ขายเอ็นพีแอล ทางเลือกสุดท้าย SCB

14 มิ.ย. 2560 | 07:00 น.
ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังรั้งตำแหน่ง TOP PICK ของกลุ่มธนาคาร ด้วยผลกำไรติดชาร์ตมาอย่างต่อเนื่อง หลังผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2560 ประกาศกำไร 1.19 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้กำไรสุทธิลดลง 804 ล้านบาทหรือลดลง 6.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2559 เนื่องจากตั้งสำรองหนี้สูญ 5,010 ล้ านบาท

ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามงบการเงินรวมมีจำนวน 7.95 หมื่นล้านบาทสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 133.4% เฉพาะงบการเงินของธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพก่อนหักเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ(Gross NPLs)จำนวน 5.86 หมื่นล้านบาท

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สัญญาณการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของเอ็นพีแอลขึ้นอยู่กับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวมากนัก

โดยการฟื้นตัวจะมีช่วงเวลา คือ เศรษฐกิจอาจเริ่มฟื้นแล้ว แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ฟื้นตัวว่าจะเร็วหรือแรงแค่ไหน หากระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่แรง ส่วนตัวยังมองการเพิ่มหรือลดลงของหนี้เอ็นพีแอลไม่น่าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างถล่มทลายแต่น่าจะอยู่ในระดับประคองตัว

“ในความคิดของผมเอ็นพีแอลมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ในแง่ของการบริหารแบงก์นั้น เมื่อปล่อยสินเชื่อแล้วเกิดเอ็นพีแอลก็ต้องกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือกันสำรองให้เต็มจำนวน ส่วนการบริหารเอ็นพีแอลมักเกิดกับสินเชื่อธุรกิจส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นหลักของการทำธุรกิจทุกแบงก์ ส่วนใครจะเข้มมากน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละแบงก์”

สำหรับไทยพาณิชย์ กลุ่มสินเชื่อธุรกิจธนาคารไม่ปล่อยให้เอ็นพีแอลง่ายๆ ส่วนใหญ่จะพิจารณาถึงโอกาสที่จะฟื้นตัวธุรกิจของลูกค้า ถ้าพบว่าพอมีหวังหรือมีโอกาสในฐานะผู้บริหารก็ต้องบริหารจัดการตั้งแต่สอบถามโดยตรงกับลูกค้าหาทางปรับโครงสร้างหนี้เพื่อที่จะให้ลูกค้าสามารถฟื้นขึ้นมาได้

MP27-3269-1A ด้านสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ธนาคารจะดูความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของลูกค้า หากลูกค้าไปต่อไม่ไหวจะต้องกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เพราะเป็นกันชนส่วนสำคัญที่จะสร้างภูมิคุ้มกันสถานะธนาคาร

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแล้วต้องประคองฐานะลูกค้าได้โดยที่ธนาคารต้องไม่เสียหาย หากเป็นลักษณะนี้ธนาคารก็พร้อมจะสนับสนุนซึ่งกันและกันต่อไป ยกเว้นในรายที่ดูแล้วคุณภาพหนี้ด้อยลงด้อยลง หากถือไว้ต่อไปอาจได้ไม่คุ้มเสีย

“โดยเฉพาะกรณีเอ็นพีแอลที่ตกผลึกหรือยากต่อการฟื้นตัว จำเป็นที่ธนาคารต้องทยอยขายออก ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เช่นที่ผ่านมามีการทยอยขายเอ็นพีแอลคลีนโลนออกไปบ้าง แต่ไม่ใช่เป็นการตั้งเป้าจะขายหนี้เอ็นพีแอล จำนวนเท่านั้น เท่านี้ในแต่ละปี”

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจาก GrossNPLs จำนวน 5.86หมื่นล้านบาทเฉพาะไตรมาสแรกปีนี้พบว่ามีเอ็นพีแอลเกิดใหม่ 9,100 ล้านบาทลดลงจากไตรมาส 4/2559 มีจำนวน 11,200 ล้านบาทและช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 8,600 ล้านบาท

MP28-3269-1A ธนาคารไทยพาณิชย์ แบ่งเอ็นพีแอลออกเป็นประเภทธุรกิจขนาดใหญ่ 3.4% จากพอร์ตมีจำนวน 7.25 แสนล้านบาท ธุรกิจเอสเอ็มอี 5% จากพอร์ตจำนวน 3.6 แสนล้านบาท และลูกค้าบุคคล 1.8% จากพอร์ต 8.66 แสนล้านบาท(เป็นสินเชื่อเคหะและเช่าซื้อในสัดส่วนเท่ากันที่ 1.9% โดยพอร์ตเคหะอยู่ที่ 6.08 แสนล้านบาท และเช่าซื้อทั้งพอร์ต 1.71 แสนล้านบาท)

ส่วนการบริหารเอ็นพีแอล ธนาคารไทยพาณิชย์ดำเนินการหลายวิธี ทั้งการขายหนี้ ,การชำระหนี้ การประมูล และยึดทรัพย์ โดยการขายเอ็นพีแอล เทียบจาก3ไตรมาสก่อนหน้า มีการขายในไตรมาส1ปีนี้ จำนวน 4,000 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 39.4% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่จำนวน 1,800 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 11.6% และไตรมาส 4 ปี 2559 ขายอยู่ที่ 4,400 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23.9%

อย่างไรก็ตามที่เหลือเป็นการชำระหนี้ การประมูล และยึด 39% จาก 20.3% และ 40.7% สำหรับการตัดหนี้สูญ 16.9% จาก 15.5% และ 12.2% ขณะการปรับโครงสร้างหนี้ 4.7%จาก 40.3% และ 35.5%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,269 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560