กรมชลฯปรับเพิ่มแผนการระบายน้ำรับมือฝนทิ้งช่วง

23 มิ.ย. 2560 | 08:06 น.
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) พบว่าปัจจุบัน(23 มิ.ย. 60)สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น 41,974 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2559 รวม 9,634 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 18,155 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 35 (ปี 2559  มีน้ำใช้การได้ 8,521 ล้าน ลบ.ม.)สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,238 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,415 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,402 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,719 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 1,317 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,456 ล้าน ลบ.ม.

19424093_827710374062970_7405220400815381621_n สำหรับสภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งและสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก อาทิ แม่น้ำปิง ที่สถานี P.1 อ.เมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 2.55 เมตร ,สถานี P.7A อ.เมืองกำแพงเพชร ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 5.71 เมตร และสถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 3.30 เมตร แม่น้ำวัง ที่สถานี W.1C อ.เมืองลำปาง ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 4.88 เมตร แม่น้ำยม ที่สถานี Y.1C อ.เมือง จ.แพร่ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 7.72 เมตร ,และสถานี Y.4 อ.เมือง จ.สุโขทัย ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 5.88 เมตร แม่น้ำน่าน ที่สถานี N.1 อ.เมืองน่าน ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 8.53 เมตร และสถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 5.82 เมตร ทั้งนี้ ปริมาณน้ำทั้งหมดจะไหลมารวมกันที่แม่น้ำเจ้าพระยาจ.นครสวรรค์ โดยที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 6.32 เมตร กรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 484 ลบ.ม./วินาที ยังไม่ส่งกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ส่วนที่สถานี C.29 อ.บางไทร ซึ่งเป็นจุดวัดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 691 ลบ.ม./วินาที(รับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลบ.ม./วินาที)

19388476_827710127396328_2017242450051074856_o อย่างไรก็ตาม พบว่าปริมาณฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนลดน้อยลงมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก(ปิง และน่าน) ลดลงตามไปด้วย ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ตอนบนบริเวณจังหวัดตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และพิจิตร จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 23 มิ.ย. - 2 ก.ค. 60 โดยเขื่อนภูมิพล จะเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. เป็น 5 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ จากวันละ 8 ล้าน ลบ.ม.เป็นวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศ และสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี

ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยา และ สถานบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้คาดการณ์สภาพอากาศว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน –กลางเดือนกรกฎาคม มีฝนน้อยลง โดยเฉพาะพื้นที่อับฝน(ด้านหลังเขาและพื้นที่ตอนกลางของประเทศ) ส่วนในพื้นที่ด้านรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงมีฝนตกกระจายแต่อยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก จากสถานการณ์ดังกล่าว จะทำให้การใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก เพิ่มมากขึ้นไปจนถึงกลางเดือนกรกฎกาคม จนกระทั่งเกิดฝนตกชุก จึงจะเริ่มลดการใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักได้ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด สำหรับไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าที่จะถึงนี้

อนึ่ง กรมชลประทาน ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ณ 1 พ.ย. 60 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งประเทศประมาณ 33,332 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา คาดว่าจะมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 12,012 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่มากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่จะถึงนี้ จะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน

สำหรับกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า มื่อครั้งที่เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมสวนส้มโอทับทิมสยาม ที่จ.นครศรีธรรมราช ในช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา มีการจัดฉากให้เจ้าหน้าที่สูบน้ำเข้าแปลงผลไม้ให้ดูเหมือนน้ำท่วมและรอให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงยืนชี้นิ้ว แชะ เป็นภาพข่าว ผักชีโรยหน้างานนั้น

กรมชลประทาน ขอชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ดังนี้ เนื่องจากฝนที่ตกหนักในช่วงวันที่ 30 พ.ย. – 6 ธ.ค. 59 ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดปริมาณฝนสะสมได้มากถึง 896.4 มิลลิเมตร ทำให้สภาวะน้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำทั้ง 23 อำเภอเป็นระยะเวลานาน หนึ่งในนั้นคือสวนส้มโอสวนส้มโอทับทิมสยาม ที่อยู่ในท้องที่ ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกส้มโอทับทิมสยามเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย ประมาณ 2,200 ไร่ ก็ได้รับผลกระทบด้วย

[caption id="attachment_167999" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ[/caption]

ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม 2559 พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งรมว.กษ.ได้สั่งการให้กรมชลประทาน เร่งให้การช่วยเหลือ ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม จากเดิมที่ได้มีการติดตั้งไว้แล้ว เพื่อเร่งการระบายน้ำที่ท่วมขัง ในสวนปลูกส้มโอทับทิมสยาม ในพื้นที่ตำบลคลองน้อย ที่มีพื้นที่ประมาณ 2,200 ไร่ ดังนี้

1. พื้นที่ตอนบนบริเวณตำบลคลองน้อย ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รวมทั้งหมด 7 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำเข้าสู่คลองหลัก พร้อมกับติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณคลองสาขาคลองบางจาก รวม 14 เครื่อง เพื่อเร่งระบายในช่วงน้ำทะเลลง ส่งผลให้ระดับน้ำที่ท่วมขังในที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ตำบลคลองน้อยลดลงภายใน 3 วัน

2. พื้นที่ทางตอนล่างบริเวณตำบลคลองกระบือ ตำบลเกาะทวด ตำบลบ้านใหม่ ตำบลหูล่องและตำบลป่าระกำ ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำอยู่ห่างจากคลองระบายน้ำสายหลักค่อนข้างไกล ได้ติดตั้งเครื่องสูบ รวมทั้งสิ้น 14 เครื่อง เร่งสูบน้ำจากคลองสาขาสู่แม่น้ำปากพนัง พร้อมกับติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ รวม 10 เครื่อง เพื่อเร่งระบายในช่วงที่น้ำทะเลลง นอกจากนี้ ยังได้ใช้รถขุด 8 คัน ทำการขุดลอกคลองและกำจัดวัชพืชในคลองสายต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในบริเวณต่างๆลดลงภายใน 5 วัน

การดำเนินการดังกล่าว กรมชลประทาน ได้มองและแก้ปัญหาในภาพรวมเป็นหลัก เพื่อให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้ได้มากที่สุด