พาณิชย์ห่วงส่งออกครึ่งปีหลังชะลอไม่โตเท่าครึ่งปีแรก

29 มิ.ย. 2560 | 09:13 น.
พาณิชย์ ยังห่วงส่งออกครึ่งปีหลังชะลอไม่โตเท่าครึ่งปีแรก หลังนโยบายการค้าสหรัฐ-จีนไม่ชัดเจน เปลี่ยนแปลงบ่อย ค่าบาทแข็ง แต่ยังหวังดันส่งออกปีนี้โต 5% ตามเป้า

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา"ครึ่งปีหลังส่งออกไทย..ฝันใหญ่ไปให้ถึง"ถึงสถานการณ์ส่งออกไทยในปีนี้ว่ากระทรวงพาณิชย์ได้พยายามผลักดันการส่งออกในปีนี้ให้ขยายตัวถึง 5% ตามเป้าหมาย แต่ยอมรับว่าค่อนข้างกังวลการส่งออกในครึ่งปีหลัง อาจจะชะลอตัวลง ไม่ขยายตัวสูงเท่ากับครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกที่สามารถขยายตัวได้สูงนั้นเป็นเพราะฐานในปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ ประกอบกับในช่วงครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงหลายปัจจัยที่อาจจะกระทบต่อการส่งออก ทั้ง เหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลก นโยบายการค้าของทั้งสหรัฐ และจีนที่ยังคงมีความไม่ชัดเจน และมีการกีดกันทางการค้า รวมถึงความผันผวนของค่าเงินและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ต้องเร่งผลักดันการส่งออก เจาะตลาดใหม่ รวมถึงสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ควบคู่กับการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ด้วย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดหวังจะผลักดันการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้มากกว่า 5% ซึ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างมูลค่าการส่งออกต่อเดือนให้สูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

162616 ด้านนายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่ามั่ นใจว่าภาครัฐจะผลักดันการส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้ถึง 5% แม้ว่าเอกชนจะประเมินและคาดการณ์ว่า การส่งออกในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 3.5% เนื่องจากภาคเอกชนยังมีความเป็นห่วง เรื่องการนำเข้าของประเทศคู่ค้าต่างๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากเหตุก่อการร้ายที่รุนแรง รวมถึงนโยบายการค้าของสหรัฐฯที่ มีการเปลี่ยนแปลงไม่ชัดเจน ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนกระทบภาคการส่งออกได้ แต่ทั้งนี้การส่งออกไปยังตลาดอาเซียนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวียังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการค้าผ่านชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังขยายตัวได้ดี จึงมั่นใจว่าภาครัฐน่าจะช่วยสนับสนุนทำให้การส่งออกในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ทั้งนี้ยังคงเป็นห่วงว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่ยังคงต่ำ แม้ว่าปริมาณการส่งออกอาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ราคาไม่ขยับขึ้นโดยเฉพาะราคาข้าวและยางพาราที่ผลผลิตยังมีอยู่จำนวนมาก