าให้ดี หากของเหลือ จะเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยเปล่าประโยชน์

D : Defect : ของเสียหรือของที่ไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า มีผลต่อต้นทุนและการสูญเปล่าของธุรกิจ

ถ้านึกถึงภาพตัวเองเป็นเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวสักร้าน หากจะประยุกต์แนวคิด Lean production ในการจัดการร้าน ต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งหากเป็นผม จะเริ่มจากการวางผังร้าน ว่าโต๊ะสำหรับลูกค้านั่งต้องมีระยะห่างเท่าไร กำหนดเส้นทางจารจรในร้าน โดยเฉพาะพนักงานที่ทำความสะอาดโต๊ะเมื่อลูกค้าทานเสร็จแล้วจะเดินไปเก็บชามที่ต้องล้างอย่างไร อุปกรณ์การทำก๋วยเตี๋ยวสะอาด ปลอดภัย แต่ต้องไม่อลังการ เหมาะสมกับร้านเล็กๆ และการวางอุปกรณ์ทั้งหมดต้องวางตรงหน้าผมซึ่งเป็นคนปรุงก๋วยเตี๋ยวและผมสามารถยืนอยู่เฉยๆ แล้วเอื้อมมือถึงของทุกอย่างที่ใช้ในการปรุงก๋วยเตี๋ยว หากถนัดมือขวา หม้อลวกเส้นและซุปต้องอยู่ทางขวามือ วัตถุดิบที่ต้องใช้จัดเป็นหมวดหมู่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ถั่วงอก เครื่องปรุงวางตรงหน้าเรียงจากผักชี ถั่วลิสง พริกป่น น้ำตาล น้ำปลา หรือซีอิ้วสูตรลับ ต้องวางเรียงเพื่อให้ตักง่าย ไม่สับสนและเร็วการที่ทำให้ผมเคลื่อนไหวน้อยและขยับตัวไม่มาก ทำให้ลดเวลาการทำก๋วยเตี๋ยวแต่ละชามลงไม่เมื่อยมากจึงไม่ต้องเสียเวลาหยุดพักบ่อยๆ

สำหรับการสั่งซื้อส่วนวัตถุดิบและเครื่องปรุงต้องคำนวณจากปริมาณการขายในแต่ละวันว่าลูกค้าที่เราคาดการณ์น่าจะมีสักกี่ราย หากเป็นวันเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดเทศกาล คิดว่าอุปสงค์ก๋วยเตี๋ยวจะเพิ่มขึ้นเท่าไร ควรสั่งวัตถุดิบและเครื่องปรุงแต่ละวันอย่างไร เพื่อไม่ให้วัตถุดิบเหลือ เพราะเสี่ยงต่อการเน่าเสีย หรือเสียเวลาดูแลข้ามวัน ซึ่งแนวคิด Just-in-time stock ช่วยในการจัดการด้านนี้ การหา Suppliers ที่อยู่ใกล้เคียงหรือมีประสิทธิภาพก็จะช่วยให้เราสามารถสั่งวัตถุดิบได้ไว และลดระยะเวลาการจัดส่ง (Lead time)นอกจากนี้ การบริหารพนักงานหรือวิธีการรับคำสั่งจากลูกค้าที่ดีจะช่วยลดการผลิตสินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งอาจมีใบสั่งก๋วยเตี๋ยวให้ลูกค้าเลือกกรอกด้วยตนเอง ว่าจะเลือกทานเส้นหรือลูกชิ้นอะไร ใส่ผักและเครื่องปรุงแบบไหน อาจรวมถึงการมีระดับเผ็ดมากน้อยให้เลือกซึ่งจะช่วยเราไม่ลืม และสามารถผลิตสินค้าได้ตรงความต้องการของลูกค้าแบบเกือบจะ Customization หรือ Tailor made เลยละครับ

ผมยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้แนวคิดการพัฒนาประสิทธิภาพของธุรกิจจากร้านก๊วยเตี๋ยวก็เพื่อว่าจะแสดงให้ SME เห็นว่าไม่ว่าองค์กรระดับใดก็สามารถนำแนวคิด Lean production มาใช้ลดไขมันและสร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแรงของตัวเองได้ แต่อย่างไรก็ตาม กระบวน Lean production จำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และต้องมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของผู้บริหารองค์กรในระดับสูงสุดที่จะเป็นผู้นำของการพัฒนา และที่สำคัญการกระจายอำนาจในการตัดสินใจเพื่อการพัฒนาในส่วนต่างๆ ให้กับคนงานที่จุดนั้นๆ ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อความสำเร็จ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,275 วันที่ 2 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560