สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือบุกแบงก์ชาติช่วยดูแลค่าบาทหวั่นกระทบส่งออก Q3

20 มิ.ย. 2560 | 10:54 น.
สภาผู้ส่งสินทางเรือตบเท้าพบผู้บริหารแบงก์ชาติ ขอดูแลค่าเงินบาทใกล้ชิดไม่ให้แข็งค่ากว่าสกุลเงินคู่แข่งขันในภุมิภาค หวั่นกระทบส่งออกไตรมาส 3 ด้าน “วิรไท”แจงบาทแข็งตามภาวะเศรษฐกิจ เงินทุนไหลเข้า ยันพร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลและช่วยวิเคราะห์สถานการณ์

นางสาวกัณญภัค  ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกร่วมกับ คณะกรรมการ สรท. ได้เข้าพบ คุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะผู้บริหาร ธปท. ( 20 มิ.ย.60) ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการ สรท. ได้ยืนยันว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าในปัจจุบันส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกของไทยตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป โดยเฉพาะการกำหนดราคาขายสินค้ากับคู่ค้าที่เศรษฐกิจประสบภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินอ่อนค่า เพราะจะทำให้สินค้าไทยแพงขึ้นอย่างมากในสายตาของผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญทางการค้า อย่างเช่น จีน เวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนซึ่งค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินบาทของไทย อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงฟิลิปปินส์ที่ค่าเงินอ่อนค่า เป็นต้น

[caption id="attachment_166147" align="aligncenter" width="377"] นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์[/caption]

ทั้งนี้ คณะกรรมการ สรท. เสนอให้ ธปท. ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอในการรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้สูงกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ การให้ข้อมูลและทิศทางของค่าเงินบาท รวมถึงสาเหตุของการแข็งค่าและอ่อนค่าในแต่ละครั้งว่าเกิดจากเหตุใด เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออกเข้าใจและสามารถใช้เป็นแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนเสนอให้ ธปท. พิจารณาแนวทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ของไทย สามารถเข้าถึงบริการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้นและมีต้นทุนที่ ไม่สูงเกินไป อาทิ การลดค่าธรรมเนียม การเพิ่มวงเงินสำหรับการใช้บริการป้องกันความเสี่ยง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกมีการใช้บริการป้องกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องมากขึ้น

คณะกรรมการ สรท. ได้รับฟังคำชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ในปัจจุบัน ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในอนาคต ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเอง และมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายประการ โดยเฉพาะการเมืองระหว่างประเทศและการ เข้ามาลงทุนในตลาดทุนและตลาดการเงินระยะสั้น ซึ่งทำให้เกิดการแข็งค่าอย่างรวดเร็วและรุนแรง

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสององค์กร ทั้งการจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและวิเคราะห์ สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปและทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับแจ้งให้กับผู้ส่งออก ได้รับทราบสถานการณ์ที่แท้จริงและรับมือได้ทัน การร่วมมือกันส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก การผลักดันการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการผลักดันให้มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายสินค้ากับประเทศคู่ค้าที่มีความตกลงกันในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น โดยเฉพาะการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้คณะกรรมการ สรท. ได้หารือกับคณะผู้บริหาร ธปท. ถึงประเด็นด้านการเงินอื่นที่เกี่ยวกับการ ประกอบธุรกิจ อาทิ ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของ ผู้ประกอบการโดยมีความเห็นร่วมกันว่าในส่วนของธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้ดีขึ้นเพื่อลดต้นทุน ตลอดจนหันมาให้ความสำคัญกับ FINTECH ให้มากขึ้น เพื่อให้มีความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการและทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งลดต่ำลง