TABBA ขอความชัดเจนภาระภาษี พ.ร.บ.สรรพสามิตใหม่

11 มิ.ย. 2560 | 04:30 น.
หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2560 ได้มีการลงราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้อีก 180 วัน โดยมีการเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บจากการใช้ฐานหน้าโรงงาน หรือสำแดงนำเข้า มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ทำให้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น อีกทั้งยังมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ตัวกฎหมายมีความทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์การค้าโลก และให้มีความชัดเจนตามมาตรฐานสากล ซึ่งนัยยะสำคัญของการเปลี่ยนแปลงกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้อยู่ที่ปริมาณการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่หากหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีในอนาคต

"โจทย์หลักของการทำงานคือ ทำอย่างไรช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่นี้ ไม่ให้กระทบประชาชนมากที่สุด แน่นอนว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแบบเฉียบพลันแต่เป็นการทยอยปรับเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และยืนยันว่าภาระภาษีของผู้ประกอบการจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้อยู่ที่รายได้ แต่อยู่ที่การเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บได้มากขึ้นเองในอนาคต " นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความมั่นใจการจัดเก็บภาษีใหม่ไม่กระทบประชาชน
ไม่เพียงแต่เรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเท่านั้น หากแต่ในอนาคตแสตมป์ของสินค้าประเภทสุรา ยาสูบ ก็กำลังอยู่ในช่วงพิจารณาเป็นแสตมป์รูปแบบใหม่ที่ทันสมัยกว่าเดิม โดยเป็นรูปแบบของสติ๊กเกอร์ เบื้องต้นปัจจุบันกำลังพิจารณาขั้นตอนดังกล่าวอยู่

[caption id="attachment_87994" align="aligncenter" width="335"] ธนากร คุปตจิตต์ ประธานสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ธนากร คุปตจิตต์
ประธานสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย[/caption]

++ผู้ประกอบการขอความชัดเจนภาระภาษี
นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกฮอล์ไทย หรือ TABBA กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีจตามปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ จะช่วยลดปัญหาเรื่องการบริโภคแอลกอฮอล์ที่ก่อให้เกิดอันตราย และป้องกันการเลี่ยงภาษี ขณะเดียวกันการปรับโครงสร้างการจัดเก็บรูปแบบใหม่นั้นจะเป็นหลักสากลสอดคล้องกับแนวทางของ องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะไม่ก่อภาระให้แก่ผู้ประกอบการและช่วยส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจ การค้า การลงทุน ตลอดจนการท่องเที่ยว แต่ยังมีข้อกังวลเรื่อง "โครงสร้างราคา" อยู่บ้างตรงนี้ต้องมีการดูอัตราภาษีสรรพสามิตเข้ามาประกอบว่าบทบาทการจัดเก็บคืออะไร เพื่อไมให้ส่งผลระทบต่อประชาชนที่เกี่ยวโยงกับการจัดเก็บทางอ้อม
"ต้องยอมรับว่าในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีการปรับเปลี่ยนภาษีสรรพสามิตบ้างเล็กน้อยทุกช่วง 2-3 ปีอยู่แล้ว แต่เป็นการปรับขึ้นตลอด"

ด้านนายวิชัย กัลยาณเมธี ผู้แทนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ในส่วนของภาคธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์นั้น มีเพียงข้อเสนอแนะในเรื่องของภาษีน้ำหวานหรือการจัดเก็บภาษีน้ำตาลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในอนาคตเท่านั้น ว่าจะมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนอย่างไร กลุ่มสินค้าอื่นๆ เช่นพืชผักผลไม้ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตจะต้องมีการจัดเก็บภาษีหรือไม่อย่างไร จึงอยากให้มีการประกาศล่วงหน้าเพื่อให้ทางผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อม อีกทั้งยังเป็นการแสดงความชัดเจนให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อมอีกด้วย

++ธุรกิจเบียร์ห่วงอัตราจัดเก็บภาษีเบียร์สด
นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบียร์ไฮเนเก้น หนึ่งในผู้เข้าร่วมสัมมนา กล่าวว่า มองว่าวิธีการจัดเก็บอัตราภาษีแบบใหม่จะสร้างความเป็นธรรมทางการแข็งขันมากยิ่งขึ้น ซึ่งการคิดอัตราภาษีตามราคาขายปลีกแนะนำส่วนใหญ่ก็จะมีการคิดอัตราการคำนวณภาษีตามร้านค้าทั่วไปอย่างโมเดิร์นเทรดแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มสินค้าที่ไม่มีวางขายในโมเดิร์นเทรดทั่วไปอย่างสุรานำเข้าหลายๆอย่าง จะมีวิธีการคิดอย่างไร ซึ่งถ้าเป็นสุราที่ผลิตในประเทศไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นกลุ่มนำนั้นจะมีวิธีการคิดอย่างไร และอีกกลุ่มคือกลุ่มเบียร์สด จะมีวิธีคิดอย่างไร เพราะเบียร์สดเป็นสินค้าที่มีการบริการบวกเข้าไปด้วยซึ่งแต่ละที่ขายไม่เท่าขึ้น ไมได้มาในรูปแบบกระป๋อง ขวด ที่ถ้าอยู่ในโมเดิร์นเทรดจะไม่มีค่าบริการคือสามารถคิดราคาขายปลีกแนะนำได้ แต่กลุ่มเบียร์สดอยู่แต่ในร้านอาหาร ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องคำนวณอย่างไร ซึ่งทางกรมสรรพสามิตก็ต้องวางแนวทางที่ชัดเจนออกมาเพื่อกำหนดตรงนี้

[caption id="attachment_160297" align="aligncenter" width="503"] TABBA ขอความชัดเจนภาระภาษี พ.ร.บ.สรรพสามิตใหม่ TABBA ขอความชัดเจนภาระภาษี พ.ร.บ.สรรพสามิตใหม่[/caption]

อย่างไรก็ตามสำหรับการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต ฉบับใหม่นี้นอกจากจะการเปลี่ยนฐานราคาจัดเก็บ จากราคาหน้าโรงงาน หรือราคาสำเเดงนำเข้ามาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ พร้อมกำหนดอัตราภาษีที่เก็บใหม่ทุกรายการ ซึ่งจะนำไปสู่ความสำคัญจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยในปี 2549 กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ 2.74 แสนล้านบาท และล่าสุดในปี 2560 กรมสรรพสามิตจัดเก็บเพิ่มขึ้น 5.1 แสนล้านบาท หรือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 70-80% โดยในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของสภานิติบัญญัติ (สนช.) มีเป้าหมายจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในสิ้นปีนี้เพิ่มขึ้นที่ 5.5 แสนล้านบาท และเพิ่มเป็น 6 แสนล้านบาทในปี 2561

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,269 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560