กสทช. จี้ เฟซบุ๊ก ยูทูบ เข้าแจ้งให้บริการ OTT ภายใน 30 วัน

23 มิ.ย. 2560 | 07:17 น.
หลังจากที่มีประกาศจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง แนวทางการกำหนดขั้นตอนการแจ้งเป็นผู้ให้บริการกิจการกระจายเสียง OTT ภายใต้กฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์ ซึ่งเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ทาง กสทช. นั้นได้มีการส่งหมายแจ้งไปยังผู้ประกอบกิจการที่เข้าข่ายโอทีทีเพื่อให้รับทราบและทางกลุ่มผู้ประกอบกิจการโอทีทีก็ได้มีการทยอยเข้าแจ้งความประสงค์แล้วตามกระบวนการที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ซึ่งต้องมีการเข้าแจ้งภายใน 30 วัน ตั้งแต่ได้รับการแจ้ง

[caption id="attachment_168079" align="aligncenter" width="503"] พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการ OTT พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการ OTT[/caption]

พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการ OTT กล่าวว่า กิจการโอทีทีนั้น ถือว่าเป็นกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ประเภทหนึ่งซึ่งต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมถึงกฎเกณฑ์เดิมที่ทาง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เคยกำหนดไว้ สำหรับส่วนที่ไม่บังคับใช้กับกิจการโอทีที คือ การเก็บค่าธรรมเนียม ผังรายการ ประกาศมัสต์แครี่และมัสต์แฮฟ. ซึ่งจะมีการบังคับใช้เฉพาะฟรีทีวี โดยทาง กสท.ไม่ได้มีการสร้างกติกาใหม่ สำหรับกลุ่มที่เข้าข่ายกิจการโอทีทีนั้น คือ ผู้ที่แพร่ภาพและกระจายเสียงโดยมีวัตถุประสงค์ส่งไปยังสาธารณะ รวมถึงภาษาที่ทำให้คนไทยเข้าใจได้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทย แต่หากไปเผยแพร่ในต่างประเทศถือว่าไม่เข้าข่าย นอกจากนั้นจะต้องเป็นคอนเทนต์ที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ได้รับแจ้งว่าเข้าข่ายเป็นผู้ประกอบกิจการโอทีทีนั้น ต้องเข้ามาแจ้งกับทาง กสทช. ภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 โดยเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบกิจการพึงกระทำตามกฎเกณฑ์ของไทย ซึ่งตอนนี้มี 14 แพลตฟอร์มที่เข้าข่ายเป็นกิจการโอทีทีและได้ส่งหมายเชิญไปเพื่อแจ้งรายละเอียดแล้ว แต่มีแพลตฟอร์มที่ยังไม่ได้เข้ามาแจ้งความประสงค์ได้แก่ เน็ตฟลิกซ์ เฟซบุ๊ก และยูทูบ โดยหากครบกำหนด 30 วันแล้วยังไม่ได้มีการเข้ามาชี้แจงรายละเอียดกับทาง กสทช. ก็จะถือว่าผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในระบบกฎหมายไทย ซึ่ง กสทช ก็สามารถที่จะใช้มาตรการต่างๆ ตามระบบกฎหมายไทยได้ และส่งผลให้ผู้ที่ใช้แพลตฟอร์มนั้นรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในเชิงธุรกิจอาจได้รับผลกระทบไปด้วย

พ.อ.ดร.นที กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนส่วนมาก โดยทางแพลตฟอร์มดังกล่าวนั้นทำรายได้จากประเทศไทยได้ปีละกว่า 4-5 พันล้านจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายของไทย  รวมไปถึงการชำระภาษีในแบบที่ควรจะเป็น เพื่อนำมาช่วยในการพัฒนาประเทศไทย  นั่นถือเป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณา ซึ่งการส่งหนังสือเชิญไปนั้นเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่พึงกระทำ ไม่ใช่เป็นความสมัครใจของผู้ประกอบกิจการ และเป็นเรื่องที่ต้องขอความร่วมมือ