สาระสำคัญ‘พ.ร.บ.กกต.’ ล้มกกต.จังหวัด-ชูผู้ตรวจฯ

17 มิ.ย. 2560 | 02:00 น.
ภายหลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว และให้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 177 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 183 คน เมื่อวันศุกร์ที่9 มิถนายนที่ผ่านมานั้น ความน่าสนใจหลังจากนี้ สังคมจะจดจ้องไปที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เหลืออีก 3 ฉบับ ที่สนช.ต้องเร่งพิจารณาให้เสร็จภายใน 240วัน หรือ 8 เดือน ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล

++สนช.ถกพ.ร.บ.พรรค15มิ.ย.
ทั้งนี้ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช.ประกอบด้วย 1.พ.ร.ป.ว่าด้วพรรคการเมือง 2.พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ซึ่งกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับ(รวมทั้ง พ.ร.ป.กกต.) เป็นพ.ร.ป.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้การเลือกตั้งอาจจะจัดขึ้นไม่ได้

ส่วนกฎหมายลูกที่เหลืออีก 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1.พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3.พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 4.พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 5.พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และ 6.พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทั้งหมดอยู่ในระหว่างการยกร่างของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งต้องเสนอต่อสนช. ภายใน 240 วัน เช่นเดียวกับร่างพ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับข้างต้น

น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิป สนช.) ได้ชี้แจงลำดับการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวาระ 2 และวาระ 3 หลังจากที่พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผ่านการพิจารณาของ สนช.ในวาระ 3 ว่า

[caption id="attachment_161735" align="aligncenter" width="503"] นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.)[/caption]

“พ.ร.ป.กกต.เป็นพ.ร.ป.ฉบับแรกจาก 10 ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสภา ถัดไปในวันที่15 มิถุนายน จะมีร่างพ.ร.ป.ว่าพรรคการเมือง ตามมาในวาระ2-3 อีก 1 ฉบับ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ส่ง 2 ฉบับนี้มาก่อนเพื่อให้การเมืองเคลื่อนได้โดยเฉพาะพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ต้องเร่งออกมาเพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ มีเวลาเตรียมตัวเพื่อปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ออกใหม่ จากนั้นจะตามมาด้วยพ.ร.ป. ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอีก2 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายน่าจะเป็นพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เพราะเมื่อประกาศราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ครบ 4 ฉบับแล้วการเลือกตั้งส.ส.จะต้องเกิดใน 150 วัน”

++สาระสำคัญพ.ร.ป.กกต.
สำหรับร่างพ.ร.ป.กกต.นั้น น.พ.เจตน์ ระบุว่า มีประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมาก คือ

1.บทเฉพาะกาล ได้ข้อสรุปจากการพิจารณาของสนช.ในวาระ 3 ว่า กกต.ทั้ง 5 คนให้พ้นจากวาระไปนับแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ แต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากกต.ชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่

2.กฎหมาย กกต.ฉบับใหม่ กำหนดไม่ให้มีกกต.จังหวัดแต่ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งจำนวน5-8 คนขึ้นมาแทน โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อไว้ล่วงหน้า 5 ปีให้ผู้มีภูมิลำเนาในจังหวัด 2 คนที่เหลือให้มาจากจังหวัดอื่น ให้อยู่ในวาระชั่วคราว เริ่มแต่งตั้งให้แล้วเสร็จหลังมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับในเวลาไม่ช้ากว่า 10 วัน และพ้นไปเมื่อประกาศผลการเลือกตั้งหรือภายหลังจากนั้นไม่เกิน 60 วันตามภารกิจ

3.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้ มีกกต. 7 คน โดยมีวาระ 7 ปี มีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิม อาทิ กกต.มีอำนาจจัดการเลือกตั้งส.ส., ส.ว. มีอำนาจในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นและการออกเสียงประชามติ โดยกกต.แต่ละคนอาจได้รับมอบหมายจากกกต.ให้สืบสวนหรือไต่สวนเป็นตัวบุคคลหรือคณะบุคคลก็ได้ตลอดจนมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ หรือสั่งให้ระงับ หรือยับยั้งการดำเนินการเลือกตั้งในบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งแต่ต้องรายงานกกต.ให้ทราบโดยเร็ว

4.คณะกรรมการสรรหากกต. มีประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ในการสรรหาจะต้องมีการปรึกษาหารือกันในระหว่างกรรมการ ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องบันทึกเหตุผลของกรรมการสรรหาแต่ละคนเป็นหลักฐานไว้ด้วย โดยใช้เกณฑ์คะแนนเสียง 2 ใน 3 ถ้าไม่ได้กกต.ใน 3 รอบให้เปิดรับสมัครใหม่ได้

น.พ.เจตน์ ยังได้ระบุถึงเหตุผลที่ต้องเซตซีโร่ คณะกรรมการกกต.ว่า ตามข้อแถลงของกรธ.ที่นำคำปรารภตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ และเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง โดยหยิบยกถึงอำนาจหน้าที่ใหม่ของกกต.ที่เพิ่มขึ้นมาก ตลอดจนโครงสร้างและจำนวนของกกต.ที่เปลี่ยนไป กกต.บางคนมีคุณสมบัติไม่ครบตามรัฐธรรมนูญใหม่ บางคนก็ใกล้จะหมดอายุลงและต้องสรรหากกต.ใหม่ให้ครบ7 คน

“แม้จะมีผู้สงวนคำแปรญัตติและอภิปรายค้านในสภาแต่สุดท้ายก็ผ่านวาระ 2-3 ไปเรียบร้อย รอให้สภาส่งร่างฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านวาระไปให้กรธ.และกกต. ไม่ทราบว่ากกต.จะตีความไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่เห็นด้วยอาจจบลงที่ตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย แต่คงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเพราะกกต.มีเพียงเสียงเดียว” น.พ.เจตน์ ระบุก่อนหน้านี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง ออกมาระบุว่า กกต.เตรียมหารือที่ปรึกษากฎหมาย และประชุมกรรมการ กกต. เพื่อหารือและมีมติว่าจะส่งประเด็นกฎหมายใดที่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่ โดยจะหารือกันในวันที่ 14 มิถุนายนนี้

++3ปีกกต.จัดหย่อนบัตร3ครั้ง
ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุด นายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธานและกรรมการอีก 4 คนประกอบด้วย นายบุญส่ง น้อยโสภณ, นายประวิช รัตนเพียร,นายสมชัย ศรีสุทธิยากร และนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์กำลังพลิกช่องทางข้อกฎหมายเพื่อต่อสู้ให้พ้นบ่วงจากการเซตซีโร่ ตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ลองมาดูผลงาน 3 ปีที่ผ่านมาของ กกต.ว่าได้ดำเนินการทำอะไรไปบ้าง

หากนับย้อนไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2556 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่กกต.เข้าปฏิบัติหน้าที่ ได้จัดการเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ใช้งบจัดเลือกตั้ง 2,500 ล้านบาทต่อด้วย จัดการเลือกตั้งส.ว.เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2557ใช้งบ 2,000 ล้านบาท และจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ2560 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม2559 ใช้งบ 2,991 ล้านบาทโดยผลการออกเสียงประชามติพบว่ามีผู้มาใช้สิทธิ 59.40%หรือ 29,740,677 คน จากผู้มีสิทธิประมาณ 55 ล้านคนด้านแผนงานอนาคตที่กกต.เตรียมไว้นั้น ได้พัฒนาด้านการสืบสวนสอบสวน ให้มีคุณภาพ เตรียมปรับโครงสร้างการทำงานของ กกต. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาทิ การพัฒนาและขยายเครือข่าย ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) เร่งพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีคุณภาพ การจัดกิจกรรมรณรงค์หมู่บ้านไม่ขายเสียง และการจัดทำระเบียบและคู่มือการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ตลอดจนการจัดอบรมหลักสูตรวิชาชีพพนักงานสืบสวนสอบสวนและประมวลจริยธรรม และในด้านการสร้างเครือข่ายการข่าว จะดำเนินการอบรมผู้ประสานงานข่าวระดับจังหวัดต่อเนื่อง

[caption id="attachment_161723" align="aligncenter" width="323"] สาระสำคัญ‘พรบ.กกต.’ ล้มกกต.จังหวัด-ชูผู้ตรวจฯ สาระสำคัญ‘พรบ.กกต.’ ล้มกกต.จังหวัด-ชูผู้ตรวจฯ[/caption]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,270 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560