ยกเลิกใช้กฏหมาย 4 ฉบับ เหตุล้าสมัย

09 มิ.ย. 2560 | 07:40 น.
ยกเลิก 4 กฎหมาย ล้าสมัย ยุค "จอมพล ป.-จอมพลถนอม-พล.อ.เกรียงศักดิ์-พล.อ.เปรม" ประกาศใช้ พระราชบัญญัติ ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น “กม.ปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2483 -กม.ควบคุมแร่ดีบุก ปี 2514-กม.การประกอบอาชีพงานก่อสร้าง ปี 2522 และ กม.การประกอบอาชีพงานก่อสร้าง (ฉบับที่ 2) ปี 2524”

วันนี้( 9 มิ.ย.) มีรายงานว่าภายหลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 จำนวน 3 มาตรา โดยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา มีใจความ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น เป็นการเพิ่มเติม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ผู้รับสนองพระราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สำหรับกฎหมายที่ถูกยกเลิก ตามพระราชบัญญัติ ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ประกอบด้วย

1. พระราชบัญญัติปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง พุทธศักราช 2483 ซึ่งตราขึ้นในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480) นายอาทิตย์ ทิพอาภา พล.อ.พิชเยนทร โยธิน ตราไว้ ณ วันที่ 17 กันยายน พุทธศักราช 2483 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยกฎหมายฉบับนี้ ตราขึ้นเพื่อไว้สำหรับปันส่วนน้ำมัน เชื้อเพลิง เพื่อจะได้มีน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ตามความจำเป็นโดยทั่วกัน ซึ่งมีทั้งหมด 26 มาตรา และผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล.ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น โดยให้แต่งตั้ง คณะกรรมการกลางปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเป็นประธาน ผู้แทนกรมเชื้อเพลิงเป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนกองทัพเรือ ผู้แทนกองทัพอากาศ องค์การละ 1 นายเป็น กรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสามนาย อำนาจหน้าที่ประกาศชนิดของน้ำมันเชื้อ เพลิงที่จะให้มีการปันส่วน ทำการสอบสวนเพื่อทราบปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิง ทุกชนิด กำหนดเกณฑ์ปกติและอัตราปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง ควบคุมการซื้อการขาย รวมตลอดทั้งวางระเบียบการอนุญาตให้ซื้อและให้ขาย โดยมีคณะกรมการจังหวัด และคณะกรมการอำเภอเป็นคณะกรรมการปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนภูมิภาค

1 โดยมาตรา 8 ระบุว่า เพื่อให้การปันส่วนเป็นไปตามความจำเป็นให้แบ่งประเภท ผู้บริโภคออกเป็นหน่วย เพื่อการกำหนดอัตราปันส่วน ดังต่อไปนี้ ก. หน่วยส่วนกลาง 1. ราชการทหารและองค์การในความควบคุมของราชการทหาร 2. ราชการพลเรือนและองค์การในความควบคุมของราชการพลเรือน ข. หน่วยส่วนภูมิภาค 1. องค์การปกครองส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น 2. สาธารณูปโภคของเอกชน 3. อุตสาหกรรมและพาณิชย์กรรมของเอกชน 4. องค์การศึกษา พยาบาล นายแพทย์ สัตวแพทย์ ผู้จำหน่ายอาหาร และทำการผลิตอาหาร 5. ประชาชน ในกรณีที่มีปัญหาว่า ผู้บริโภครายใดพึงเข้าอยู่ในหน่วยใด ให้คณะกรรมการ กลางเป็นผู้วินิจฉัย
“ขณะที่โทษของผู้ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ เช่น ผู้ใดขายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินร้อยบาท หรือจำคุก ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ หรือ ผู้ใดไม่ให้ความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ใน การที่เข้าไปตรวจในสถานที่ของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงตาม มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินร้อยบาท เป็นต้น”

2. “พระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุก พ.ศ.2514” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ ให้ไว้ ณ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2514 กฎหมายฉบับนี้ ตราขึ้นหลังจากยกเลิก พระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุก พุทธศักราช 2479 พระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุก (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2479 และพระราชบัญญัติควบคุมแร่ดีบุก (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2499 และ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี

กำหนดให้ “รมว.พัฒนาการแห่งชาติ และรมว.คลัง”รักษาการในกฎหมาย กำหนดไว้ 3 หมวด 32 มาตรา หมวด 1 ว่าด้วยการทำเหมือง การซื้อแร่ การขายแร่ และ การส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักร ผู้ประกอบกิจการต้องมีใบสุทธิแร่ การกำหนดโควตาต่าง ๆ หมวด 2 ว่าด้วยการส่งแร่เข้ามูลภัณฑ์กันชน อำนาจเก็บแร่หรือเงินเพื่อส่งเข้ามูลภัณฑ์กันชนระหว่างประเทศ หมวด 3 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ เช่น มาตรา 29 ผู้ทำเหมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ในใบสุทธิแร่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับ ไม่เกินสี่เท่า ของราคาแร่ในวันกระทำ ความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือจะริบแร่ที่มีอยู่โดยการกระทำ ความผิดตามมาตรานี้เสียก็ได้ มาตรา 30 ผู้ซื้อแร่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 19 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท เป็นต้น

3.“พระราชบัญญัติการประกอบอาชีพงานก่อสร้าง พ.ศ.2522” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราช โองการโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 มีจำนวน 5 หมวด 34 มาตรา ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการกฎหมาย และ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายสมภพ โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
ในกฎหมายให้จัดตั้งสถาบันขึ้นสถาบันหนึ่งเรียกว่า "สถาบันผู้รับงานก่อสร้าง" มีอำนาจควบคุมสอดส่องดูแลความประพฤติและมรรยาทของผู้รับงาน ก่อสร้าง ส่งเสริมการรับงานก่อสร้าง รักษาผลประโยชน์ของผู้รับงานก่อสร้าง และเผยแพร่และให้การศึกษาเกี่ยวกับงานก่อสร้าง มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง" หรือ “ก.ก.ส." ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมทางหลวง อธิบดีกรมโยธาธิการ ฯลฯ เป็นกรรมการ ตั้งให้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็น “นายกสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง” ขณะที่ มาตรา 26 ระบุว่า ผู้รับงานก่อสร้างซึ่งประสงค์จะเป็นผู้รับงานก่อสร้าง ควบคุมต้องจดทะเบียนเป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุมจาก ก.ก.ส. ต้องเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด นอกจากนั้นในหมวด 3 ยังมีการระบุถึง “มรรยาทในการประกอบอาชีพงานก่อสร้าง”ด้วย ส่วนหมวด 4 ว่าด้วยการ “เพิกถอนการจดทะเบียน”ผู้รับงานก่อสร้างที่ขาดคุณสมบัติและฝ่าฝืน รวมถึงปฏิเสธการรับจดทะเบียน

3 “ทั้งนี้เหตุผลของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อปี 2522 ระบุว่า เนื่องจาก ประเทศไทยอยู่ในระหว่างระยะการพัฒนาประเทศ กิจการก่อสร้างต่าง ๆ จึงมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วตามความต้องการทั้งของทางราชการและทาง ธุรกิจเอกชน การก่อสร้างในปีหนึ่ง ๆ คิดเป็นเงินมีมูลค่าถึงหลายพันล้านบาท และโดยเฉพาะงานก่อสร้างขนาดใหญ่เป็นกิจการที่ต้องใช้ความระมัดระวัง อย่างสูง และต้องใช้วิทยาการแผนใหม่หลายอย่างประกอบกัน แต่ในปัจจุบัน การควบคุมการรับงานก่อสร้างยังไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะ กรณีอาจทำให้เกิด อันตรายและเกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจและสังคมได้ เพราะเหตุจากการ ก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนั้นผู้รับงานก่อสร้างของไทยหลายราย มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะไปรับจ้างทำงานในต่างประเทศ อันจะเป็น ทางหารายได้เข้าประเทศอย่างหนึ่ง สมควรมีการส่งเสริมและควบคุมการ รับงานก่อสร้างให้มีมาตรฐานสูงเทียบเท่ามาตรฐานสากลเป็นไปโดยเหมาะสม แต่การจะควบคุมการก่อสร้างชนิดและประเภทใดบ้างนั้น รัฐบาลจะได้กำหนด โดยพระราชกฤษฎีกาตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยจะไม่กระทบกระเทือน ถึงผู้รับงานก่อสร้างขนาดย่อม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น”

4.“พระราชบัญญัติการประกอบอาชีพงานก่อสร้าง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2524” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ ณ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2524 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2523 โดยประเด็นที่น่าสนใจ คือ การเปลี่ยนแปลง คณะกรรมการสถาบันผู้รับงานก่อสร้าง" หรือ ก.ก.ส.

2
“เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ สมควรขยายเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการดังกล่าวออกไปอีกสามปี อีกประเด็นหนึ่ง เนื่องจากมาตรา 43 ได้ห้ามมิให้ผู้รับงานก่อสร้างรับงานก่อสร้างควบคุมตั้งแต่วันถัดจากวันที่กฎกระทรวงออกตามมาตรา 25 ใช้บังคับ แม้ผู้รับงานก่อสร้างที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 43 ก็จะรับหรือประกอบงานก่อสร้างควบคุมต่อไปได้เพียงถึงวันที่ ก.ก.ส. ปฏิเสธการรับจดทะเบียนหรือตามประเภทและสาขาที่ได้รับจดทะเบียนเท่านั้น เพื่อให้ผู้รับงานก่อสร้างรับหรือประกอบงานก่อสร้างควบคุมต่อไปได้ในขณะที่ยังไม่มีผู้ได้รับจัดทะเบียนเป็นผู้รับงานก่อสร้างควบคุมหรือมีไม่เพียงพอ และป้องกันผลเสียหายอันจะเกิดแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และฝ่ายผู้ว่าจ้าง อย่างกว้างขวางจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น”