‘ดุสิตกรุ๊ป’สยายปีกเป้า 5 ปี 92 แห่ง 22 ประเทศทั่วโลก

01 ก.ค. 2560 | 23:43 น.
กลุ่มดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ถือเป็นเชนโรงแรมคนไทยที่มีการขยายเครือข่ายการลงทุนในต่างประเทศอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ เพื่อเป็นการขยายฐานรายได้จากต่างประเทศลดความเสี่ยงในประเทศ โดยมีกลยุทธ์ทั้งในรูปแบบการร่วมทุน การหาพันธมิตรทางธุรกิจไปจนถึงการเปิดโรงเรียนการโรงแรม

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ในช่วง 5 ปีนี้ จะเน้นกระจายรายได้ในส่วนของธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศเพิ่มเป็น 50 % จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 30% เพราะที่ผ่านมารายได้กระจุกตัวอยู่ในประเทศมากถึง 70% จากโรงแรมที่เปิดให้บริการ 29 แห่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นทำให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

++ชูแบรนด์ปริ๊นเซสบุกจีน
ส่วนทิศทางการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ในส่วนของการรับบริหาร ปัจจุบันมีการเซ็นสัญญารับบริหารเพิ่มเติมอีก 92 แห่งใน 22 ประเทศ แยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.โรงแรมที่เข้าไปรับบริหาร 52 แห่ง และ 2.โรงแรมที่เพิ่งไปร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับกลุ่มบริษัทโดสเซ่น อินเตอร์เนชั่นแนลฯในลักษณะแบรนด์ไลเซนส์ เพื่อร่วมพัฒนาแบรนด์โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส 40 แห่ง ในจีน ซึ่งโรงแรมทั้ง 92 แห่ง จะทยอยเปิดให้บริการในช่วง 5 ปีนี้เริ่มจากปีหน้าจะเปิดได้ราว 10-12 แห่ง

นางศุภจี ยังกล่าวอีกว่า “การร่วมเป็นพันธมิตรกับโดสเซ่น อินเตอร์เนชั่นแนล ในลักษณะแบรนด์ไลเซนส์เราจะเข้าไปช่วยฝึกอบรมพนักงานของโดสเซ่น กำหนดคุณสมบัติของโรงแรม และแบรนด์ไกด์ไลน์ไว้ให้พอเขาสร้างเสร็จ ทางโดสเซ่น ก็ไปบริหารจัดการโรงแรมได้เองภายใต้แบรนด์ดุสิต ปริ๊นเซส ทำให้เราไม่ต้องกังวลเรื่องของการเตรียมคนไว้รองรับ ซึ่งจะแตกต่างกับสัญญารับบริหารที่ดุสิตเซ็นไว้กับ 52 แห่ง ซึ่งจะเป็นการเข้าไปดูแลตั้งแต่การพัฒนา การเปิดโรงแรม ไปจนถึงบริหารโรงแรมให้หลังเปิดให้บริการ”

อย่างไรก็ดีในปีนี้จะเริ่มเห็นทิศทางการลงทุนในประเทศของกลุ่มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเมื่อไม่นานมานี้ ดุสิต ได้ร่วมมือกับคัลเลอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อขยายแบรนด์ดุสิตธานี ในประเทศญี่ปุ่น โดยดุสิตลงทุน 49% ในการสร้างโรงแรมดุสิตธานี เกียวโต ขนาด 150 ห้อง จะเปิดบริการปี 2562 เพื่อให้ทันกับที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2563 และยังมีแผนพัฒนาโรงแรมร่วมกันอีกหลายแห่งในญี่ปุ่น ซึ่งมองไว้ที่โตเกียว 1 แห่งและนอกโตเกียว อีก 2-3 แห่ง

[caption id="attachment_170888" align="aligncenter" width="503"] ภาพจำลองเบื้ยงต้น “ดุสิต เซ็นทรัลพาร์ค” ภาพจำลองเบื้ยงต้น “ดุสิต เซ็นทรัลพาร์ค”[/caption]

++ผุดแบรนด์ใหม่รับไลฟ์สไตล์
นอกจากนี้ดุสิตยังมีแผนสร้างแบรนด์โรงแรมใหม่ วางตำแหน่งเป็นแบรนด์โรงแรมไลฟ์สไตล์แบรนด์ ที่จะใช้เทคโนโลยี เป็นตัวหลักในการให้บริการเพื่อเจาะเซ็กเมนต์กลุ่มมิลเลนเนียม ซึ่งไม่ใช่แบรนด์บัดเจ็ต โฮเต็ลคาดจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ และภายในสิ้นปีนี้จะลงทุนโรงแรมแบรนด์ใหม่ในกรุงเทพฯ 2 แห่ง ขณะเดียวกันแบรนด์นี้เริ่มมีการหารือที่จะนำไปพัฒนาแบรนด์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ย่างกุ้ง และโตเกียว ด้วย

นอกเหนือจากการรุกธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศแล้วยังมีแผนร่วมลงทุนขยายธุรกิจด้านการศึกษาในต่างประเทศที่จะเป็นลักษณะผสมผสานเต็มรูปแบบระหว่างโรงเรียนกับโรงแรม ที่เปิดให้นักศึกษาฝึกงานในโรงแรมตั้งแต่เรียนปี 1 ซึ่งนอกจากร่วมลงทุนโครงการลักษณะนี้ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ที่จะเปิดการเรียนการสอนได้ภายในกลางปีหน้าแล้ว ยังมองการลงทุนในลักษณะนี้ไปประเทศอื่นๆ ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนเข้ามาขอศึกษาโมเดลนี้แล้ว คาดว่าจะมีความร่วมมือกลับหลายประเทศ ไม่ว่าศรีลังกา โอมาน สิงคโปร์ แต่ที่คาดว่าจะบรรลุข้อตกลงในการร่วมลงทุนได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้น่าจะเป็นที่สิงคโปร์

“การขยายสถาบันการศึกษาการเรียนการสอนด้านโรงแรมในต่างประเทศนอกจากเพื่อรองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวโลกแล้ว ยังเป็นการรองรับการเปิดโรงแรมในต่างประเทศของดุสิต ด้วย ปัจจุบันมีพนักงานราว 6 พันคน เราเซ็นสัญญาบริหารเพิ่มอีก 52 แห่ง ต้องเพิ่มบุคลากรอีกเกือบ 2 หมื่นคน ที่เตรียมแผนไว้รองรับอีกทั้งยังถือเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ดีด้วย”

++ ปิดบริการดุสิตธานีเม.ย.ปีหน้า
นางศุภจี ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯว่า ขณะนี้ได้วางผังการพัฒนาพื้นที่และมีแบบเบื้องต้นแล้ว ซึ่งจะใช้ชื่อว่าโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัลพาร์ค” ตัวอาคารศูนย์การค้า จะเป็นรูปแบบใหม่ เน้นไลฟ์สไตล์ เป็นแพลตฟอร์มกลาง ที่จะเชื่อมอาคารอีก 3 อาคารไว้ด้านบน คือ โรงแรมดุสิตธานี, อาคารที่พักอาศัยดุสิตเรสซิเด้นท์ และอาคารสำนักงาน

พื้นที่โครงการจะเป็นผืนเดียวกัน ซึ่งเราตั้งใจทำเส้นรอบวงของถนนรอบโครงการ เพื่อให้รถสามารถวิ่งจากถนนพระราม 4 ออกไปถนนศาลาแดงได้ อีกทั้งตัวศูนย์การค้า จะมีการสร้างทั้งในส่วนพื้นที่ใต้ดิน เพื่อเชื่อมต่อกับการเดินทางของผู้โดยสารที่เดินทางมายังรถไฟใต้ดิน และตัวอาคารศูนย์การค้าที่อยู่เหนือพื้นดิน อีกราว 3 ชั้น ก็จะเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อให้โครงการนี้เป็นศูนย์กลางในการจราจรในทุกระนาบในส่วนของโรงแรมดุสิตธานี จะหยุดให้บริการในวันที่ 16 เมษายน 2561 เริ่มรื้อถอนวันที่ 1 กรกฎาคม ใช้เวลาสร้างใหม่ 3 ปี และจะกลับมาเปิดให้บริการในปี 2564

ทั้งนี้โรงแรมดุสิตธานี ที่สร้างใหม่ การให้บริการจะเหมือนกับดุสิตธานีเดิมทุกอย่าง หน้าตาเหมือนเดิมมีความทันสมัยขึ้น แต่จำนวนห้องจะลดจากกว่า 500 ห้อง เหลือราว 300 ห้อง เพราะแต่ละห้องจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเพดานสูงขึ้น รองรับมาตรฐานเรื่องของอุบัติภัยและสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานใหม่ อีกด้วย นางศุภจี กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,274
วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560