น้ำมะพร้าวไทยบูม เล็ง5ปีส่งออก5,000ล้าน

17 มิ.ย. 2560 | 04:00 น.
ในสินค้าอาหารสำเร็จรูป 6กลุ่มที่ส่งออกโดยสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเกือบ 200 บริษัท ประกอบด้วย กลุ่มทูน่า กลุ่มอาหารทะเลกลุ่มสับปะรด กลุ่มข้าวโพดหวานกลุ่มผักและผลไม้ และกลุ่มอาหารพร้อมทาน ที่ส่งออกนำรายได้เข้ารวมกันกว่า 1.99 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา และช่วง4 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 6.27 หมื่นล้านบาทนั้น สินค้านํ้ามะพร้าวซึ่งอยู่ในกลุ่มผักและผลไม้ถือเป็นสินค้าที่เทรนด์กำลังมาแรงสุดๆ

++ตลาดนํ้ามะพร้าวโลกฮิต
“วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปให้ข้อมูลในการให้สัมภาษณ์กับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ส่งออกหลักของไทยนอกจากกะทิสำเร็จรูป ที่ส่งออกในปี 2559 ปริมาณ 2.01 แสนตัน มูลค่า 1.09 หมื่นล้านบาทและช่วง 4 เดือนแรกปี 2560 ที่7.06 หมื่นตัน มูลค่า 3,800 ล้านบาท รวมถึงนํ้ามันมะพร้าว(ทุกชนิด)ปี 2559 ที่ส่งออก 1,235ตัน มูลค่า 351 ล้านบาท และช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ส่งออก 450ตัน มูลค่า 138 ล้านบาทแล้วสินค้าตัวใหม่ที่กำลังบูมในตลาดต่างประเทศคือ “นํ้ามะพร้าว”ทั้งที่บรรจุกล่องยูเอชที หรือกล่องกระดาษที่มีการออกแบบที่สวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตรงใจผู้บริโภคยุคใหม่

[caption id="attachment_161658" align="aligncenter" width="503"] วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา[/caption]

สำหรับนํ้ามะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมีสรรพคุณในการบำรุงร่างกายหลายด้านโดยในทางอายุรเวช นํ้ามะพร้าวถือเป็นนํ้าบริสุทธิ์ที่ช่วยในการรักษาและมีคุณสมบัติเป็นธาตุเย็น ช่วยล้างพิษ ดูดซับและขับของเสียออกจากร่างกาย ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ให้แร่ธาตุกับร่างกายอย่างครบถ้วน และสามารถบำรุงร่างกายได้เป็นอย่างดี โดยนักกีฬาสามารถดื่มนํ้ามะพร้าวแทนเครื่องดื่มเกลือแร่เพราะมีแร่ธาตุหลายชนิดที่จำเป็นกับนักกีฬาที่สูญเสียเหงื่อได้อีกด้วย

++โปรโมตผ่านลิเวอรพูล
“ขณะนี้ทีมฟุตบอลหลายทีมในอังกฤษใช้นํ้ามะพร้าวเป็นเครื่องดื่มนักกีฬา เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยโปรโมตนํ้ามะพร้าวไทยล่าสุดในปี 2559 บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าวฯ เจ้าของกะทิสำเร็จรูปและนํ้ามะพร้าวแบรนด์ชาวเกาะได้เซ็นสัญญาในการเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลในอังกฤษเป็นเวลา 3ปี ด้วยการใช้ภาพนักฟุตบอลของสโมสรบนบรรจุภัณฑ์นํ้ามะพร้าวชาวเกาะทั้ง 3 รูปแบบได้แก่ แบบกล่องยูเอชที แบบขวดพลาสติก และแบบกระป๋องจากสโมสรลิเวอร์พูลเป็นสโมสรเก่าแก่และมีแฟนคลับมากที่สดุในโลก และยังเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับนํ้ามะพร้าวด้วยว่าเป็นเครื่องดื่มทดแทนเครื่องดื่มเกลือแร่ให้กับนักกีฬาได้อีกด้วย”“วิศิษฐ์” กล่าวอีกว่า จากนํ้ามะพร้าวที่กำลังฮอต ส่งผลให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์มะพร้าวเกือบทุกแบรนด์ที่ทำตลาดเครื่องดื่มในไทย ต่างออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นนํ้ามะพร้าวเพื่อทำตลาดทั้งในและต่างประเทศแทบทั้งสิ้นส่งผลให้การส่งออกนํ้ามะพร้าวของไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากมูลค่าปี 2558อยู่ที่ 1,800 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาทในปี 2559 และในอีก 5 ปีข้างหน้าคาดจะมีอัตราการเติบโต 40-50% ต่อปี และจะมีมูลค่าการส่งออกถึง 5,000 ล้านบาท

++แบรนด์ดังไทยลุยสหรัฐฯ
สำหรับตลาดส่งออกนํ้ามะพร้าวของไทยปัจจุบันมี 2 ตลาดใหญ่คือสหรัฐอเมริกา และจีนโดยในสหรัฐฯนอกจากผู้บริโภคชื่นชอบและนิยมอาหารไทยติด1 ใน 3 ของอาหารต่างชาติแล้วนํ้ามะพร้าวบรรจุกล่องเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้(จากรายงานของ “Global coconut water Market 257-2562) โดยสินค้านํ้ามะพร้าวจากไทยส่วนใหญ่จะผลิตสินค้าเป็น coconut juice ซึ่งการเรียกผลิตภัณฑ์สินค้าว่าเป็น “juice” เพื่อทำให้เกิดความแตกต่างและหลุดออกไปจากกระแสความนิยม “coconut water” ในตลาดสหรัฐฯโดยนํ้ามะพร้าวของไทยที่ทำตลาดในสหรัฐฯ เช่น ยี่ห้อ FOCO, Parrot Brand, AC, Sunlee, Taste Nirvana, Chao Koh, Green Fresh, ASEAN Shef และ Ice Cool เป็นต้น

ส่วนตลาดจีนปัจจุบันนํ้ามะพร้าวที่จำหน่ายในตลาดจีนมีมากกว่า 30 ชนิดราว 20 ยี่ห้อซึ่งจากประเภทสินค้ามีจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าตลาดจีนมีความต้องการนํ้ามะพร้าวปริมามาก อย่างไรก็ตามในจำนวน 30ชนิดดังกล่าว มีนํ้ามะพร้าวที่ผลิตในจีนสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้นส่วนที่เหลือจะนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อสนองความต้องการของตลาด โดยนำเข้าจากไทยมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

++อุปสรรควัตถุดิบไม่พอ
อย่างไรก็ดีการทำตลาดผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยยังมีอุปสรรคเรื่องวัตถุดิบในการแปรรูปมีไม่เพียงพอ จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) พบว่า เนื้อที่ให้ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ของมะพร้าวไทยมีแนวโน้มลดลงโดยในปี 2559 ผลผลิตทั้งประเทศมีปริมาณ 8.57 แสนตัน ลดลงจากปี 2558 ซึ่งมีผลผลิต 9.04 แสนตัน หรือลดลง 5.% และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สศก.คาดการณ์ในปี 2560จะมีเนื้อที่ให้ผล 1.16 ล้านไร่ผลผลิต 8.80 แสนตัน

ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทำให้ผลผลิตมะพร้าวในไทยลดลงในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ พื้นที่ปลูกมะพร้าวส่วนใหญ่มีสภาพเป็นสวนเก่า ต้นมะพร้าวมีอายุมาก และขาดการบำรุงรักษา รวมถึงมีแมลงศัตรูมะพร้าวระบาดเช่น แมลงดำหนาม หนอนหัวดำเข้าทำลายต้นมะพร้าว จากสภาพอากาศมีความแปรปรวนทั้งภัยแล้ง และนํ้าท่วมในบางพื้นที่และจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ราคาดีกว่าแทนส่งผลให้มีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเข้ามา โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในปี 2559 การนำเข้ามะพร้าวทุกประเภทของไทย 1.81 แสนตัน มูลค่า 2,465 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,270 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560