ข้าพระบาท ทาสประชาชน : คำสั่ง “ม.44” ของหัวหน้า คสช. กับการแก้ปัญหาบริษัทมหาชน (1)

27 มิ.ย. 2560 | 12:55 น.
ข้าพระบาท ทาสประชาชน

โดย : ประพันธ์ คูณมี 

 คำสั่ง “ม.44” ของหัวหน้า คสช.  กับการแก้ปัญหาบริษัทมหาชน (1) 

ก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกาศใช้เพียง 2 วัน คือเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็ได้ออกคำสั่งที่ 21/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ สืบเนื่องจากรายงานผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก

ปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 46 จาก 190 ประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และลดความยุ่งยากซับซ้อนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข รวมถึงขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กฎและระเบียบที่มีอยู่จำนวนมาก คสช.จึงได้ออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนรองรับความสะดวกในการประกอบธุรกิจแก่นักลงทุนและผู้ประกอบการทั้งหลายที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งก็เป็นเจตนาที่ดีของ คสช.และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คำสั่งดังกล่าว หัวหน้า คสช.ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตร 44 ของรัฐธรรมนูญแห่ราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

รูปเงิน-2

ในเนื้อหาของคำสั่งดังกล่าว มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหลายฉบับ ในบางมาตราเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เช่น การแก้ไขข้อความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์รวม 6 มาตรา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 รวม 2 มาตรา แก้ไขให้ยกเลิกความในมาตรา100 และ 128 ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และยังมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม กับพ.ร.บ.ล้มละลาย อีกหลายมาตรา ท่านผู้อ่านที่สนใจก็หาอ่านคำสั่งดังกล่าวโดยละเอียดได้

แต่ที่ผู้เขียนให้ความสนใจและประสงค์จะพูดถึงคือ มาตรา100 และ มาตรา128 พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งโดยคำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าว มุ่งคุ้มครองผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนโดยสุจริต อันควรได้รับสิทธิและอำนาจในการแก้ไขปัญหากรณีที่ผู้ถือหุ้นเหล่านั้นได้รับความเสียหาย หรือผลกระทบที่ไม่เป็นธรรมกับตนเอง อันเนื่องการกระทำของกรรมการบริษัทหรือกรณีผู้ถือหุ้นมีปัญหาข้อขัดแย้งกับกรรมการบริษัท ทั้งยังควรได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐ ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีอำนาจจัดการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง ความไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุนหรือผู้ประกอบการที่สุจริตอีกด้วย

1030_3
ซึ่งความในมาตรา100 เดิมของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด บัญญัติไว้ว่า ”ผู้ถือหุ้นซึ่งมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดหรือผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 25คน ซึ่งมีหุ้นนับรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด จะเข้าชื่อกันทำหนังสือขอให้กรรมการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องระบุเหตุผลในการที่ขอให้เรียกประชุมไว้ให้ชัดเจน กรณีเช่นนี้ คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันได้รับหนังสือจากผู้ถือหุ้น”

โดยคำสั่ง คสช.ให้ยกเลิกความในมาตรา 100 ทั้งหมดให้ใช้ความต่อไปนี้แทน   "มาตรา 100 ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งหรือหลายคนซึ่มีหุ้นนับรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด จะเข้าชื่อทำหนังสือขอให้กรรมการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องระบุเรื่องและเหตุผลในการขอให้เรียกประชุมไว้ให้ชัดเจนในหนังสือดังกล่าวด้วย ในกรณีเช่นนี้ คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากผู้ถือหุ้น"

ซึ่งนอกจากความดังกล่าวนี้แล้วยังได้เพิ่มเติมความในวรรคสองว่า" หากกรรมการไม่จัดประชุมภายในกำหนด ก็ให้ผู้ถือหุ้นตามจำนวนดังกล่าวเรียกประชุมเองได้ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันครบกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง โดยถือเป็นการประชุมผู้ถือหุ้นที่กรรมการเรียกประชุม โดยให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวก"

และในวรรคสาม" ถ้าการประชุมไม่ครบองค์ประชุม ผู้ถือหุ้นนั้นก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย"

รายละเอียดปรากฏในคำสั่ง คสช.ที่ 21/2560 ซึ่งก็ถือว่าเป็นธรรมทั้งกับบริษัทและผู้ถือหุ้น โดยตามกฎหมายเดิมบัญญัติไว้ไม่ชัดเจน ยากแก่การปฏิบัติ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีบริษัทมหาชนใดใช้บริการตามกฎหมายนี้

บทบัญญัติที่สำคัญยิ่งที่จะมีส่วนทำให้การตรวจสอบบริษัทมหาชนทั้งหลายโดยเฉพาะบริษัทมหาชนจำกัด ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ควรจะได้ถูกตรวจสอบ ควบคุมและกำกับโดยกลไกทางกฏหมายที่เคร่งครัดเข้มงวดก็คือคำสั่งที่แก้ไขมาตรา 128 ซึ่งอยู่ในหมวด 9 ว่าด้วยการตรวจสอบ ซึ่งบัญญัติไว้ตั้งแต่มาตรา128-135 อันเป็นการกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของนายทะเบียนบริษัท และพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากได้ทำงานประสานกันกับ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)แล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจ บริษัทมหาชนและกรรมการบริษัท คงไม่กล้าละเมิดกฎหมาย สร้างความเสียหาย ผู้ลงทุนและประชาชนทั้งหลาย คงไม่ตกเป็นเหยื่อหรือแมงเม่าอย่างทุกวันนี้ เนื่องด้วยเนื้อที่จำกัด เรื่องนี้จึงขอยกไปพูดในตอนต่อไปครับ
คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน /หน้า 6  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ /ฉบับ 3274 ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-1 ก.ค.2560 

E-BOOK แดง