พัทยาเชิญ 101 อาคารแก้ปัญหาน้ำเสีย

19 มิ.ย. 2560 | 10:03 น.
 

พล.ต.ต.อนันต์  เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า ตามที่เมืองพัทยาได้จัดทำแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมและการป้องกันอัคคีภัย ในพื้นที่อาคาร 101 ราย บริเวณวอล์คกิ้งสตรีท เพื่อให้คำแนะนำกับเจ้าของอาคาร/สถานประกอบการ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย การระบายน้ำเสีย เพื่อลดมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการป้องกันเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งพื้นที่อาคารบริเวณวอล์คกิ้งสตรีท 101 ราย เป็นอาคารที่ปลูกสร้างมานานแล้ว ก่อนที่คณะผู้บริหารชุดแต่งตั้งจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง จึงอยากทำความเข้าใจกับทุกท่านว่าสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาคารพักอาศัย สถานประกอบการ/ สถานบันเทิงต่างๆ และก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย คือ ปัญหาสภาพแวดล้อม ปัญหาสังคม และปัญหาการจราจร เป็นต้น ประกอบกับเมืองพัทยาได้รับนโยบายในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนจาก พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากมีการตรวจสอบพบว่าที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางส่วนไม่ได้ดำเนินการจัดระบบบำบัดน้ำเสียและป้องกันสิ่งปฏิกูลที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีการลักลอบปล่อยทิ้งลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม เมืองพัทยาจึงเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านมาร่วมรับทราบถึงสภาพปัญหา อย่างแรกเลยคือปัญหามลพิษ น้ำเสีย ท่อระบายน้ำ รวมถึงปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ดังนั้น จึงมีการหารือร่วมกันในคณะผู้บริหารว่าต้องร่วมกันหาแนวทางแก้ไข จึงเป็นที่มาของการประชุมในครั้งนี้

pat002

ด้านนายสมภพ  วันดี ผู้อำนวยการส่วนจัดการคุณภาพน้ำ สำนักการช่างสุขาภิบาล ได้ชี้แจงในส่วนของการสำรวจสภาพปัญหาของสำนักการช่างสุขาภิบาลว่า สำนักการช่างสุขาภิบาลได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหาน้ำเน่าเสียและสิ่งปฏิกูลในพื้นที่ 101 รายดังกล่าว เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยพบว่า มีเพียง 23 ราย ที่มีการติดตั้งถังแซทส์ (ถังบำบัดน้ำเสีย ที่มีระบบบำบัดน้ำปฏิกูลให้กลายเป็นน้ำดีก่อนระบายลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ) นอกเหนือจากนั้นยังไม่ได้ดำเนินการติดตั้งถังแซทส์ดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการร้านอาหาร โดยเบื้องต้นเราได้แนะนำให้แต่ละร้านรับผิดชอบติดตั้งถังแซทส์และถังดักไขมันในร้านตนให้เป็นที่เรียบร้อย ส่วนร้านใดมีปัญหา เราให้ทำท่อสูบส่งมาที่ท่อรวมด้านหน้า

ขณะที่นายอภิชาติ  วีรปาล รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่าจากข้อมูลสถิติการใช้น้ำ พบว่ามีปริมาณน้ำเสียจำนวนถึง 1,000 ลบ.ม./วัน ส่วนใหญ่มาจากสถานประกอบการร้านอาหาร และส่วนใหญ่เป็นไขมัน ซึ่งยากต่อการบำบัด ส่งผลทำให้เกิดท่อตัน และเกิดผลเสียต่อส่วนรวม จึงขอให้ผู้ประกอบการร่วมมือกัน ต่อท่อ รวบรวม บำบัดกันเอง ซึ่งเมื่อบำบัดเสร็จก็สามารถปล่อยลงสู่ทะเลได้โดยไม่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นที่ผ่านมาอีก ตามนโยบายของ มท.1 ที่ว่า “ปัญหาเกิดที่ไหนให้แก้ที่นั่น”

pat003

อย่างไรก็ตาม จากการประชุมครั้งนี้พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยินดีจะให้ความร่วมมือในการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียและป้องกันสิ่งปฏิกูลให้เป็นระบบรวมที่มีมาตรฐานภาพลักษณ์ที่ดีในการเป็นเมืองท่องเที่ยวของเมืองพัทยาต่อไป นอกจากนี้ พล.ต.ต.อนันต์  เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา ยังได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการระมัดระวังการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่วอล์คกิ้งสตรีท โดยช่วยกันสอดส่องดูแลในจุดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย ทั้งการต่อระบบไฟฟ้า การประกอบอาหารในครัวเรือน/สถานประกอบการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอัคคีภัยตามที่ปรากฏเป็นข่าวดังที่ผ่านมา รวมทั้งให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามในเรื่องป้ายและสายสื่อสารต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎระเบียบของเมืองพัทยา เพื่อให้รถดับเพลิงจะได้สามารถเข้าไปปฏิบัติงานระงับเพลิงได้โดยสะดวกในเวลาเกิดเหตุ และเมืองพัทยาได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันภัยพิบัติฯ พร้อมรถดับเพลิง ประจำการทุกสถานีดับเพลิง ตลอด 24 ชม. เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการออกให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนยามเกิดเหตุได้ทันท่วงที