กบง.คงราคา LPG เดือนมิถุนายน20.49บาทต่อกก.

08 มิ.ย. 2560 | 04:17 น.
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุม กบง. ซึ่งมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กบง. ได้พิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนมิถุนายน 2560 โดยสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนมิถุนายน 2560 อยู่ที่ 387.50 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนพฤษภาคม 2560 อ่อนค่าลงจากเดือนก่อน 0.0069 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 34.6199 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับตัวลดลง 0.0527 บาท/กก. จาก 15.1018 บาท/กก. เป็น 15.0491 บาท/กก.

แต่เนื่องจากราคามีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ประกอบกับเพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และสำรองไว้ใช้บริหารราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในอนาคต ดังนั้น ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนมิถุนายน 2560 ไว้ที่ 20.49 บาท/กก. โดยปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลง 0.0527 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 1.5996 บาท/กก. เป็นชดเชยที่ 1.5469 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป

ซึ่งผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับและรายจ่ายสุทธิเป็นศูนย์โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2560 อยู่ที่ 39,918 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 6,430 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 33,488 ล้านบาท

LPG1 นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ได้รับทราบรายงานเบื้องต้นผลการจัดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดย สนพ. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ผ่าน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย (1) เว็บไซต์ (www.eppo.go.th และ www.lawamendment.go.th) ระหว่างวันที่ 2 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2560 (2) ไปรษณีย์ ที่อยู่ สนพ. และ อีเมล ([email protected]) ระหว่างวันที่ 2 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2560 และ (3) การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ในวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ณ สโมสรกองทัพบก โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ องค์กรอิสระ และสื่อมวลชน รวม 302 คน ซึ่งสรุปผลในภาพรวมที่ได้จากการรับฟังคิดเห็นพบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ แต่มีบางส่วนที่เห็นต่างในรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งนี้ สนพ. อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และจะมีการเปิดเผยผลสู่สาธารณชนผ่านทางเว็บไซต์ www.eppo.go.th และ www.lawamendment.go.th เพื่อประกอบการจัดทำคำชี้แจงตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ครม. และ สนช. พิจารณาต่อไป

พร้อมรับทราบรายงานความคืบหน้าโครงการนำร่อง (Pilot Project) การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอย่างเสรี โดยข้อมูลสถานะการเชื่อมต่อไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2560 พบว่า มีผู้ที่เข้าร่วมโครงการที่ได้รับใบอนุญาต จำนวน 184 ราย รวมกำลังผลิต 5.67 เมกะวัตต์ โดยสามารถเชื่อมต่อเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าแล้ว 75 ราย กำลังผลิต 3.09 เมกะวัตต์ และยังไม่ได้เชื่อมต่อเข้าระบบไฟฟ้าอีก 109 ราย กำลังผลิต 2.58 เมกะวัตต์ ซึ่งคณะทำงานกำหนดแนวทาง และประสานงาน กำกับติดตามโครงการนำร่องการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี ได้พิจารณาเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าสำหรับโครงการนำร่อง (Pilot Project) จากเดิมภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 เป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ทั้งนี้ หากสิ้นสุดการขยายระยะเวลาการเชื่อมต่อระบบฯ ดังกล่าว ให้การไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อสำนักงาน กกพ. เพื่อยกเลิกใบอนุญาตสำหรับผู้ที่ไม่ได้ดำเนินการ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการศึกษา วิเคราะห์ เพื่อติดตามและประเมินผลโครงการนำร่อง (Pilot Project) โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนนำเสนอรายงานสรุปผลให้ กบง. ทราบต่อไป