รื้อแผนพีดีพีลดโรงไฟฟ้า หันไปพึ่งพลังงานทดแทนกฟผ.ได้ทีเสนอ2พันMW

29 มิ.ย. 2560 | 06:15 น.
พลังงาน" ปรับแผนพีดีพี เล็งปรับลดการผลิตจากโรงไฟฟ้าหลักทั้งก๊าซและถ่านหิน ขณะที่พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นตามคำสั่งนายกฯ ที่ 40% คาดแล้วเสร็จภายใน 6-9 เดือนข้างหน้า ฟาก กฟผ.เตรียมรับมือพลังงานทดแทนเข้าระบบสูงขึ้น ชง กกพ.ลุยจับมือเอกชนลงทุนโครงการพลังงานทดแทน 2 พันเมกะวัตต์

กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยาวของประเทศ(พีพีดี 2015) โดยจะมีการปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในแผนพีดีพี 2015 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สอดรับกับคำสั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(เออีดีพี2015) จากเดิม 20% เป็น 40% เป็นผลให้แผนพีดีพี2015 ฉบับใหม่ ต้องไปปรับลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชิตและถ่านหินลงมา

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การปรับแผนพีดีพีฉบับปรับปรุงใหม่ คงจะต้องไปเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น และพิจารณาปรับลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าฟอสซิลลงมา ทั้งโรงฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ หากราคาต่ำก็ยังมีความจำเป็นอยู่ โดยตามแผนพีดีพีฉบับปัจจุบัน กำหนดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในปี 2579 จากโรงไฟฟ้าก๊าซ อยู่ที่ 30-40% ,โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด 20-25% ,รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำต่างประเทศ 15-20% ,พลังงานหมุนเวียน 15-20% และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 0-5%

[caption id="attachment_170211" align="aligncenter" width="348"] รื้อแผนพีดีพีลดโรงไฟฟ้า หันไปพึ่งพลังงานทดแทนกฟผ.ได้ทีเสนอ2พันMW รื้อแผนพีดีพีลดโรงไฟฟ้า หันไปพึ่งพลังงานทดแทนกฟผ.ได้ทีเสนอ2พันMW[/caption]

สำหรับการปรับลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักลงมานั้น จะเน้นไปที่โรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(พีพีเอ) และมีความเสี่ยงที่อาจจะไม่เข้าระบบในอนาคต ส่วนสัดส่วนเชื้อเพลิงแต่ละชนิดจะปรับเป็นเท่าไรนั้น ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) จะร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับสัดส่วนดังกล่าวต่อไป โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปลายปีนี้

นายพฤหัส วงศ์ธเนศ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน กฟผ. เปิดเผยว่า ทางกระทรวงพลังงานมีการหารือเพื่อปรับแผนพีดีพี2015 ซึ่ง กฟผ. ได้เสนอด้านเทคนิคว่าจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามามากขึ้น จะมีปัญหาหลังจากแสงอาทิตย์หมด หากไม่ให้ระบบมีปัญหาจำเป็นต้องติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเข้ามาเสริมระบบ

"การปรับแผนพีดีพีใหม่ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 6-9 เดือน ซึ่งกฟผ. ได้เสนอข้อมูลการผลิตไฟฟ้าไปแล้ว เบื้องต้นจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น แต่โรงไฟฟ้าฟอสซิลก็ยังจำเป็นอยู่ เพราะพลังงานทดแทนยังไม่เสถียร หากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นก็ต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าฟอสซิลคู่ขนานกันไป ขณะที่การปรับลดสัดส่วนโรงไฟฟ้าชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทางกระทรวงพลังงาน โดย กฟผ.เสนอการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเก่าที่อยู่ในระบบ เพราะเมื่อโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเข้าระบบ ก็ต้องลดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าหลัก กล่าวคือเดิมเคยเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต เมื่อพลังงานทดแทนเข้าก็ลดเหลือ 50% ดังนั้นจะปรับอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่า"นายพฤหัส กล่าว

11 นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมเสนอแผนลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไปยังกระทรวงพลังงานภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมทั้งเตรียมหารือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อพิจารณาโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. ที่ 2 พันเมกะวัตต์ ว่าจะสามารถให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นรายโครงการ ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ได้หรือไม่ ซึ่งตามแผนจะใช้เงินลงทุน 1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น พลังงานจากแสงอาทิตย์ 900 เมกะวัตต์ ,ลม 230 เมกะวัตต์ ,น้ำ 165 เมกะวัตต์ ,ก๊าซชีวภาพ 56 เมกะวัตต์ ,ชีวมวล 598 เมกะวัตต์ ,พลังความร้อนใต้พิภพ 2 เมกะวัตต์ และขยะมูลฝอยชุมชน 50 เมกะวัตต์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,274
วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560