ขาใหญ่ตลาดหุ้น : ย้อนรอยอาณาจักรเซ็นทรัล

17 มิ.ย. 2560 | 12:32 น.
ขาใหญ่ตลาดหุ้น

ย้อนรอยอาณาจักรเซ็นทรัล



สุทธิเกียรติ 16

สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์


ชื่อเสียงของสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ " 1 ใน 5 เสือใหญ่ "รุ่นที่ 2 ของอาณาจักรค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยในนาม “เซ็นทรัลกรุ๊ป” ในแวดวงตลาดหุ้น อาจจะไม่ค่อยหวือหวา แม้เขาและครอบครัว จะถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มากมายมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท

ธุรกิจหลักๆของครอบครัว จิราธิวัฒน์ ในขณะนี้แบ่งออกเป็น 10 สาย ได้แก่ 1. อาคารสำนักงาน 2. บริหารโรงแรม 3. โรงแรมและรีสอร์ต 4. ที่พักอาศัย 5. ธุรกิจค้าปลีก 6. กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 7.วัสดุก่อสร้าง 8. สินค้าตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า 9. อุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือ และออนไลน์ 10. กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โดยมีบริษัทในเครือรวมกันมากมายนับร้อยบริษัท

central-world
หากตีมูลค่าเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 5 บริษัท คิดเป็นมูลค่าตามราคาตลาด ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2560 สูงถึง 4.13 แสนล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทเซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) มูลค่ามากสุด 3.10 แสนล้านบาท กองทุนรวมสิทธิการเช่า อสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNRF) มูลค่า 3.98 หมื่นล้านบาท

บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) (CENTEL) มูลค่า 5.02 หมื่นล้านบาท และ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) (ROBINS) มูลค่า 6.33 หมื่นล้านบาท

bangkok-bankgkok-hotel-exterior-01-1100x786

ในปี 2519 เซ็นทรัล สยายปีกจากห้างสรรพสินค้า มาซื้อหุ้นบริษัทโพสต์พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์ Bangkok Post และ Posttoday ตามคำชักชวนของเท่ห์ จงคดีกิจ แม้ต่อมา Post จะไม่ถูกนำไปนับรวมว่าเป็นอาณาจักรเซ็นทรัล แต่วันนี้สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ก็ยังถือหุ้นอันดับ 1 จำนวน 121,096,150 หุ้น หรือ 24.22% พร้อมนั่งควบประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร

ธุรกิจห้างสรรพสินค้าของเซ็นทรัลกรุ๊ปวันนี้ สาขาที่ทำกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำคือ สาขาลาดพร้าว และสาขาชิดลม ส่วนสาขาอื่นๆที่มีมากมาย ยังกำไรไม่มาก หรือบางสาขายังขาดทุน เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุน

แต่ 2 สาขาที่ทำกำไรมากมายนั้น กว่าจะมาถึงจุดนี้ มีเรื่องราวที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ธุรกิจที่ถูกโยงใยเข้ากับกลุ่มการเมืองที่อยู่บนพื้นที่ข่าวเมื่อหลายสิบปีก่อน


-1469120518288

เหตุการณ์แรกย้อนไปที่ยุคอดีตผู้นำท่านหนึ่ง ได้รับการแนะนำจากเจ้าสัวผู้เปลี่ยนภรรยาบ่อยให้รู้จักอย่างลึกซึ้งกับนางงามผู้เลอโฉม แต่เมื่ออดีตผู้นำหมดอำนาจ กลับมีรูปและใบปลิวอื้อฉาวไปที่ตู้จดหมายของบรรดาสมาชิกวุฒิสภา จนกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หัวสีหลายฉบับ และหลังจากนั้น 2-3 ปี เซ็นทรัลชิดลม เกิดเหตุไฟไหม้ด้วยข้อสันนิษฐานว่าไฟฟ้าลัดวงจรและเรื่องก็เงียบไป

เหตุการณ์ที่ 2 เซ็นทรัลลาดพร้าว ก็มีเรื่องเล่าไม่แพ้กัน  เซ็นทรัลลาดพร้าว ซึ่งมีสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 47.44 ไร่ เป็นเวลา 30 ปี จากปี 2521-2551 ด้วยค่าตอบแทน 165 ล้านบาท ก่อนจะครบสัญญา ในปี 2549-2550 เซ็นทรัลเริ่มเจรจากับร.ฟ.ท.ขอต่อสัญญาอีก 30 ปี โดยเสนอจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านบาท

แต่มีเสียงทักท้วงหลายทางถึงความไม่เหมาะสม และไม่เป็นธรรม ทำให้เซ็นทรัลเพิ่มตัวเลขใหม่ เป็น 1,400 ล้านบาท

2511

สุดท้ายกรรมาธิการคมนาคม ในสมัยนั้นเห็นว่า ราคาที่เสนอมาตํ่าเกินไปและไม่ยุติธรรม จึงได้เข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้ โดยเทียบเคียงกับกรณี ห้างมาบุญครอง ที่เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 22 ไร่ 30 ปี แต่ต้องจ่ายค่าเช่าถึง 2.6 หมื่นล้านบาท

ตัวแทนของเซ็นทรัล เข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการคมนาคมว่า เซ็นทรัลได้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากมาย เพราะเซ็นทรัล ได้สร้างความเจริญให้กับพื้นที่ ควรจะได้สิทธิพิเศษ แต่คณะกรรมาธิการไม่เห็นด้วยบอกให้ตัวแทนเซ็นทรัลคิดใหม่ ใครให้ประโยชน์ใคร!

เพราะว่า ...1. รัฐบาลต้องสร้างทางด่วนมาลงในพื้นที่ 2. รัฐต้องลากรถเมล์ของ ขสมก. นับสิบสาย ให้ผ่านหน้าห้าง ทั้งๆที่ขสมก. ยังขาดทุน เป็นหนี้อยู่กว่า 3 หมื่นล้านบาท และ 3. ร.ฟ.ท.ผู้ให้เช่าพื้นที่ก็ยังขาดทุนตลอด

“การทวงบุญคุณ ในขณะที่องค์กรของรัฐยังขาดทุนแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เอามาอ้างไม่ได้”

ปรากฏว่า...หลังกรรมาธิการคมนาคมตรวจสอบเสร็จ เซ็นทรัล ยอมจ่ายผลตอบแทนให้การรถไฟฯเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าที่เสนอครั้งแรกเกือบ 20 เท่าตัว

คอลัมน์ : ขาใหญ่ตลาดหุ้น /หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3271 ระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายน 2560