ผุดรถไฟรางเบา โมเดลขนส่งแก้จราจรหัวเมืองใหญ่

17 มิ.ย. 2560 | 12:00 น.
สํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ สังกัดกระทรวงคมนาคมมีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและวางแผนการขนส่งและจราจรของประเทศมองเห็นความสำคัญของการจัดการปัญหาการเดินทางและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพในหัวเมืองใหญ่ในส่วนภูมิภาค และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ที่เหมาะสมต่อสภาพเมืองนั้นๆ เพื่อให้ได้แผนงานที่เป็นรูปธรรมสำหรับการพัฒนาในระยะสั้น กลาง และยาวรวมทั้งรูปแบบการลงทุน การจัดการองค์กรและการบริหารจัดการระบบให้ยั่งยืน

++ขอนแก่น รอเสนอครม.
ขอนแก่นเป็นจังหวัดต้นแบบของการพัฒนาเมืองใหญ่ด้วยระบบขนส่งมวลชนในรูปแบบของรถไฟรางเบา โดยภาคเอกชนในจังหวัดรวมตัวก่อตั้งเป็นบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด หรือเคเคทีที ด้วยทุนจดทะเบียน 200ล้านบาท และมีความคืบหน้าอย่างเป็นระบบมากที่สุด

[caption id="attachment_148858" align="aligncenter" width="428"] เข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น เข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น[/caption]

นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่นกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเป้าหมายของขอนแก่นพัฒนาเมืองในการสร้างรถไฟรางเบาแนวเหนือใต้ สำราญ ท่าพระ มีระยะทางรวม 26 กิโลเมตร จำนวน21 สถานี ใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ 15 ขบวน ขบวนละ 3ตู้ สามารถจุผู้โดยสารได้ 180 คนความคืบหน้าล่าสุด 5 เทศบาลในจังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วยเทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลสำราญ และเทศบาลตำบลท่าพระ ซึ่งเป็นเส้นทางที่รถไฟรางเบาวิ่งผ่าน ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเท็มส์ฯ หรือเคเคทีเอส(KKTS) ด้วยทุนจดทะเบียน 5ล้านบาท ให้เป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการเดินรถ จัดทำ TORเพื่อจัดหาผู้ดำเนินการก่อสร้างและจัดเก็บรายได้ของระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งขณะนี้ ขอนแก่นทรานซิท ซิสเท็มส์ กำลังดำเนินการประสานโครงการต่อ ทั้งในส่วนของผลการศึกษาจากงบของสนข.ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน รวมถึงการประสานกับกรมทางหลวง และกรมธนารักษ์เพื่อขอใช้พื้นที่เกาะกลางถนนจากนั้น นำเข้า ครม.เพื่อรออนุมัติโดยคาดว่า ปลายปี 2560 นี้ จะเริ่มก่อสร้างได้อย่างเป็นทางการมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562-2563 ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5หมื่นล้านบาท

สิ่งที่เห็นรูปธรรมในขณะนี้คือ การเปิดบริการรถบัสโดยสารปรับอากาศ ขอนแก่นซิตี้บัส ที่เชื่อมท่าอากาศยานขอนแก่นกับสถานีขนส่งผู้โดยสาร 3 แห่งในแนวตะวันออก-ตะวันตก โดยผ่านสถานที่สำคัญในตัวเมือง มีบริการไว-ไฟในรถบัส สามารถชำระค่าโดยสารด้วยสมาร์ทการ์ด

++เชียงใหม่สรุปมิ.ย.นี้
จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคมการคมนาคม วัฒนธรรม การค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายมีนักท่องเที่ยวมาเยือนจำนวนมากตลอดทั้งปีมีการขยายตัวของเมืองไปสู่รอบนอกอย่างรวดเร็วทำให้มีจำนวนการเดินทางเพิ่มขึ้นสูง แต่เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถรองรับความต้องการการเดินทาง ทำให้เกิดปัญหาด้านการจราจรอย่างต่อเนื่อง

รศ.ดร.บุญส่ง สัตโยภาสผู้จัดการโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยว่า แนวทางพัฒนาระบบโครงข่ายที่เป็นโครงข่ายแผนแม่บท 2 โครงข่าย ทั้ง 2 โครงข่ายระบบดักและระบบฟีดเดอร์ซึ่งระบบดักจะเป็นรถไฟรางเบาหรือแอลอาร์ที จำนวน 3 เส้นทางคือสีแดง นํ้าเงิน เขียว สายทางละประมาณ 12 กม. หรือรวมกันประมาณ 36 กม.สำหรับฟีดเดอร์จะมี 2 ระบบ ฟีดเดอร์ที่อยู่ในสายทางในเมือง ระยะทางประมาณ20 กม. ระบบฟีดเดอร์นอกเมืองที่เชื่อมระหว่างอำเภอรอบนอกเข้ามาสู่ระบบหลัก สายทางละประมาณ 15 กม.รวมจะมีโครงข่ายขนส่งสาธารณะประมาณ 200กม. ภายในเขตชุมชนหรือในเขตเมือง ซึ่งอาจต้องใช้เงินลงทุนถึง2 หมื่นล้านบาท โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณ 80% และเอกชนระดมทุนอีก 20%

LRTCM ทางโครงการจะมีการจัดประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายในเดือนมิถุนายน 2560 เพื่อนำเสนอโครงข่ายทั้ง 2 และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและข้อห่วงใยของประชาชนเพื่อจะสรุประบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำเสนอต่อไป เมื่อพิจารณาโครงข่ายทางเลือกเสร็จสิ้นแล้วจึงจัดให้มีการออกแบบทางวิศวกรรม ความเป็นไปได้ในการลงทุน
หลังจากนั้นจะเป็นกระบวนการออกแบบดำเนินการก่อสร้างต่อไป ผลการศึกษานี้คาดการณ์อีกไม่เกิน 3 เดือนจะต้องส่ง หลังจากนั้น สนข.ก็จะผลักดันเสนอ ครม.ต่อไป

++ภูเก็ตเดินเครื่อง
ทางด้านภูเก็ต จังหวัดท่องเที่ยวติดอันดับโลก ได้มีการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยเช่นกัน โดยภาคเอกชน 25ราย ก่อตั้งบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน100 ล้านบาท มีเป้าหมายวางแผนพัฒนาเมืองภูเก็ตในแนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด หรือSmart Growth และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งหรือ Transit-Oriented Development (TOD)โดยโครงการใหญ่สุดคือ การก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะด้วยรถไฟรางเบาหรือแอลอาร์ทีซึ่งมีงบลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2561-2563 จะใช้เวลาในการก่อสร้างจำนวน 3 ปี รวมระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร มี 24สถานี จะมีกำหนดเปิดให้ประชาชนได้ใช้ในช่วงปี 2564
ดร.เผด็จ จินดา กรรมการผู้จัดการบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมืองจำกัด เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้จัดสัมมนา และนำเสนอนิทรรศการผลงานของบริษัทและมีพิธีการลงนามบันทึกความร่วมมือ MOU กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนและภาคเอกชนรวมทั้งสิ้น 12 หน่วยงาน

ทิศทางการพัฒนาจะเป็นการขนส่งมวลชนด้วยสมาร์ทบัสขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและรถไฟรางเบา หรือ แอลอาร์ที รวมทั้งการพัฒนาปรับปรุงทางนํ้า ท่าเรือจุดจอด พัฒนาพื้นที่รองรับและรูปลักษณ์ เรือโดยสาร นำเที่ยวในทุกระดับชั้น การพัฒนาพลังงานทางเลือก แหล่งนํ้าและรีไซเคิลของเสีย การทำแผนที่ 3 มิติเพื่อรองรับทุกความต้องการ ระบบแอพพลิเคชันบริการนักท่องเที่ยวของเมืองภูเก็ต ระบบแสงสว่างอัจฉริยะเพื่อความสะดวกและปลอดภัย การสร้างแลนด์มาร์กให้เป็นสัญลักษณ์เมือง การสร้างระบบบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความประทับใจแด่ผู้มาเยือนภูเก็ต

สนข.ยังเสนอให้เมืองใหญ่อื่นๆ อย่างนครราชสีมา พิษณุโลกระยอง สระบุรี สมุทรสาคร ก่อตั้งบริษัทพัฒนาเมืองเพื่อลงทุนสร้างระบบขนส่งสาธารณะ ลดปัญหาการจราจรติดขัด โดยแต่ละเมืองอาจมีรูปแบบที่แตกต่างกันบ้าง ในส่วนระบบหลักโดยอาจเริ่มต้นด้วยรถบีอาร์ที ซึ่งเป็นระบบที่มีราคาถูกกว่ารถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็สามารถพัฒนาให้มีความมั่นคงขึ้นเช่นเมืองใหญ่ได้

mp24-3270-a จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,270 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560