“ดีป้า”ติวเข้มดิจิทัล “ผู้ประกอบการชุมชน”เป้า 5 แสนราย

16 มิ.ย. 2560 | 13:38 น.
“ดีป้า” โชว์ผลสำเร็จ   หลังส่งวิทยากรอาสาติวเข้มดิจิทัลให้ “ผู้ประกอบการชุมชน” นำร่อง  10 จังหวัด  ตั้งเป้าพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย สร้างคนพันธุ์ดิจิทัลให้ได้ใน 5 ปี  พร้อมเล็งต่อยอดโครงการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หวังยกระดับสินค้าชุมชนแข่งขันระดับอาเซียน-ตลาดโลก

de

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)  เผยถึงผลสำเร็จของ “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล” ว่า  เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ดีป้าได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้าไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นให้ดิจิทัลเข้าไปมีบทบาทและยกระดับสังคมไทยในทุกมิติ  เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยในทุกระดับ โดยโครงการดังกล่าวได้เข้าไปช่วยเหลือและพัฒนาชุมชน วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ประกอบการ ด้วยการเคลื่อนย้ายข้อมูลสู่ดิจิทัล ด้วยการส่งวิทยากรอาสา (Agent) จำนวน 400 คน ลงพื้นที่อบรมผู้ประกอบการในพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่อง ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้  ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี รวม 4,000  คน  ทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลให้เกิดการพัฒนาที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจของตัวเอง และขยายผลไปยังผู้ประกอบการอื่นๆ ในพื้นที่ของชุมชน

ผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่ออกมา ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกระดับ นอกเหนือจากระบบ Thailand I love U  ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นแบบบูรณาการทั้งด้านการวางแผนเส้นทางท่องเที่ยว การซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับชุมชนแล้ว การประกวด B2C Application from Tech-Startup ในหัวข้อ “The Better THAILAND with Digital Services”  ยังเป็นการดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีศักยภาพ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา Application เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

de3

“วิทยากรอาสา 400 คน ที่ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ 4,000 คน ถือเป็นตัวแปรและเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างมูลค่าและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  ซึ่งโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เป็นการสานต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเข้า เสริมจุดแข็งให้กับชุมชน รวมทั้งแอพพลิเคชั่น Thailand I Love U ที่จะเข้าไปส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในระดับชุมชน ซึ่งตรงนี้จะเข้าไปเชื่อมโยงกับไปรษณีย์ไทย ที่เป็นเจ้าภาพหลักในการส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถแข่งขันในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนตลาดโลกได้  ทั้งนี้ ดีป้าจะพัฒนาต่อยอดโครงการดังกล่าว เพื่อให้ชุมชนทั้งประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของดิจิทัลในอนาคต เกิดความเข้มแข็งและพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนทำให้ชุมชนสามารถเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้

 

ดร.ณัฐพล กล่าวอีกว่า ดีป้าได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าใน 20 ปีข้างหน้า จะต้องมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้ง Digital Entrepreneur จำนวน  500,000 ราย เพื่อจะพลิกโฉม 24,700 ชุมชน ใน 77 จังหวัด 3 ล้านเอสเอ็มอี และ 5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศให้ขับเคลื่อนโดยฐานดิจิทัลซึ่งเป็นแบบใหม่ของระบบเศรษฐกิจประเทศ แต่แม้ว่า แผนระยะยาวจะถูกกำหนดไว้ 20 ปี แต่ดีป้ามั่นใจว่า  การพัฒนาบุคลากรและสร้างคนด้านดิจิทัล  สามารถดำเนินการให้เห็นผลได้ภายในกรอบระยะสั้น 5 ปี (พ.ศ.2560 – 2564) เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การดำเนินให้ได้ตามแผนระยะสั้น จึงถือว่ามีความสำคัญ

 

ทั้งนี้ ภายในงานได้มีพิธีมอบรางวัลให้กับผู้ชนะการประกวด B2C Application from Tech-Startup ในหัวข้อ “The Better THAILAND with Digital Services”  ภาคกลาง  รางวัลชนะเลิศ  Liluna    รางวัลรองชนะเลิศ TripGuru  และรางวัลชมเชย 2 รางวัล คือ Huolto และ 9 วัด ปัง ปัง@dbizcomSDU     ภาคเหนือรางวัลชนะเลิศ Knight Club    รางวัลรองชนะเลิศ Thai Portals      ภาคตะวันออก  รางวัลชนะเลิศ ทีม Yusai

รางวัลรองชนะเลิศ mRestaurant    และภาคใต้  รางวัลชนะเลิศ Miex  รางวัลรองชนะเลิศ Handigo Thailand

โดยผู้ชนะเลิศได้รับเงินรางวัล 250,000  บาท  รางวัลรองชนะเลิศ 120,000 บาท และรางวัลชมเชย 60,000 บาท