ทางออกนอกตำรา : เปิดเรื่องฉาว สนั่นไปทั้งทุ่งดอนเมือง

28 มิ.ย. 2560 | 07:40 น.
 

1498632998966 ทางออกนอกตำรา
โดย : บากบั่น บุญเลิศ 

เปิดเรื่องฉาว สนั่นไปทั้งทุ่งดอนเมือง
ต้องบอกว่าฉาวโฉ่กันทั้งทุ่งดอนเมือง เมื่อบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT  ที่มี “นิตินัย ศิริสมรรถการ” เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มีการเปิดประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการโครงการบริหารจัดการอาคารจอดรถยนต์ ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองจำนวน 1,500 คัน สัญญา 15 ปี  


T04-07-16-7
โครงการนี้ มีเงื่อนไขว่าเอกชนจะต้องลงทุนก่อสร้างอาคารจอดรถ พร้อมติดตั้งระบบจัดเก็บค่าจอดรถ และบริหารจัดการตลอดอายุสัมปทาน มูลค่าลงทุนประมาณ 680 ล้านบาท

ขายเอกสารประมูล เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2560 -28 เม.ย.2560 ปรากฏว่า มีผู้ซื้อซอง 15 ราย พอถึงวันยื่นซองวันที่ 15 พ.ค.2560 มีผู้มายื่นประมูล 5 ราย ได้แก่ 1.บริษัท เอ็มพีเม็ก จำกัด 2.บริษัท ปาร์ค 2 โก จำกัด ในนามกิจการร่วมลงทุน NWR-P2G Consortium ประกอบด้วย บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปาร์ค 2 โก จำกัด  3.บริษัท เป๋าตังค์ จำกัด 4.บริษัท สมบุญ พัฒนา จำกัด 5.บริษัท เจนก้องไกล จำกัด ในนามกิจการร่วมค้า "เจนก้องไกลฟอร์คอน" ประกอบด้วย บริษัท เจนก้องไกล จำกัด และ บริษัท ฟอร์คอน จำกัด       PNSOC600624002002401_24062017_073713

ทั้ง 5 บริษัทนำเสนอผลงานไปเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2560 และคณะกรรมการประมูลมีการสรุปผลด้านเทคนิคกันในวันที่ 23 พ.ค.2560 ปรากฏว่า มีเอกชน 3 ราย ที่ได้คะแนน 70 เท่ากัน  คือ 1.บริษัท เอ็มพีเม็ก ที่ประกาศตนว่าเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการจอดรถ 2.กิจการร่วมค้า NWR-P2G Consortium 3.บริษัท สมบุญ พัฒนา

เมื่อเปิดข้อเสนอผลตอบแทน และรวมคะแนนด้านเทคนิคและผลตอบแทนที่เสนอให้กับ AOT ปรากฏว่า มี 2 ราย ที่มีคะแนนสูงสุดเท่ากันที่ 90 คะแนน คือ 1.บริษัท เอ็มพีเม็ก  2.บริษัท สมบุญ พัฒนา

คณะกรรมการฯ จึงให้ 2 ราย เสนอผลตอบแทนใหม่ ท่ามกลางข้อสงสัยว่า ทำไมจึงไม่มีการแจกแจงการให้คะแนนของบริษัทที่เข้าร่วมประมูลอย่างเป็นทางการ และทำไมผลสรุปการให้คะแนนจึงมีการเขียนด้วยลายมือ

ปรากฏว่า บริษัท เอ็มพีเม็ก เสนอเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้สูงสุดเดือนละ 2,233,669 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก จนหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า จะมีการเจรจาเงื่อนไขเสริมภายหลังได้ขณะที่ บริษัท สมบุญ พัฒนา เสนอผลตอบแทนให้เดือนละ  1,567,000 บาท

1498633412235

ดูเหมือนไม่มีอะไร..ในกอไผ่...ท่าทางบริษัทเอ็มพีเม็ก น่าจะได้งานใหญ่สบายบรื๋อสะดือกลวง...แต่ปรากฎภายหลังว่าบริษัท เอ็มพีเม็ก ซึ่งเสนอราคาน้อยกว่าราคาขั้นต่ำในครั้งแรกกว่า 150 ล้านบาท กลับชนะการประมูลได้ เพราะมีการให้เสนอราคาใหม่ และให้ยื่นข้อเสนอกันใหม่ภายใน 15 นาที

เอกชนที่เสนอราคาแข่งกันร้องเรียนว่า การประมูลรอบนี้ มีความไม่ชอบมาพากล เนื่องจาก 1.บริษัทที่ได้รับคัดเลือกมีประวัติเคยถูกยกเลิกสัมปทานที่จอดรถบาลีฮาย มีการค้างชำระค่าเช่าให้เมืองพัทยานาน 6 เดือน 2.บริษัทชนะประมูลมีปัญหาโครงการอาคารจอดรถอัตโนมัติของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ขัดกับหลักเกณฑ์ทีโออาร์    และ 3. ยังมีขั้นตอนการประมูลที่ให้เขียนราคาเสนอกันใหม่ ทั้งที่มีซองราคาเดิมอยู่แล้ว มีการล็อกบริษัทชนะการการประมูล ผู้ที่ถูกล็อกเสนอราคามาต่ำกว่าอีกราย จึงเปิดมีการให้เสนอราคากันใหม่ 4.ก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทยเคยมีมติให้ทำที่จอดรถอัตโนมัติที่ดอนเมือง แต่กลับเปลี่ยนมาเป็นให้ลงทุนที่จอดรถธรรมดาในภายหลังอีกด้วย

ผมไปตรวจสอบทีโออาร์แล้วพบว่า มีหลายเรื่องที่ควรกังขา  และคาใจ ....ซึ่งตามเอกสารการยื่นข้อเสนอการดำเนินงาน (TOR) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย ในโครงการบริหารจัดการอาคารจอดรถยนต์ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.)  ระบุว่า ผู้ชนะการประมูลต้องไม่เป็นผู้ถูก บอกเลิกสัญญา หรือมีหนี้สินค้างชำระ หรือต้องไม่เป็นผู้ที่มีข้อพิพาทกับหน่วยงานภายนอกที่ถึงขั้นฟ้องร้องในกระบวนการศาลหรืออนุญาโตตุลาการ

1498633392143

อันว่า หรือ...ในทางกฎหมายนั้น หากต้องการให้เลือกเอา อย่างใดอย่างหนึ่งก็ควรใช้ “หรือ” และหากต้องการให้หมายความรวมกัน ก็ จะใช้ “และ”

ถ้ายึดตามรูปแบบนี้และข้อกล่าวหานั้นเป็นจริง บริษัท เอ็มพีเม็ก ท่าทางจะหมดสภาพ

ประการต่อมา มีการแก้ไขทีโออาร์ในเรื่องการก่อสร้างอาคารจอดรถ โดยคณะกรรมการพิจารณารายได้ของAOT ได้ให้สิทธิบริษัท เอกชนลงทุนดำเนินกิจการอาคารจอดรถ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นอาคารจอดรถแบบทั่วไป หรือ เป็นอาคารจอดรถแบบอัตโนมัติ และอายุการให้สิทธิประกอบกิจการต้องไม่เกินข้อตกลงการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุ

สำหรับกรณีการให้ยื่นราคาใหม่นั้น ทีโออาร์ข้อที่ 7 ระบุว่า “กรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานมีผลของคะแนนรวมสูงสุดเท่ากันหลายราย ให้ผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานดังกล่าวมาเสนอค่าตอบแทนใหม่พร้อมกัน โดยวิธีการยื่นซองเสนอค่าตอบแทน แต่ทั้งนี้ค่าตอบแทนที่เสนอใหม่ จะต้องไม่ต่ำกว่าที่เสนอไว้ในครั้งแรก"  
  1498633199455

ในทีโออาร์ได้กำหนดขอบเขตของงานและเงื่อนไขการประกอบกิจการอาคารจอดรถยนต์ว่า จะต้องเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือน จากการให้บริการอาคารจอดรถยนต์ในอัตราร้อยละ 7.5 และเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนจากการประกอบกิจการอื่นๆ ตามที่กำหนด โดยจะต้องแจ้งให้ AOT ทราบล่วงหน้า เรื่องการประกอบกิจการดังกล่าว และต้องได้รับอนุญาตจากเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น

นั่นหมายถึงว่า ผู้ชนะประมูลสามารถทำธุรกิจเสริมจากอาคารจอดรถได้ แต่ต้องได้รับอนุมัติจาก AOT

แม้จะมีข้อร้องเรียนไปถึงความไม่โปร่งใส แต่ในที่สุดคณะกรรมการ AOT ที่มี ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธาน มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เจ้ากรมสื่อสารทหารอากาศ ผู้บัญชาการสำนักพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ฯลฯ เป็นกรรมการ ก็มีมติอนุมัติให้ บริษัท เอ็มพีเม็ก ชนะการประมูลไป    เป็นการเดินหน้าอนุมัติ แม้ว่าคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทยหลายคนกังวลเรื่องคุณสมบัติของ บริษัท เอ็มพีเม็ก เนื่องจากเอกสารบางส่วน เป็นการยืนยันมาโดยบริษัทเอง และข้อกล่าวหาในเรื่องการเป็นผู้ถูกเลิกจ้างและค้างชำระเงิน เพราะถือเป็นข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นแล้ว แม้คดีจะจบลงไปแล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นผู้มีประวัติ การค้างชำระขัดต่อคุณสมบัติ

1498633138036

เป็นการอนุมัติท่ามกลางกระแสข่าวว่า ประธานกรรมการบริษัทนี้เป็น เตรียมทหารรุ่น 12  และเป็นการอนุมัติท่ามกลางกระแสข่าวในบอร์ดว่า ผู้ใหญ่ร้องขอมาเป็นกรณีพิเศษ

แทบไม่น่าเชื่อว่า จะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก หลังจากเคยมีบทเรียนในกรณีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย โดยอาศัยคำสั่งของ ”บอสใหญ่” จนคณะกรรมการและผู้บริหารติดคุกกันยกแผงมาแล้ว...
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา/หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3274 ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-1 ก.ค.2560

E-BOOK แดง