ส่งออกเผชิญปัจจัยเสี่ยงเพียบ บาทแข็ง-ผลไม้ตามฤดูกาลแนวโน้มชะลอตัว

01 ก.ค. 2560 | 23:47 น.
สรท.-นักวิชาการ ระบุส่งออก พ.ค.พุ่งสูงสุดรอบ52 เดือน ยังไม่ใช่เครื่องการันตีจากนี้จะยังดีต่อเนื่อง ชี้ปัจจัยเสี่ยงครึ่งหลังยังเพียบทั้งบาทแข็ง ส่งออกยาง- ผลไม้ตามฤดูกาลแนวโน้มชะลอตัว คำสั่งทรัมป์สั่งตรวจสอบขาดดุลรอประกาศผล คงคาดการส่งออกโต 3-3.5%

จากการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2560 มูลค่า1.99 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 13.2% ขยายตัวสูงสุดในรอบ52 เดือน ส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนแรกปี2560 ขยายตัว 7.2% เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันนั้

[caption id="attachment_166147" align="aligncenter" width="377"] นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์[/caption]

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การส่งออกที่ขยายตัวสูงสุดในเดือนพฤษภาคมนั้นถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าการส่งออกในเดือนที่เหลือจะยังดีไปตลอดทั้งปี เพราะจากการตรวจสอบส่วนหนึ่งพบสินค้าที่ขยายตัวมากในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง(ขยายตัว59%) และยางพารา(ขยายตัว 64%) เป็นผลจากราคาสินค้าในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ฐานราคาต่ำ ผลไม้สดตามฤดูกาล (ทุเรียน มังคุด ลำไยขยายตัว 63%) แต่จากนี้ผลผลิตเริ่มลดลง และแนวโน้มการส่งออกลดลง

ขณะเดียวกันมีปัจจัยเสี่ยงมากสุดในเวลานี้คือเงินบาทที่แข็งค่ามาก แตะที่ระดับ 33.90บาท/ดอลลาร์(แข็งค่ามากสุดในรอบ 2 ปี) หากยังแข็งค่าในระดับนี้ต่อเนื่องจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3-4 มีโอกาสลดลงจากสินค้าไทยมีราคาสูงขึ้นตามค่าเงินบาทกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันนอกจากนี้จากที่ไทยยังเกินดุลการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (5เดือนแรกเกินดุลการค้า 5,054 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) รวมถึงเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเพื่อลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และอื่นๆ ที่ต้องนำเงินดอลลาร์มาแลกเป็นเงินบาทจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

[caption id="attachment_170162" align="aligncenter" width="462"] ส่งออกเผชิญปัจจัยเสี่ยงเพียบ บาทแข็ง-ผลไม้ตามฤดูกาลแนวโน้มชะลอตัว ส่งออกเผชิญปัจจัยเสี่ยงเพียบ บาทแข็ง-ผลไม้ตามฤดูกาลแนวโน้มชะลอตัว[/caption]

“ล่าสุดราคายางเดือนมิถุนายนเริ่มลดลง แม้เดือนที่เหลือยังมีโอกาสโต แต่คงไม่สูงกว่าช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับจีนผู้นำเข้ายางพาราคารายใหญ่ได้นำเข้าสินค้าเข้าไปตุนสต๊อกแล้วค่อนข้างมาก การนำเข้าจากนี้มีแนวโน้มชะลอตัว ราคาน้ำมันไตรมาสที่ 1 ปีนี้สูง แต่ปัจจุบันต่ำกว่า 45 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล คาดจะยังทรงตัวไปถึงปีหน้า เพราะสต๊อกน้ำมันของแต่ละประเทศยังสูง แม้กลุ่มโอเปกจะลดกำลังการผลิตลงแต่ราคาก็ยังไม่ปรับขึ้น จะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันชะลอตัวลง”

อย่างไรก็ดี สรท.คาดการส่งออกในเดือนมิถุนายนคงไม่ติดลบ และยังคงคาดการส่งออกทั้งปีนี้ไว้ที่ 3.5% ส่วนจะมีการปรับขึ้นหรือไม่นั้นทางคณะกรรมการจะได้หารือกันต่อไป

ด้าน รศ.ดร.อัทธ์พิศาล วานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าการส่งออก เดือนพฤษภาคม และ 5 เดือนแรกของปีนี้ที่ยังขยายตัวได้ดีเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่มีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนนายโดนัลด์ทรัมป์จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เห็นได้จากการขึ้นดอกเบี้ย อัตราการว่างงานของชาวอเมริกันลดลง ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และมีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น เมื่อเศรษฐกิจและตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดการบริโภคใหญ่สุดของโลกฟื้น จึงส่งผลการค้าโลกขยายตัวตามไปด้วย

“เห็นได้จากการส่งออกของจีน ญี่ปุ่น รวมถึงไทยไปสหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลทางอ้อมให้การส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ในเดือนที่เหลือของปีนี้มองว่าการส่งออกของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงใน 2 เรื่องคือ 1.เงินบาทแข็งค่ากระทบต่อการแข่งขัน และ 2.คำสั่งทรัมป์ให้ตรวจสอบการขาดดุลการค้ากับ 13 ประเทศจะครบ 90 วันสิ้นเดือนมิถุนายนนี้จะมีอะไรออกมาและจะกระทบไทยหรือไม่ ทั้งนี้ทางศูนย์ฯยังคงคาดการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 33.5%”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,274
วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560