ทางออกนอกตำรา : คิงเพาเวอร์ กับ ห้องลับ Private Jet

14 มิ.ย. 2560 | 07:40 น.
ทางออกนอกตำรา

โดย : บากบั่น บุญเลิศ 

คิงเพาเวอร์กับห้องลับ Private Jet

ท่ามกลางความกังขาของสังคมที่ยังไม่ได้รับการคลี่ปมการทำธุรกิจที่ส่อเข้าข่ายผูกขาด การสร้างความมั่งคั่งอย่างไม่หยุดหย่อนแค่เพียง 10 ปี กระทั่งเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา แห่งอาณาจักรคิงเพาเวอร์ ถูกนิตยสารฟอร์บส์จัดทำเนียบเศรษฐีไทยให้เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ด้วยจำนวนทรัพย์สินมูลค่า 4,200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.47 แสนล้านบาท

การได้มาซึ่งสัมปทานจากบริษัทท่าอากาศยานไทยฯ (ทอท.) โดยไม่ต้องผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เข้าไปบริหารร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ในสนามบินนานาชาติ กระทั่งคิง เพาเวอร์มีอำนาจเสมือนเจ้าของพื้นที่ให้เช่าในสนามบินไปด้วย ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิ์ของ ทอท.

ไม่นับรวมธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างค้าปลีก ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงละคร ภายใต้บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรีฯ บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรีฯ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิฯ บริษัท คิง เพาเวอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ฯ

-_c2z2h8tg7iw81eutxki9cvg9z

แม้ว่าคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะตรวจสอบและสรุปประเด็นความไม่ชอบมาพากลส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ระหว่างรอการพิจารณา อาทิ ประเด็นคิง เพาเวอร์ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ, ทอท. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหายในการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ หรือการไม่มีการติดตั้ง Point of sale เชื่อมโยงข้อมูลการจัดเก็บรายได้ที่โปร่งใส เป็นต้น

แม้ว่านางรวิฐา พงษ์นุชิต ในนามนายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย จะยื่นเรื่องให้ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัยออกมาแล้ว อยู่ในขั้นตอนส่งให้นายกฯ กรณีจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Pick up counter) ที่สั่งให้ ทอท.ไปแก้ไขให้มีผู้ประกอบการรายอื่นด้วย เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อเสรีทางการค้าระหว่างประเทศ ผู้ตรวจฯ กำลังส่งให้นายกฯ และกระทรวงคมนาคมในฐานะเจ้าสังกัดสั่งการ

ขณะที่สังคมให้ความสนใจและต้องการความกระจ่างในประเด็นเหล่านี้ ทว่าวันนี้ กลุ่มคิง เพาเวอร์ไม่เพียงเพิกเฉยต่อกระแสดังกล่าว กลับเดินหน้าขยายอาณาจักรธุรกิจอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญ ตอกยํ้าความกังขาในสังคม ด้วยการทำหนังสือลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 ถึงนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ขอให้ก่อสร้างอาคารเพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารที่เดินทางโดยอากาศยานส่วนบุคคล (Private Jet) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง

ประกอบทางออกนอกตำรา

ไม่แปลกที่กลุ่มคิง เพาเวอร์จะยื่นเรื่องดังกล่าว แต่หากพิจารณาจากพฤติกรรมในอดีตกับการไม่ออกมาชี้แจงในประเด็นปัญหาที่ถูกตั้งคำถาม ยิ่งถ้ามองการเอื้อประโยนชน์จากผู้บริหารและบอร์ด ทอท.ด้วยแล้ว ทำให้หลายฝ่ายอดสงสัยไม่ได้ว่า งานนี้เอกชนกับหน่วยงานรัฐเจ้าเดิม จะร่วมกันสร้างปรากฏการณ์ซํ้ารอย เพื่อสร้างความรํ่ารวยผูกขาด เอาเปรียบผู้ค้ารายอื่น และเบียดบังรายได้จากรัฐอีกหรือไม่?

การขออาคารส่วนตัว คงไม่เพียงเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับลูกค้าผู้โดยสารเท่านั้น หากเกิดขึ้นจริง ผู้บริหารหรือเจ้าของคิง เพาเวอร์อาจจะได้รับความเป็นส่วนตัวไปด้วย เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความมั่งคั่งในที่ลับกับการได้พื้นที่อิสระประมาณว่า เขตทหารห้ามเข้า กลายเป็นอาณาจักรส่วนตัวที่บุคคลภายนอกไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ หากเป็นเช่นนั้นธุรกิจนำเข้าสินค้าโดยไม่ต้องเสียภาษีจะเบ่งบานมากขึ้น แน่นอนความอู้ฟู่ ส่งผลให้เจ้าสัววิชัย ไต่อันดับเศรษฐีขึ้นไปได้อีก

1497425820061

สาระสำคัญหนังสือชิ้นนี้ มาจากบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยนายสมบัตร เดชาพานิชกุล รองประธานกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจ ทำเรื่องขออาคาร Private Jet โดยไม่ต้องให้ผู้โดยสารผ่านอาคารของ บริษัท เอ็ม เจ็ทส์ จำกัด (M Jets) ขอเป็นอาคารชั้นเดียว บริเวณช่องทางประตู 4 เพื่อให้สามารถผ่านเข้าออกไปยังอาคารโรงเก็บอากาศยานของตนโดยตรง

ขั้นตอนอยู่ระหว่างการตรวจทาน โดยนายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ในฐานะรับผิดชอบหน้างาน ก่อนจะส่งให้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ซึ่งนายนิตินัยบอกว่า ตามหลักการ สนามบินก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมเรื่องพื้นที่และหลักเกณฑ์ แต่ถ้ามีเรื่องเสนอรายได้หรือผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่ม ก็ต้องส่งต่อไปยังคณะกรรมการรายได้ของ ทอท.พิจารณาต่อไป

จับตาและได้แต่หวังว่าโครงการขยายอาณาจักรเพิ่มเติม จะไม่ซํ้ารอยเดิม รอยที่มีตำหนิ มาตั้งแต่เริ่ม!!!...
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา /หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3270 ระหว่างวันที่ 15-17 มิ.ย.2560