เกษตรฯนำร่องสวนมะพร้าวอินทรีย์ “เกาะพะงัน” ตัดวงจรหนอนหัวดำ

15 มิ.ย. 2560 | 08:58 น.
กรมวิชาการเกษตร เร่งตัดวงจร“หนอนหัวดำ” สวนมะพร้าวอินทรีย์ นำร่อง”เกาะพะงัน ใช้หมัดเด็ดกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน หวังกู้คืนแหล่งผลิต 472.5 ไร่ใน 2 จว. ต่อลมหายใจเกษตรกรหัวใจออร์แกนิก

 

[caption id="attachment_163341" align="aligncenter" width="377"] นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ[/caption]

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวได้ขยายวงกว้างขึ้นครอบคลุมพื้นที่ 29 จังหวัด รวม 167,234 ไร่ โดยพบการระบาดมากใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ 139,575 ไร่ ชลบุรี 6,794 ไร่ สุราษฎร์ธานี 5,201ไร่ สมุทรสาคร 2,899 ไร่ และฉะเชิงเทรา 2,351 ไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวอินทรีย์ได้รับความเสียหายจากการทำลายของหนอนหัวดำ จำนวน 472.5 ไร่ ซึ่งอยู่ใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ 331.5 ไร่ เกษตรกร 43 ราย และประจวบคีรีขันธ์ 141 ไร่ เกษตรกร 12 ราย จำเป็นต้องเร่งควบคุมและจำกัดพื้นที่ระบาดก่อนที่สวนมะพร้าวอินทรีย์ของประเทศที่มี จำนวน 2,270.5 ไร่ จะเสียหายเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อปกป้องพื้นที่และคงสภาพสวนมะพร้าวอินทรีย์ และต้องการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหา และส่งเสริมนโยบายเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตรได้เร่งดำเนินการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำในสวนมะพร้าวอินทรีย์ 2 พื้นที่ ได้แก่ แปลงมะพร้าวอินทรีย์ที่อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี 331.5 ไร่ และอำเภอทับสะแก และบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์141ไร่ โดยเน้นให้เกษตรกรมีส่วนร่วมพร้อมใช้เทคโนโลยีการควบคุมกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวแบบผสมผสาน และจัดการควบคุมการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวอย่างยั่งยืน

สำหรับ เกาะพะงันเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวอินทรีย์ที่มีศักยภาพสูง แต่ละปีได้ผลผลิตประมาณ..700,000 ลูก/ปี นอกจากนี้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวเกาะพะงันยังให้ความสนใจการทำเกษตรอินทรีย์ โดยอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนลดการใช้สารเคมี โดยได้กำหนดเป้าหมายขยายพื้นที่มะพร้าวอินทรีย์ในเกาะพะงันให้ได้ 1,500 ไร่ ภายในปี 2564 อีกทั้งในปีงบประมาณ 2560 ยังได้เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อร่วมกันบริหารจัดการผลผลิตมะพร้าวเกาะพะงันแบบครบวงจรอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตมะพร้าวอินทรีย์ของเกษตรกร ทำให้ต้นมะพร้าวถูกทำลายและได้ผลผลิตลดลงค่อนข้างมาก กรมวิชาการเกษตรจึงเร่งสร้างการรับรู้การป้องกันกำจัดหนอนหัวด้วยชีววิธีในสวนมะพร้าวอินทรีย์บนเกาะพะงัน
โดยส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบปัญหาดังกล่าว จัดทำแปลงต้นแบบการควบคุมกำจัดหนอนหัวดำแบบผสมผสาน ซึ่งมีสถานีเรียนรู้เรื่องหนอนหัวดำ สถานีเรียนรู้การตัดทางใบมะพร้าวที่มีหนอนหัวดำระบาด สถานีการผลิตแตนเบียน สถานีเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ สถานีเรียนรู้การย่อยทางใบมะพร้าว และสถานีเรียนรู้สารชีวภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรที่สนใจให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในแปลงมะพร้าวอินทรีย์ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นกรมวิชาการเกษตรจะเร่งขยายผลสร้างการรับรู้การป้องกันกำจัดหนอนหัวด้วยชีววิธีในสวนมะพร้าวอินทรีย์ ไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาด้วย

S__2105445
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงแนวทางการควบคุมกำจัดหนอนหัวดำแบบผสมผสานว่า เบื้องต้นได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเจ้าของแปลงมะพร้าวอินทรีย์ตัดทางใบด้านล่าง ที่พบการทำลายในมะพร้าวที่มีทางใบมากกว่า 13 ทางใบ และเผาทำลายเพื่อตัดวงจรการระบาดของหนอนหัวดำระยะไข่ ระยะตัวหนอน และระยะดักแด้ ขณะเดียวกันยังมีการปล่อยแตนเบียนโกนีโอซัส นีแฟนติดิส (Goniozus nephantidis) จำนวน 200 ตัว/ไร่/ครั้ง ให้กระจายทั่วแปลงทุกเดือน รวม 7 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2560 และปล่อยแตนเบียนบราคอน ฮีบีเตอร์ (Bracon hebetor) 200 ตัว/ไร่/ครั้ง ทุกๆ 15 วัน รวม 14 ครั้ง ซึ่งแต่ละวิธีที่นำมาใช้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือ มกษ.9000-2552 และไม่กระทบต่อสภาพสวนอินทรีย์ เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมี

“กรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชเร่งผลิตพ่อแม่พันธุ์แตนเบียนโกนีโอซัสพันธุ์คัด จำนวน 22,000 ตัว/เดือน ส่งมอบให้ศูนย์ผลิตพันธุ์ขยาย 7 ศูนย์ ดำเนินการผลิตแตนเบียนพันธุ์ขยายเพิ่มปริมาณมากขึ้น มีเป้าหมายเดือนละ ประมาณ 90,000-110,000 ตัว และทยอยส่งมอบให้กับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 (สวพ.7) จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำไปให้เกษตรกรปล่อยในพื้นที่สวนมะพร้าวอินทรีย์ที่มีหนอนหัวดำระบาดอย่างต่อเนื่องทุกเดือน รวมแตนเบียนที่ผลิตและปล่อยทั้งหมด 630,000-770,000 ตัว คาดว่า การควบคุมกำจัดหนอนหัวดำในแปลงมะพร้าวอินทรีย์โดยใช้แนวทางชีววิธี จะช่วยฟื้นฟูและกู้คืนสวนมะพร้าวอินทรีย์ที่ถูกหนอนหัวดำเข้าทำลายได้ และคาดว่า จะสามารถรักษาและยังคงสภาพสวนมะพร้าวอินทรีย์เอาไว้ได้ ช่วยต่อลมหายใจให้กับเกษตรกร ทำให้มีผลผลิตมะพร้าวอินทรีย์ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตและทำให้รายได้สูงขึ้นด้วย” นายสุวิทย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 60ที่ผ่านมาได้อนุมัติปรับแผนการดำเนินโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว(หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคุลมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอ โดยอนุมัติให้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการใน 3วิธี คือ 1. ให้ กษ. ปรับแผนการดำเนินโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน จากเดิมดำเนินการในพื้นที่ 78,954 ไร่จำนวน 1,973,850 ต้น เป็นดำเนินการในพื้นที่ 109,409 ไร่ จำนวน 3,877,134 ต้น 2. ให้ กษ. ถัวจ่ายงบประมาณข้ามรายการ ภายใต้วงเงินงบประมาณที่ได้รับเดิมคือ 287ล้าน เพื่อดำเนินโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว(หนอนหัวดำ)ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนและ3.ขยายระยะเวลาดำเนินงานโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว(หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนจากเดือนเมษายน 2560 - เดือนธันวาคม 2560 เป็นเดือนเมษายน 2560 - มิถุนายน 2561

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยอากาศที่ร้อนและมีฝนตกทำให้หนอนหัวดำมีการแพร่ระบาดมากขึ้นจาก 7 หมื่นกว่าไร่เพิ่มเป็น 2 แสนกว่าไร่ ดังนั้น จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการกำจัดบางส่วนเพื่อให้สอดรับการกระจายหนอนหัวดำที่มีมาก ส่วนที่มีความกังวลในเรื่องการใช้สารเคมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯยืนยันว่ากรมวิชาการเกษตรพิจารณาแล้ว พบว่าสารเคมีที่ใช้ไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตรวมถึงไม่มีสารตกค้าง

ดังนั้น เกษตรกรและประชาชนที่บริโภคมะพร้าวจึงไม่ต้องกังวล นอกจากนี้ มีการผลิตแตนเบียนแล้ว 7 แสนกว่าตัว ส่วนการฉีดพ่นสารเคมีอยู่ในระหว่างเตรียมประมูลราคา เพื่อให้บริษัทเข้ามาดำเนินการ และนายกรัฐมนตรีเน้นว่าต้องมีความโปร่งใสและต้องไม่ให้มีข้อครหาเกิดขึ้น

สำหรับมะพร้าวเป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจของประทศ. มีพื้นที่ปลูกทั่วประเทศประมาณ 1,240,874ไร่.และในจำนวนดังกล่าวกำลังประสบปัญหาหนอนหัวดำระบาดใน 29 จังหวัดคิดเป็นพื้นที78,954ไร่หรือคิดเป็นร้อยละ6 ของพื้นที่ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 10,000 ล้านบาท