เคล็ด(ไม่)ลับในการลงทุน ตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับ

27 มิ.ย. 2560 | 23:42 น.
MP27-3263-A การลงทุนมีความเสี่ยง หลายท่านคงเคยได้ยินข้อความนี้กันจนคุ้นหู เพราะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ขอให้ บลจ.ทุกแห่งที่มีการทำโฆษณาต้องมีข้อความเตือนนักลงทุนถึงความเสี่ยงด้วย มิใช่จะพูดเรื่องผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อฟังกันบ่อยเข้าเราก็ละเลยกับคำเตือนนี้ พอเกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange หรือ B/E) ก็โทษ ก.ล.ต. ว่าไม่ทำอะไร หรือไม่ยอมจัดการกับบริษัทที่มีปัญหา

ในทางตรงกันข้ามนักลงทุนบางท่านมักจะพิจารณาแต่ผลตอบแทน ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความเสี่ยง เช่น ตั๋ว B/E ที่มีปัญหา ส่วนมากก็มักเป็นบริษัทที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ(เครดิต)จากสถาบันการจัดอันดับเครดิต หากพิจารณาให้ดีแล้วบริษัทที่มีฐานะทางการเงินมั่นคงต่างก็อยากจะทำการจัดอันดับเครดิต เพราะเมื่อได้อันดับเครดิตที่ดีก็สามารถออกหุ้นกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ตํ่ากว่า เป็นการประหยัดต้นทุนทางการเงินของบริษัทด้วย ส่วนบริษัทที่เลือกจะไม่ทำการจัดอันดับเครดิตพอจะเดาได้ว่า หากทำการจัดอันดับเครดิตก็อาจจะได้อันดับเครดิตในระดับที่ไม่ดีนัก เลยเลือกที่จะไม่ทำดีกว่า อาจจะมีข้อยกเว้นบางบริษัทซึ่งอาจจะมีเพียงน้อยรายที่ฐานะทางการเงินมั่นคงแต่ ใช้การออกตั๋ว B/E ให้กับนักลงทุนสถาบันเพื่อความสะดวกรวดเร็ว

การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ก็เช่นกัน นักลงทุนส่วนมากมักจะเปรียบเทียบกองทุนจากผลตอบแทนเท่านั้น หลายครั้งเคยถูกลูกค้าและฝ่ายขายถามว่าทำไมกองทุนของเราจึงไม่ลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทบางแห่งที่ให้ผลตอบแทนสูง และเลยไปถึงว่ากองทุนเราไม่ดี ผู้จัดการกองทุนไม่เก่ง ให้ผลตอบแทนตํ่ากว่าคู่แข่ง แต่ผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ที่ต่างกันบางครั้งแค่เพียง 0.03% ต่อปี มันอาจไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่ต้องเสียเงินต้นเลย

สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่ไม่ได้มีความสามารถในการวิเคราะห์ความเสี่ยงเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ ผมพอมีเคล็ดไม่ลับมาช่วยประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งบางท่านอาจให้สถาบันการเงินใหญ่ที่น่าจะมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีทำงานแทน โดยให้สังเกตดูว่ามีสถาบันหรือกองทุนตราสารหนี้ของ บลจ.ที่น่าเชื่อถือหลายรายเข้าร่วมลงทุนในตราสารหนี้นั้นด้วยหรือไม่ แต่การลงทุนตามกองทุนรวม แม้จะเป็นการยืมมืออาชีพมาช่วยแต่ก็ยังไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าตราสารหนี้นั้นจะไม่มีปัญหา ที่ผ่านมาก็ยังมีกองทุนบางรายที่ได้รับผลกระทบจากการไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระเช่นกัน ถ้าเช่นนั้นนักลงทุนจะไปตามใครดี

พอเล่ามาถึงตรงนี้ก็มีเรื่องหนึ่งที่นึกขึ้นได้จากคำบอกเล่าของ Chief Risk ของธนาคารต่างประเทศแห่งหนึ่งที่เคยทำงานอยู่ ท่านเล่าว่าได้พบกับกรรมการผู้จัดการของสถาบันการจัดอันดับเครดิตรายใหญ่ที่หนึ่งของโลก และได้ชื่นชมการทำงานของเขา แต่กรรมการผู้จัดการของบริษัทดังกล่าวกลับตอบว่าสถาบันการจัดอันดับเครดิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั่นคือธนาคารพาณิชย์ เพราะว่า Rating Agency ก็ได้ทำการจัดอันดับเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่ร้อยหรือพันแห่งที่พร้อมจะได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ดี แต่ธนาคารพาณิชย์ต่างต้องทำการประเมินคุณภาพเครดิตของลูกค้านับแสนๆ ล้านๆ ราย ตั้งแต่ลูกค้าขนาดใหญ่ ขนาดกลาง รวมถึงเอสเอ็มอี ดังนั้นฐานข้อมูลและเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของธนาคารพาณิชย์ต่างหากที่เหนือกว่าของ Rating Agency ด้วยซํ้า

เมื่อผมมีประสบการณ์ทำงานในสายการเงินมาเกือบ 20 ปี ยิ่งเห็นด้วยกับคำพูดของกรรมการผู้จัดการของสถาบันการจัดอันดับเครดิตท่านนั้น เนื่องจากการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ต้องมีเครื่องมือประเมินความเสี่ยงทางด้านเครดิตซึ่งคือหัวใจที่สำคัญที่สุด หากประเมินพลาดปล่อยสินเชื่อไม่ถูกกลายเป็นหนี้เสียก็ทำให้ธนาคารเสียหายได้ ธนาคารต่างๆ จึงมีการปรับปรุงเครื่องมือประเมินความเสี่ยงให้แม่นยำยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ บลจ.บางแห่งที่อยู่ในเครือธนาคารพาณิชย์ก็พลอยได้รับอานิสงส์นี้ไปด้วย

เมื่อลองหันมาสำรวจการลงทุนของกองทุนรวมที่มีผู้ถือหุ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ก็พบว่าไม่ได้มีการลงทุนในตราสารที่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะผู้จัดการกองทุนจะต้องศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนทุกครั้งและยังต้องลงทุนด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก สำหรับนักลงทุนถ้ามีโอกาสก็ควรจะตรวจสอบก่อนว่าการลงทุนในตราสารหนี้ หรือ B/E ของบริษัทนั้นๆ มีนักลงทุนสถาบันถือครองบ้างหรือไม่ถ้าไม่มีนักลงทุนสถาบันเลยท่านก็ยิ่งต้องพิจารณาให้ดีเพราะการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนนะครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,273 วันที่ 25 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560