ลงทุนเอกชนโงหัว ลุ้นส่งออกโต 5 %

12 มิ.ย. 2560 | 09:00 น.
ช่วง 2 ปี ( 2559-2560 )รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการลงทุน หนึ่งในมาตรการจูงใจก็คือ การยกเว้นภาษีโดยให้นิติบุคคลนำรายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สิน มาหักได้ 1.5 เท่า (จากเดิม 2 เท่าปี2559 ) ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการสิ้นปีนี้ โดยหวังจะเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทย ด้วยขนาดมูลค่าลงทุนภาคเอกชนต่อสัดส่วนจีดีพีสูงถึง 18 -20% บวกกับกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนสัดส่วนต่อจีดีพีกว่า 50 % ในสถานการณ์ที่ส่งออกดีขึ้น จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโต 3.5-4.0%

*หดต่อเนื่อง3ไตรมาส
สถานการณ์การลงทุนเอกชน อยู่ในสภาวะขาลงมาหลายปีแล้ว นับจากขยายตัว 2 หลัก ในปี 2555 ที่ 14.4 % แต่หลังจากนั้นก็หดตัวมาโดยตลอด ก่อนขยับเล็กน้อยเมื่อปีที่แล้ว 0.4% แม้รัฐบาลออกมาตรการอุดหนุนออกมาชุดใหญ่โดยเฉพาะภาษีแล้วก็ตาม สถิติเทียบรายไตรมาสจากครึ่งหลังปีที่แล้ว การลงทุนยังหดตัวต่อเนื่อง ( Q3/59 ลบ 0.8%, Q4/59 ลบ0.4% ) โดยในไตรมาส 1/2560 ที่เพิ่งผ่านมา หดตัว 1.1% เช่นเดียวกับเดือนเมษายนที่อยู่ในภาวะชะลอ โดยเฉพาะในหมวดเครื่องจักรอุปกรณ์ และการลงทุนในภาคก่อสร้าง ยกเว้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และธุรกิจปิโตรเลียมที่ขยายตัว

วิเคราะห์จาก อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utillization) ข้อมูล สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เพื่อชี้ระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมว่า ใช้กำลังการผลิตใกล้เต็มที่ ( ระดับ 80 % ขึ้น ) เพื่อจะสะท้อนธุรกิจจะลงทุนเพิ่มหรือยัง ในภาพรวมเดือนเมษายน การใช้กำลังการผลิตยังอยู่ที่ 60.1% เทียบกับ 59.9% เมื่อสิ้นปีที่แล้ว และแยกตามหมวดการผลิต น้ำหนักถ่วงสูงสุด 8 อันดับแรก “ฐานเศรษฐกิจ” อัตราใช้กำลังการผลิตยังไม่ได้ปรับฤดูกาล ยังอยู่ระดับต่ำ (ดูตารางประกอบ ) ส่วนหมวดที่การใช้การผลิตเกิน 75 % อาทิผลิตภัณฑ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง การผลิตชิ้นส่วน,ส่วนประกอบยานยาน , ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปิโตรเลียม ,การผลิตปูนซิเมนต์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น

[caption id="attachment_160178" align="aligncenter" width="349"] ลงทุนเอกชนโงหัว ลุ้นส่งออกโต 5 % ลงทุนเอกชนโงหัว ลุ้นส่งออกโต 5 %[/caption]

*มูลเหตุส่งออกติดลบ
ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง (สศช.) ให้ความเห็นกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ในเรื่องนี้ ว่า การลงทุนภาคเอกชน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจปีนี้ เป็นผลจากปริมาณส่งออกในช่วง 3 ปี ( 2556-2559 )หดตัวเฉลี่ย 0.9 % ทำให้การใช้กำลังการผลิตยังต่ำและเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการลงทุน และคาดทั้งปี การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 2 %

[caption id="attachment_160177" align="aligncenter" width="503"] ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง (สศช.) ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง (สศช.)[/caption]

ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์มีมุมมองไม่ต่างกัน อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยเวลานี้ คือลงทุนภาคเอกชนไม่ขยับ ตัวเลขเดือนมีนาคม –เมษายนนี้ก็ยังติดลบ

“ มาตรการที่จะเสริมกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ต้องไม่ใช้มาตรการเดิม ๆเรื่องภาษี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้เอกชนเชื่อมั่น แผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 , การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือการเร่งผลักดันอีซีซี ที่ผ่านมาแม้รัฐจะลงมือทำจริงแต่ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ดี จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นหนุนส่งออกไทย ก็น่าจะจูงใจให้ภาคเอกชนขยับเพิ่มลงทุนบ้างในครึ่งปีหลัง”

ส่วนเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้ เหตุที่การลงทุนภาคเอกชนไม่ฟื้นตัวว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การผลิตส่วนเกินยังเหลืออีกมา เขาชี้ว่าแม้การส่งออกไทย 4 เดือนจะโต 5.7 % แต่มาจากการเพิ่มของราคาเป็นหลัก ไม่ใช่จากด้านปริมาณ จึงไม่ช่วยให้ต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อขยายการผลิตเพิ่ม

[caption id="attachment_160176" align="aligncenter" width="503"] เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด[/caption]

เชาว์เชื่อว่า ที่ผ่านมารัฐได้ดำเนินการผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากแล้ว เทียบกับฐานที่ใหญ่จึงขยายตัวช้า ส่วนความหวังกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ อีซีซี มูลค่าลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท (พ.ศ. 2560-2569 ) ก็ยังติดขัดเรื่องกฎหมาย โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกา ก่อนที่จะส่งกลับมายังครม.และเข้าสู่การพิจารณาของสนช. เพื่อประกาศใช้เป็นกฏหมายคาดเป็นไตรมาส 4 ปีนี้ ทำให้ภาคเอกชนรอดูความชัดเจน

“หากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ปริมาณส่งออกขยับตาม ไตรมาส 2-3 ยอดสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม (ออเดอร์ ) ก็น่าจะกระตุ้นให้การลงทุนกระเตื้องขึ้นในช่วงท้ายปี”เขาสรุปอย่างมีความหวัง

*สศช.เชื่อแนวโน้มบวก
ด้าน วิชญายุทธ บุญชิต ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ที่ผ่านมาการลงทุนของภาคเอกชนส่วนใหญ่จะลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก แต่เพราะส่งออกไทยหดตัวมาต่อเนื่อง ทำให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกยังมีกำลังการผลิตส่วนเกิน แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังจะเห็นการลงทุนเริ่มขยับขึ้น ตามการฟื้นตัวของภาคส่งออก จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นชัดเจน และกำลังซื้อในประเทศ

แม้สถานการณ์มีข้อจำกัดพอสมควร แต่ วิชญายุทธ ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนในช่วงถัดไป
“ ที่ผ่านมาส่งออกไทยลงลึกถึง 3 ปีซ้อน จะให้ผลิตไปขายใคร ต้องรอสักระยะหนึ่งให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปก่อน แม้ว่า 4 เดือนแรก ส่งออกจะเพิ่มขึ้น 3,946 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯหรือโต 5.7 % ก็ตาม ซึ่งก็เริ่มเห็นการใช้กำลังการผลิตในบางภาคอุตสาหกรรม ขยับเกินระดับ 70 % เช่นในกลุ่มยานยนต์ การผลิตมอเตอร์ไซต์เพื่อส่งออกขายในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ) และหากการใช้กำลังการผลิตเกิน 75 % แน่นอนว่าเอกชนต้องลงทุน “ เขาย้ำ

นอกจากนี้ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในครึ่งปีหลัง คือโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อาทิ โครงการภายใต้แผนปฏิบัติด้านคมนาคมขนส่งปี 2560 จำนวน 36 โครงการ มูลค่า 8.96 แสนล้านบาท ที่จะเริ่มก่อสร้างในปีนี้ การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ และการดำเนินโครงการ PPP ที่มีภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับการลงทุน การเพิ่มของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงที่เหลือ เป็นต้น

ทั้งนี้เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สศช.ได้คงเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 3.5 % (กรอบ 3.3-3.8 % ) โดยได้หั่นเป้าลงทุนรวมลงโตที่ 4.4% จากคาดการเดิมเดือนกุมภาพันธ์ที่ 5.3% เป็นการลงทุนภาคเอกชน และภาครัฐ ขยายตัวที่ 2.0% และ 12.6 % ตามลำดับ จากเดิมที่ 2.5 % และ 14.4 % ตามลำดับ

เป็นมุมมองที่ยืนบนการคาดการณ์ ของ กระทรวงพาณิชย์ ที่ประเมินว่า ส่งออกปีนี้จะขยายตัว 5 % หากเป็นไปตามนั้น จะ เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่จะได้เห็นเอกชนขยับลงทุนอย่างจริงจัง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,269 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560